ไลฟ์สไตล์

เปิด 10 อันดับสาขาเรียนแล้วรวยที่สุด 'วิศวะ' ครอง 8 อันดับ

24 ก.พ. 66
เปิด 10 อันดับสาขาเรียนแล้วรวยที่สุด 'วิศวะ' ครอง 8 อันดับ

สำหรับเด็กวัยเรียน คำถามยอดฮิตทั้งจากคนอื่น และจากตัวเองคือเรียนต่ออะไรดีจึงจะตอบโจทย์ชีวิต ซึ่งสำหรับคนส่วนมาก โจทย์ชีวิตที่ว่าก็คือเงิน จึงเลือกสาขาวิชาที่ทำเงินมากที่สุดเพื่อประกันว่าเรียนจบไปจะทำรายได้ได้มากพอยกระดับหรือรักษาระดับการใช้ชีวิต

สำหรับคนในไทย สาขาวิชานั้นก็น่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่เรียนจบไปอย่างไรก็มีโอกาสทำรายได้ได้สูงแน่นอน แต่ในสหรัฐฯ สาขาวิชานั้นคือ ‘วิศวกรรมศาสตร์’ ที่สาขาย่อยแทบจะติดทุกอันดับของสาขาวิชาที่บัณฑิตเรียนจบไปแล้วมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับ ตามข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve Bank 

สาขาเรียนแล้วรวยที่สุด

จากวิจัยดังกล่าว สาขาวิชาที่เด็กเรียนจบไปแล้ว 5 ปีมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับ มีดังนี้

  1. วิศวกรรมเคมี 216,231 บาท/เดือน
  2. วิศวกรรมคอมพิวเตอร์   213,317 บาท/เดือน
  3. วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ 210,434 บาท/เดือน
  4. วิศวกรรมการบินและอวกาศ 207,480 บาท/เดือน
  5. วิศวกรรมไฟฟ้า 201,716 บาท/เดือน
  6. วิศวกรรมอุตสาหการ 201,716 บาท/เดือน
  7. วิศวกรรมเครื่องกล 201,716 บาท/เดือน
  8. วิศวกรรมสาขาอื่นๆ 195,981 บาท/เดือน
  9. การวิเคราะห์เชิงลึกทางธุรกิจ 190,190 บาท/เดือน
  10. วิศวกรรมโยธา 187,308 บาท/เดือน

จากรายชื่อดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ใน 10 อันดับ มีเพียง 2 อันดับเท่านั้นที่ไม่ใช่สาขาวิชาย่อยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ นั่นก็คือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science) และ การวิเคราะห์เชิงลึกทางธุรกิจ (ฺbusiness analytics) 

ในไทยเอง บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมที่เรียนจบไปแล้วทำงานตรงสายของตัวเองก็ทำรายได้สูงไม่แพ้กัน(ถ้าเทียบกับระดับเงินเดือนเฉลี่ยในไทย) โดยจากข้อมูลของ Adecco รายได้ของวิศวกรที่มีอายุงาน 3-7 ปี อยู่ในช่วง 18,000-150,000 บาทต่อเดือน โดยวิศวกรที่ได้เงินเดือนสูงสุดคือ วิศวกรซอฟต์แวร์ และวิศวกรข้อมูล ที่มีเงินเดือนอยู่ในช่วง 40,000-150,000 บาทต่อเดือนสำหรับอายุงาน 3-7 ปี

สาขาเรียนแล้วรวยที่สุด



CEO ของบริษัทใหญ่จำนวนมากในโลกจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์

บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ส่วนมากจะจบออกมาทำงานในสาย STEM หรือ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (science, technology, engineering และ mathematics) ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าอาชีพในสายงานอื่นๆ อยู่แล้วเพราะต้องใช้ทักษะเฉพาะขั้นสูง ทำให้คนที่จบจากสาขาวิชาอื่นมาทำงานแทนได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งเป็นผู้มีอิทธิพลในการสร้างวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่เกี่ยวพันกับงานด้านวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม งาน STEM ไม่ใช่สายงานเดียวที่มีบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าไปทำงาน เพราะในปัจจุบันสายงานที่มีบัณฑิตวิศวะดำรงตำแหน่งอยู่มากไม่แพ้กันคือตำแหน่งด้านการบริหาร เช่น ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชน รวมไปถึงผู้บริหารงานราชการ

โดยในรายชื่อ Forbes 400 หรือบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ 400 อันดับ มีถึง 55 คนที่เรียนจบมาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับชั้นปริญญาตรี เป็นรองเพียงคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ที่มีบัณฑิตอยู่ในลิสต์ 65 และ 58 คนตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าสูสีจนน่าแปลกใจหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่จบวิศวะไม่ได้เรียนด้านการบริหาร หรือด้านเศรษฐกิจโดยตรงมา

นอกจากนี้ ในรายชื่อผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 10 อันดับ ในปัจจุบันมีถึง 4 คนที่เป็นผู้จบการศึกษาจากคณะวิศกรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย

  1. ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ (Bernard Arnault) ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เจ้าของและซีอีโอของอาณาจักรแบรนด์เสื้อผ้าและสินค้าหรู LVMH ซึ่งจบจากสถาบันโปลิเทคนิคเอโคล (École polytechnique)
  2. ‘เจฟฟ์ เบซอส’ (Jeff Bezos) ชายที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ของโลก ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ Amazon ซึ่งจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University)
  3. ‘คาร์ลอส สลิม เอลู’ (Carlos Slim Helú) ชายที่ร่ำรวยอันดับที่ 7 ของโลก เจ้าพ่อบริษัทการสื่อสารใหญ่ของเม็กซิโก ซึ่งจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติเม็กซิโก (National Autonomous University of Mexico)
  4. ‘มูเกช อัมบานี’ (Mukesh Ambani) ชายที่ร่ำรวยอันดับที่ 8 ของโลก ซีอีโอของ Reliance Industries บริษัทที่มูลค่าสูงสุดในอินเดีย ซึ่งจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี จากสถาบันเทคโนโลยีเคมีอินเดีย (Institute of Chemical Technology)

และนอกจากกลุ่มคนเหล่านี้ ผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก และซีอีโอคนปัจจุบันของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในโลก เช่น ‘ทิม คุก’ จาก Apple, ‘สัตยา นาเดลลา’ จาก Microsoft และ ‘ซุนดาร์ พิชัย’ จาก Alphabet ล้วนแต่เป็นผู้ที่จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหมด

ในไทยเอง ผู้บริหารระดับสูงที่เรียนจบในระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็อย่างเช่น 

  1. ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ อดีตซีอีโอและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
  2. ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ซีอีโอของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ซึ่งจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทำไมผู้ที่จบที่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเป็น CEO ได้?

นอกจากความรู้ด้านเทคนิคที่ได้ร่ำเรียนมาแล้ว สิ่งที่ให้ผู้ที่จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มีคุณสมบัติเหมาะเป็นผู้บริหารก็คือ soft skills ที่ได้มาจากการเรียนในสาขาวิชานี้ ไม่ว่าเป็นความละเอียดรอบคอบ ใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อย การจัดลำดับความคิดอย่างเป็นระบบระเบียบ และทักษะในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน

โดยหนึ่งในซีอีโอที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกเทคโนโลยีอย่างสัตยา นาเดลลาจาก Microsoft ก็มีชื่อเสียงในด้านวิสัยทัศน์ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความเอาใจใส่ในรายละเอียด โดยในปี 2014 ที่เขาเข้ารับตำแหน่ง Microsoft กลายเป็นบริษัทล้าสมัยทีหลายๆ ผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักมีความนิยมลดลงไปจากการเข้ามาของคู่แข่งอย่าง Google และมีมูลค่าตลาดเพียง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น 

แต่ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี เขาก็สามารถพลิกโฉม ดึง Microsoft ขึ้นมาจากความซบเซาได้ด้วยการเน้นพัฒนาบริการ cloud computing (Azure, Dynamics 365 และ Microsoft 365) ซึ่งในปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักของ Microsoft แทนซอฟต์แวร์ธรรมดา โดยในปัจจุบัน Microsoft มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก Apple และ Saudi Aramco

 

 

ที่มา: CNBC, Forbes (1), Forbes (2), Adecco


advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT