ไลฟ์สไตล์

รู้จัก Bare Minimum Monday เพื่อคนเกลียดวันจันทร์ เริ่มต้นวีคทำงานเบาๆ

1 ก.ค. 67
รู้จัก Bare Minimum Monday เพื่อคนเกลียดวันจันทร์ เริ่มต้นวีคทำงานเบาๆ
ไฮไลท์ Highlight

แนวทาง ‘Bare Minimum Monday’ ทำให้คนทำงานกลับมาประเมินลำดับความสำคัญใหม่ ลดอาการเหนื่อยหน่าย และเพิ่มความพึงพอใจในการเริ่มต้นสัปดาห์การทำงาน

“เห้อ วันจันทร์อีกแล้ว!” “ไม่อยากให้ถึงวันจันทร์เลย” “เกลียดวันจันทร์!!” เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกนี้ก่อนนอนในคืนวันอาทิตย์ ที่ต้องตื่นมาทำงาน เผชิญกับรถติด และกองงานที่ถูกดองในสัปดาห์ก่อน (ผู้เขียนก็เป็นเช่นนั้น) รวมถึงเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นคนที่เกลียดวันจันทร์ไปแล้ว 

เรื่องนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จากผลสำรวจของ LinkedIn ที่พบว่า 75% ของพนักงาน 2,000 คนทำงานในสหรัฐฯ รู้สึกวิตกกังวลในวันอาทิตย์ เมื่อวันเริ่มต้นสัปดาห์การทำงานกำลังจะมาถึง หรือผลโพลของ YouGov ในปี 2021 ที่พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน รู้สึกเกลียดวันจันทร์

โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคโควิด-19 ที่วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มต่อต้านการตื่นมาทำงานเพื่อเริ่มต้นสัปดาห์ หรือบางทีมีความรู้สึกเบิร์นเอ้าท์กับงานและองค์กร จนเกิดการร่วมแนวทาง ‘Bare Minimum Monday’ เน้นทำ(งาน)น้อย เหมือนซ้อมการทำงานในต้นสัปดาห์

ที่มาของแนวคิด Bare Minimum Monday

‘Bare Minimum Monday’ คือ เทรนด์ที่พนักงานทำงานหรือรับผิดชอบจำนวนงานให้น้อยที่สุดในการเริ่มต้นสัปดาห์การทำงานหรือในวันจันทร์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากเทรนด์บน TikTok ที่กล่าวว่า การลดความกดดันในการทำงานในวันจันทร์ สามารถช่วยลดความรู้สึกกังวลเมื่อวันจันทร์จะมาถึง

เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่แสนจะผ่อนคลาย สู่สัปดาห์ของการทำงานที่ยุ่งวุ่นวายสามารถกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘Sunday scaries’ หรือ ‘วันอาทิตย์อันแสนน่ากลัว’

จากผลวิจัยต่างๆ ได้ส่งสัญญาณถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนความกังวลและความเครียด ไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นที่มาของเทรนด์ Bare Minimum Monday ที่ลดความกดดันของร่างกาย ให้คนทำงานได้ลองทำงานแบบที่ตนเองต้องการ ตามความเร็วและประสิทธิภาพที่มีอยู่

ซึ่งเทรนด์นี้ได้เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนทำงานจำนวนมากต้องประเมินบทบาทของงานในชีวิตของตนใหม่ เช่นเดียวกับเทรนด์ ‘Quiet Quitting’ ก่อนหน้านี้ ทำให้เทรนด์ Bare Minimum Monday สนับสนุนให้พนักงานหาเวลาดูแลตัวเองในโลกธุรกิจนายทุน ที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและผลกำไร 

โดย ‘Marisa Jo Mayes’ ครีเอเตอร์บน TikTok เป็นคนริเริ่มต้นเทรนด์ Bare Minimum Monday เพราะเธอเบื่อที่จะรู้สึกเครียดในวันอาทิตย์และรู้สึกล้าหลังพบกับตารางงาน ทันทีที่เธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ และเธอมักรู้สึกผิดและไม่มีประสิทธิภาพเมื่อตื่นมาแล้วไม่สามารถทำงาน หรือภารกิจตามลิสต์ที่สร้างไว้สำเร็จ

“เหตุผลที่ฉันเริ่มเทรนด์นี้ตั้งแต่แรก ก็เพราะฉันกดดันตัวเองมากเกินไป จนทำอะไรไม่ได้เลย และหลังจากลองเทรนด์นี้ ฉันรู้สึกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งฉันเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า นี่คือเหตุผลที่ฉันมักจะทำงานให้เสร็จมากขึ้นในวันจันทร์ เพราะฉันไม่ตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนกำลังขาดดุล” เธอกล่าวบน TikTok

แนวทางของการปฏิบัติ Bare Minimum Monday

โดยทั่วไปแล้ว พนักงานที่เข้าร่วมเทรนด์ Bare Minimum Monday จะเน้นทำงานแบบขั้นต่ำเป็นหลัก เน้นทำน้อย แต่ได้เนื้อความ แต่แนวทางปฏิบัติอีกรูปแบบหนึ่ง คือให้พนักงานมุ่งเน้นไปที่งานที่มีความสร้างสรรค์มากขึ้น

Mayes เผยแนวทางของตนกับ Business Insider ว่า โดยปกติแล้ว เธอจะไม่ดูโทรศัพท์หรืออีเมลในช่วงสองชั่วโมงแรกของวันจันทร์ แล้วใช้เวลานั้น อ่านหนังสือ จดบันทึก หรือทำงานบ้านแทน ซึ่งเธอทำงานเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น โดยใช้เวลาชั่วโมงแรกเน้นไปที่งานที่ใช้ความสร้างสรรค์ และหลังจากพักรับประทานอาหารกลางวัน เธอใช้เวลาสองชั่วโมงโฟกัสกับงานที่เธอเห็นว่าเร่งด่วนหรือสำคัญเท่านั้น

ซึ่งในคืนวันอาทิตย์ Mayes จะตัดสินใจว่า งานไหนที่เธอถือว่าเป็นงานที่ทุ่มแรงน้อยที่สุด จากนั้นเธอก็รับผิดชอบเฉพาะงานเหล่านั้นให้เสร็จสิ้นในวันจันทร์เท่านั้น และเมื่องานเหล่านั้นเสร็จสิ้น เธอก็ยอมให้ตัวเองทำทุกอย่างที่เธอต้องการ ทั้งการทำโปรเจ็กต์ที่สร้างสรรค์ การดูแลตัวเอง หรือถ้าเธอมีแรงอยากทำงาน ก็จะทำงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดตามคนหนึ่งของ Mayes ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการรักษาตารางเวลาที่ผ่อนคลายในการทำงานแบบ 9-5 เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ Mayes อธิบายว่า แนวคิด Bare Minimum Monday ไม่ได้เกี่ยวกับการทำตามตารางเวลาให้เสร็จ แต่เป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดให้เน้นไปที่งานที่สำคัญที่สุดสำหรับวันเฉพาะ

ทั้งนี้ แรงจูงใจหลักในการตอบรับเทรนด์นี้ก็คือ การตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะดำดิ่งสู่วันทำงาน การเริ่มต้นสัปดาห์การทำงานอย่างช้าๆ ช่วยให้มั่นใจได้ว่า ตนเองจะสามารถใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืนตลอดทั้งสัปดาห์ แทนที่จะเริ่มต้นทำงานหนักเกินไปและหมดแรงกลางทาง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสติ การอาบน้ำนานๆ หรือเพียงแค่เพลิดเพลินกับอาหารเช้าแบบสบายๆ แนวทางการดูแลตนเองอย่างตั้งใจนี้ จะสร้างบรรยากาศเชิงบวกสำหรับสัปดาห์การทำงาน

ในยุคที่คนทำงานตระหนักถึงความสมดุลระหว่าง ‘ชีวิต’ และ ‘การทำงาน’

ไม่เพียงเท่านี้ การให้พนักงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเวลาทำงานจะช่วยเพิ่มสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และลดความเสี่ยงของความเหนื่อย จากการศึกษาคนทำงานด้านไอทีในบริษัท Fortune 500 เป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า พนักงานที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น ความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายในวันจันทร์ มีอาการเหนื่อยหน่ายน้อยลงและมีความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าเพื่อนร่วมงาน

Ivori Johnson หัวหน้าฝ่ายบุคคล ทาเล้น และ DEIB ของ ChartHop กล่าวว่า “ฉันคิดว่าหลังจากที่ผู้คนในช่วงโควิด-19 ตระหนักถึงความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน การมีเวลาให้กับตัวเองและสามารถใช้เวลากับครอบครัวได้ เป็นสิ่งสำคัญมาก และพวกเขาต้องการทำงานให้กับองค์กรที่ทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่น ฉันคิดว่านั่นเป็นกุญแจสำคัญสำหรับพนักงานจำนวนมาก พนักงานต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น”

ในขณะที่ Amy Cosciotti รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ TechSmith เผยว่า “หากความเครียดที่คุณรู้สึกในเย็นวันอาทิตย์หรือเช้าวันจันทร์ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมาก การพิจารณาสาเหตุของความเครียดนั้นก็คุ้มค่า มาจากผู้จัดการของคุณหรือไม่? ภาระงานของคุณ? ที่ทำงานหรือเปล่า? ในบางกรณี ความวิตกกังวลของคุณอาจประเมินค่าการเปลี่ยนผ่านสู่สัปดาห์การทำงานอันแสนยากเย็นสูงเกินไปหรือเปล่า

