ลอยกระทง พ.ศ.2564 เป็นปีที่ 2 แล้ว ที่คนไทยยังไม่สามารถจัดกิจกรรมกันได้เหมือนปกติ ด้วยสถานการณ์โควิด19 จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขเม็ดเงินช่วงวันลอยกระทงจะลดต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ถ้าหากอยากออกจากบ้านไปลอยกระทง ปีนี้พื้นการจัดกิจกรรมลอยกระทง ในกรุงเทพมหานครมี2 จุดใหญ่ คือ ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร รวมทั้งเปิดสวนสาธารณะของกทม.30 แห่งด้วย
.
วันนี้ทีมงาน Spotlight ย้อนดูประวัติศาสตร์คลองโอ่งอีกครั้ง เพราะหากไม่มีสถานการณ์โควิด19 คลองโอ่งอ่างจะเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้เลยทีเดียว เพราะถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร
.
กว่าจะเป็น “คลองโอ่งอ่าง” ทุกวันนี้
คลองโอ่งอ่าง เป็นคลองที่ถูกขุดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยโบราณถูกสร้างให้เป็นคลองคูเมือง กรุงเทพ รอบที่ 2 เป็นการขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางลำภู บริเวณสะพานผ่านฟ้า ไปแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามสะพานพระปกเกล้า ที่เรียกคลองโอ่งอ่าง เพราะในสมัยที่สร้างใหม่ เป็นแหล่งค้าค้าขายเครื่องปั้นดินเผาของทั้งชาวจีนและชาวมอญมาก่อน จึงเป็นที่มาของชื่อคลองโอ่งอ่าง
.
คลองโอ่งอ่างนี้ในสมัยโบราณมีสะพานที่เป็นเอกลักษณ์ คือสะพานหัน ซึ่งเป็นสะพานที่มีหลังคา (สร้างสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อเป็นห้องขายสินค้า เป็นประตูเชื่อมต่อไปถนนสำเพ็ง ที่เป็นแหล่งค้าขายสำคัญของกรุงเทพมาตั้งแต่ยุคนั้น ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Ponte di Rialto ของ เวนิส ประเทศอิตาลี
.
ต่อมาในปี ในปี 2505 สะพานหันแบบมีหลังคาถูกรื้อและก่อสร้างใหม่ทดแทนด้วยสะพานคอนกรีตแบบในปัจจุบัน และในปี 2526 ทาง กทม. ได้เปิดสัมปทานเปิดพื้นที่ให้เช่า บนคลองโอ่งอ่าง เพื่อย้ายผู้ค้าจากคลองถมเดิมมาที่สะพานเหล็กนี้แทน จนกลายเป็นย่านสะพานเหล็กทับคลอง เป็นแหล่งขายเกม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบบที่เรารู้จัก ก่อนจะถูกรื้ออย่างจริงจังในปี 2558 เพราะในขณะนั้นมีแผงค้าที่รุกล้ำบริเวณคลองมากประมาณ 500 แผง ทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงาม มีความสกปรก เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค กีดขวางการสัญจรทางน้ำและเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ
.
น้ำที่เคยดำเน่าเสีย สภาพทรุดโทรม ถูกปรับปรุงใหม่ โดยใช้งบประมาณมากกว่า 300 ล้านบาท หากไม่มีโควิด 19 คลองโอ่งอ่าง เป็นจุดถนนคนเดินทุกสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์) เป็นจุดศูนย์กลางของความเจริญในย่านนี้และกลาย เป็น Destination ในอนาคตสำหรับนักท่องเที่ยว
ไปลอยกระทงที่คลองโอ่งอ่างกันมั้ย?
การจัดงานลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง จัดขึ้นบริเวณริมช่วงสะพานหัน เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร ตั้งแต่วันที่ 19-21 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 22.00 น. โดยปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่ ขยายพื้นที่การจัดงานเริ่มตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข สะพานโอสถานนท์ จนถึงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ชมแม่น้ำเจ้าพระยาในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงที่สวยที่สุด และได้ขยายถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่แยกถนนราชวงศ์ แยกวัดตึกไปถึงสะพานภาณุพันธ์ ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงมากมาย อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีไทย และดนตรีร่วมสมัย การแสดงมินิคอนเสิร์ตจาก วง Wonder Frame และดื่มด่ำกับบรรยากาศ ถนนคนเดินริมคลองโอ่งอ่าง Street Art , Street Performance, ดนตรีเปิดหมวก และอีกมากมาย
.
มาถึงตรงนี้ ถ้ากำลังเตรียมตัวจะไป ขอบอกเงื่อนไขการร่วมงานลอยกระทงในยุคโควิด19 ว่า ผู้ร่วมงานลอยกระทงกรุงเทพมหานครทั้ง 2 จุด จะต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน 2 เข็ม หรือ ผลตรวจ ATK ภายใน 72 ชั่วโมงที่มีผลเป็นลบมาแสดงภายในงาน มีการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา มีจุดเจลแอลกอฮลล์เพื่อล้างมือ ตั้งจุดคัดครองอุณหภูมิ โดยก่อนวันงานลอยกระทง ได้ทำการตรวจ ATK ร้านค้ารวมทั้งผู้ค้าต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ส่วนกระทงที่นำไปลอย แนะนำให้ 1 ครอบครัว 1 กระทง เพื่อลดปริมาณขยะด้วย และห้ามจุดพลุ ประทัด และห้ามปล่อยโคมลอย หากฝ่าฝืนโทษทั้งจำทั้งปรับทีเดียว
.
เงินสะพัดลอยกระทง 2564 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการสำรวจการใช้จ่าย “วันลอยกระทง” ปีนี้เงินสะพัดแค่ 9,147 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับจากน้ำท่วมใหญ่ 2554 เพราะกังวลโควิด ประชาชนเงินในกระเป๋าลดลง ค่าใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,280 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 1,348 บาทต่อคน อย่างไรก็ตามปีนี้ ปริมาณคนจะออกมาลอยกระทงมากกว่าปีที่แล้ว แต่ประหยัดกว่าเดิม เพราะยังไม่มั่นใจกับภาวะเศรษฐกิจ
ที่มาของข้อมูล : กรมประชาสัมพันธ์
ภาพจาก : กรุงเทพมหานคร และ กรมระชาสัมพันธ์