อินไซต์เศรษฐกิจ

5 เรื่องต้องรู้ก่อนกิน “ เนื้อจระเข้”

18 ม.ค. 65
5 เรื่องต้องรู้ก่อนกิน “ เนื้อจระเข้”

จากปัญหาเนื้อหมูซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยมีราคาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง คนไทยจึงเริ่มหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ กันมาขึ้น เนื้อสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลคือ ‘เนื้อจระเข้’


แต่รู้หรือไม่ ว่าในประเทศไทยมี มีการบริโภคเนื้อจระเข้มาอย่างยาวนาน มี สรรพคุณตามหลักแพทย์แผนโบราณของจีน มากมาย มีไขมันน้อยกว่าเนื้อหมูถึงเกือบ 5 เท่า!? และฟาร์มจระเข้แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งขึ้นมานานกว่า 70 ปีแล้ว

Spotlight รวบรวม “5 เรื่องต้องรู้ก่อนกิน ‘เนื้อจระเข้’” มาให้คุณได้รู้จักเนื้อสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น

 
322157

1.จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

 

ตาม “พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562” กำหนดให้จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ เนื่องจากปริมาณจระเข้ตามธรรมชาติในประเทศไทยลดน้อยลงทุกที การเพาะเลี้ยง การซื้อขายเนื้อ หนัง ฟัน กระดูก (เรียกรวมๆ ว่า ‘ซากสัตว์ป่า’) รวมถึงกระเป๋าหรือเครื่องประดับจากหนังจระเข้ (เรียกว่า ‘ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า’) ร้านค้าจะต้องมีหลักฐานว่าได้รับมาอย่างถูกต้องจากฟาร์มเท่านั้น

ซึ่งฟาร์มจระเข้แห่งแรกของประเทศไทย คือ ‘ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ สมุทรปราการ’ โดย คุณอุทัย ยังประภากร ตั้งปีพ.ศ. 2493 ผลิตจระเข้สนองความต้องการทั้งในและต่างประเทศมานานกว่า 70 ปี ปัจจุบันฟาร์มจระเข้มีหลายที่ ในหลายภาคของประเทศไทย

pexels-pixabay-60644

 

2.เนื้อลีน โปรตีนเพียบ” เนื้อจระเข้ มาแรงแซงไก่-หมู!?


หากเทียบกับเนื้อไก่และเนื้อหมูแล้ว เนื้อจระเข้ มีโปรตีนในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่มีไขมันน้อยกว่า 4-5 เท่า และ ให้แคลอรีน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง! เนื่องจากกล้ามเนื้อของจระเข้มีมันแทรกอยู่น้อย แถมรสชาติของเนื้อจระเข้ยังมีรสชาติคล้ายเนื้อไก่ เพราะหากนับลำดับญาติแล้ว สัตว์ทั้งสองเป็นญาติใกล้ชิดกันทางวิวัฒนาการ!? (ใกล้กว่าจระเข้กับเต่าหรือกิ้งก่าเสียอีก!)

โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานตาครูซระบุว่า ที่จระเข้ยังมีลักษณะคล้ายกับต้นตระกูลของสัตว์ทั้งสองชนิด คือ ไดโนเสาร์ มากกว่า เพราะอายุในแต่ละรุ่นของจระเข้ยืนยาวกว่า (70 - มากกว่า 100 ปี) ซึ่งเนื่องจากไก่แต่ละรุ่นมีอายุสั้น (5 - 10 ปี) จึงเกิดการวิวัฒนาการ และเปลี่ยนหน้าตาจากบรรพบุรุษไปมากกว่า

นอกจากนี้ ตามตำรับแพทย์แผนจีน เนื้อจระเข้ยังมีสรรพคุณในการ บรรเทาอาการหอบหืด ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ เบาหวาน บำรุงร่างกายอีกด้วย ชาวจีนจึงนิยมบริโภคเนื้อจระเข้มาก ทั้งที่มาบริโภคที่เมืองไทย และส่งออกไปเมืองจีน (แต่ปัจจุบันยอดส่งออกน้อยลงเนื่องจากประเทศจีนมีฟาร์มจระเข้ของตัวเองแล้ว)

 

000_1mr8xw

3.หาซื้อได้ที่ไหน ราคาเท่าไหร่?


หลายคนอาจคิดว่าเนื้อจระเข้หาทานได้ยาก เป็นของป่าที่จะมีเฉพาะร้านลับเท่านั้น (ซึ่งถ้าร้านไหนจับมาจากป่าจริง อาจโดนดำเนินคดีเพราะผิดกฎหมาย!) แต่จริงๆ แล้ว ปัจจุบันเราสามารถหาซื้อจระเข้ได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งสั่งจาก ฟาร์มเลี้ยง ซึ่งมีอยู่ในหลากหลายจังหวัด หาซื้อจาก ห้างสรรพสินค้า เช่น แม็คโคร หรือสั่งจาก E-Market place เช่น Shopee Lazada ก็ได้ โดยราคาเนื้อจระเข้ก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิด

อ้างอิงจากเพจ: มาลัย ฟาร์ม "แหล่งรวม เนื้อสัตว์แช่แข็ง-อาหารป่า" ราคาเนื้อจระเข้จะอยู่ที่ 95 บาท/กิโลกรัม สำหรับเศษเนื้อ 115 บาท/กิโลกรัม สำหรับเนื้อลำตัว 179 บาท/กิโลกรัม บ้องตัน (กล้ามเนื้อมัดหนึ่งในหาง) จะสั่งเป็น ‘จระเข้หัน’ ทั้งตัวก็มีวางจำหนายหลายร้าน นำมาทำเมนูหลากหลาย เช่น จระเข้ผัดเผ็ด ต้มยำจระเข้ จระเข้ผัดพริกไทยดำ หรือจะหาทาน ‘เนื้อจระเข้ตากแห้ง’ ก็ได้ สนนราคาอยู่ที่ราว 600 บาท/กิโลกรัม

pexels-will-mu-3895253

4.ภาพรวมอุตสาหกรรมจระเข้


การเลี้ยงจระเข้ในไทยมีทั้งการเลี้ยงในฟาร์มจระเข้ใหญ่ๆ ในหลากหลายจังหวัด เช่น สมุทรปราการ อยุธยา ชลบุรี นครประฐม ฯลฯ มีทั้งที่เลี้ยงเองตั้งแต่อนุบาลจนถึงเต็มวัยพร้อมขาย หรือให้ชาวบ้านนำลูกจระไปเลี้ยงแล้วกลับมาขายให้ฟาร์มตอนเป็นตัวเต็มวัย
 
โดยในการเลี้ยงจระเข้จนโตเต็มวัยพร้อมขาย จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี อาหารที่ให้ก็สามารถเป็น ‘ไก่ตายในฟาร์ม’ ซึ่งจะมีราคาไม่สูงมาก และมีปลอดภัยกับตัวจระเข้ เลี้ยงได้ในทุกสภาพอากาศและพื้นที่ โดยในการเลี้ยงจระเข้ 1 ตัว ส่วนที่ทำกำไรให้มากที่สุดจะเป็นหนัง กระดูก ฟัน เล็บ ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ ส่วนเนื้อจะรองลงมา
 
และเพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจการเลี้ยงจระเข้ที่ซบเซาลงในช่วงโควิด เนื่องจากขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว ในต้นเดือนต.ค. 64 ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนผู้เลี้ยงจระเข้ผ่าน โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจระเข้และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

 

pexels-bas-van-brandwijk-7923


5.อนาคตของเนื้อจระเข้ จะมาแทนหมู-ไก่ไหม?


จากความเห็นของ คุณ ธนชาติ ยังประภากร ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร และทายาทรุ่นที่ 3 ของ ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ มองว่าเนื้อจระเข้คงจะไม่กลายมาเป็นเนื้อสัตว์หลักที่คนไทยบริโภค แทนเนื้อหมู ไก่ หรือวัว แต่จากกระแสบนโลกโซเชียล ประกอบกับการที่ราคาขชองเนื้อสัตว์ปรับตัวขึ้น คงจะส่งผลให้การบริโภคเนื้อจระเข้ แพร่หลายมากขึ้น
 
ด้าน นายยศพงษ์ เต็มศิริพงษ์ นายกสมาคมฟาร์มจระเข้ไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระแสที่เกิดขึ้นส่งผลให้การบริโภคเนื้อจระเข้เพิ่มขึ้นสูงอย่างชัดเจน ปริมาณเนื้อจระเข้ที่ส่งออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ความนิยมจะเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว เพราะสามารถนำไปปรุงได้หลากหลายเมนู และอุมดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ในราคาที่ถูกกว่าเนื้อหมูและไก่ในปัจจุบัน

advertisement

SPOTLIGHT