ซึ่งพนักงานระดับมืออาชีพส่วนใหญ่ อาจเข้าถึงและเข้าใจเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของ Mayes เกี่ยวกับความรู้สึกหนักใจหรือล่าช้าในเช้าวันจันทร์ได้

Bare Minimum Monday อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แนวทาง Bare Minimum Monday อาจฟังดูดี สวยหรู แต่ในความเป็นจริง องค์กรส่วนใหญ่และผู้บริหารระดับสูง อาจไม่อนุญาตให้พนักงานของตนเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการทำงานเพียง 3-4 ชั่วโมง ทำให้หลายคนที่ต้องการปฏิบัติแนวทางนี้ ต้องศึกษากฎระเบียบและวัฒนธรรมขององค์กรก่อน

Caitlin Collins นักจิตวิทยาองค์กรจาก Betterworks กล่าวว่า พนักงานบางคนอาจรู้สึกดีขึ้นด้วยการลิสต์สิ่งที่ต้องทำสำหรับวันจันทร์ นอนหลับให้เพียงพอในคืนวันอาทิตย์ และพักระหว่างวันเพื่อลดความเครียดเริ่มต้นสัปดาห์ แต่ถ้าคุณต้องการหลีกเลี่ยงการถูกจัดว่าเป็น ‘คนทำงานที่มีประสิทธิภาพต่ำ’ การมีเครื่องมืออื่นๆ ไว้ใช้เพื่อให้ผ่านวันจันทร์ไปได้ น่าจะดีกว่า

Bare Minimum Monday ถือเป็นแนวทางที่ยากลำบากอย่างยิ่ง เมื่อหลายบริษัทเสนอการทำงานวันศุกร์แบบยืดหยุ่น หรือทำงานวันศุกร์เพียงครึ่งวัน และการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์อยู่แล้ว และหากพนักงานเริ่มแนวทางนี้ อาจทำให้เหลือวันทำงานที่มั่นคงเพียงสามวันในสัปดาห์ ซึ่งจะขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขา และการถูกประเมินในปลายปี

นอกจากนี้ เทรนด์ Bare Minimum Monday อาจไม่เหมาะกับบางอาชีพ เช่น พนักงานไอที พนักงานขาย พนักงานบริการ หรือแม้แต่คนทำสื่อเอง ที่มีงานในมือตลอดเวลา และไม่สามารถเลือกที่จะทำน้อยหรือไม่ใส่สุดในแต่ละวัน ซึ่งยังไม่รวมถึงการทำงานโปรเจ็กต์แบบทีม ซึ่งอาจกระทบถึงไทม์ไลน์งานหากสมาชิกบางคนในโปรเจ็กต์ทำตามแนวทางนี้

ไม่เพียงเท่านี้ แนวทางนี้อาจไม่เหมาะกับคนทำงานประเภทที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง จนงานเหล่านั้นกลายเป็นกองงานยักษ์ใหญ่ บางคนอาจจัดสรรเวลาในช่วงท้ายๆ ของสัปดาห์เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป แต่ Zachary Ginder ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาสำหรับพนักงานและองค์จาก Pine Siskin Consulting กล่าวว่า หากคุณพบว่าตัวเองกำลังชอบดองงานอย่างต่อเนื่องแล้วรู้สึกวิตกกังวล มันอาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาสาเหตุที่แท้จริงของการหลีกเลี่ยง และคิดถึงการเปลี่ยนงานซะ

การเปิดใจ เป็นเรื่องที่สำคัญ

สุดท้ายนี้ ในวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการทำงาน การบรรลุความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานถือเป็นความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่แนวทาง ‘Bare Minimum Monday’ ทำให้คนทำงานกลับมาประเมินลำดับความสำคัญใหม่ ลดอาการเหนื่อยหน่าย และเพิ่มความพึงพอใจในการเริ่มต้นสัปดาห์การทำงาน

ถึงแม้บริษัทต่างๆ อาจจะยังไม่ยอมรับเทรนด์นี้ในเร็วๆ นี้ แต่การเปิดใจและยอมรับก็เป็นสิ่งที่สำคัญ​ แต่ก็อย่าลืมตระหนักถึงเนื้องานและวัฒนธรรมองค์กรด้วย ว่าเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นการตอบรับเทรนด์นี้ ไม่เพียงแต่ช่วยผ่อนคลายความคิดฟุ้งซ่านในวันจันทร์ แต่ยังนำไปสู่แนวทางการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและสมดุลมากขึ้น

ที่มา Built In, Forbes

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT