กว่าจะมาเป็นอาหารให้เรากิน...เปิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย
ช่วงนี้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาราคาอาหารแพง ทั้งหมู ไก่ ไข่ วิธิการแก้ปัญหาเฉพาะเช่นการช่วยตรึงราคาสินค้าชั่วคราว การห้ามส่งออกหมู ดูแลควบคุมเรื่องโรคระบาด การเตรียมให้ไก่และเนื้อไก่ เป็นสินค้าควบคุม แต่อีกหนึ่งวิธีการ คือ เตรียมพิจารณาลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้ต้นทุนของอาหารสัตว์ถูกลงไป และหวังว่า ต้นทุนการผลิตถูกลง ราคาปลายทางถึงประชาชนจะลดลงในที่สุด
ห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย
ก่อนอื่นอยากให้เห็นภาพทั้งระบบ กว่าจะมาเป็นอาหารให้เราได้ทานเนื้อสัตว์ต่างๆมีที่มาอย่างไร ทีมงาน SPOTLIGHT รวบรวมข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พบว่า กว่าจะมาเป็นอาหารไปถึงผู้บริโภค ห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย มีเส้นทางดังนี้
1.วัตถุดิบการเกษตร
2.โรงงานอาหารสัตว์ - มูลค่าอาหารสัตว์ 300,000 ล้านบาท
3.เข้าสู่การเลี้ยงสัตว์ - มูลค่าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์และประมง 600,000 ล้านบาท
4.แปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์
5.อาหาร ซึ่งจะแบ่ง เป็นการบริโภคในประเทศ 80% ส่งออก 20% รวมมูลค่า 800,000 ล้านบาท
วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาเพิ่มขึ้น
ต้นทางของอุตสาหกรรมนี้คือ วัตถุดิบ ที่จะมาทำเป็นอาหารสัตว์ซึ่งหลักๆ 5 ชนิด
1ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
2.กากถั่วเหลือง
3.มันสำปะหลัง
4.ข้าวสาลี
5.ข้าวบาร์เลย์
ปรากฏว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านราคาวัตถุดิบที่มาทำเป็นอาหารสัตว์เหล่านี้ ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งปริมาณวัตถุดิบที่เราต้องการอยู่ที่ 20 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยผลิตวัตถุดิบได้เองบางส่วน ส่วนที่ขาดต้องมีการนำเข้าราว 8 ล้านตัน เช่น วัตถุดิบที่นำเข้าทั้งหมดคือ กากถั่วเหลือง นำเข้า 5 ล้านตัน ส่วนข้าวโพดปลูกได้เองแต่ขาดอยู่ 3 ล้านตันจึงต้องมีการนำเข้าเช่นกัน ซึ่งราคาของวัตถุดิบหลัก 2 ชนิดนี้ปรับสูง เปรียบเทียบราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563 ถึง 2564 ปรับขึ้น 11.58% ส่วนกากถั่วเหลือขึ้นมาถึง 29.92 % ไม่ต่างกับอะไรกับวัตถุดิบอื่น มันสำปะหลัง ข้าวสาลี และ ข้าวบาร์เลย์ ก็ปรับขึ้นเช่นกัน
สาเหตุที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้น มาจากหลายปัจจัย
- สภาพอากาศในประเทศที่ปลูกมีความแห้งแล้ง
- เกิดความต้องการที่ฟื้นตัวหลังโควิดรุนแรงในปี 2563
- ประเทศจีนมีความต้องการเร่งนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น
- ค่าเงินบาทอ่อน ค่าระวางเรือ ราคาน้ำมัน ค่าจัดการ ที่สูงขึ้น
เตรียมพิจารณาต้นทุนภาษีนำเข้า
ปัจจุบันการนำเข้ากากถั่วเหลือง เสียภาษีที่อัตรา 2% และถั่วเหลืองเป็นต้นทุนหลักของอาหารสัตว์
ข้อเสนอ ของ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยคือ การยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี3:1 ส่วน และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO , AFTA ยกเลิกโควตา ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณขาดแคลนในปี 2565
ซึ่งท่าทีของรัฐบาลในปัจจุบัน คือกำลังพิจารณาทุกข้อเสนอนี้อยู่ โดยในส่วนของการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% รัฐต้องมีการประเมินว่าจะมีผลต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้มากแค่ไหน ขณะที่ข้อเสนอผ่อนปรนเรื่องระยะเวลานำภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปัจจุบันกำหนดนำเข้า 1 ก.พ.ถึง 31 ส.ค.ทุกปีเป็นให้นำเข้าตลอดทั้งปี ซึ่งกรมการค้าภายในขอให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เพิ่มข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากดำเนินการแล้วจะลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้เท่าใด รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อเสนอของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหรือไม่ทั้งผู้แทนเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง
โรงงานอาหารสัตว์ 55 แห่ง ต้องแจ้งต้นทุน
ขณะที่มติกกร.ให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ทั้งหมด 55 โรง แจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต๊อก รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ การปรับราคาต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย บอกว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์ทุกบริษัทพร้อมให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบสต็อก เพราะยืนยันได้ว่าไม่มีการกักตุนสินค้า โดยส่วนหนึ่งสถานการณ์อาหารสัตว์ของไทยอยู่ในภาวะขาดแคลน และผลผลิตที่ได้ไม่พอจำหน่าย อีกทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่เคยฉวยโอกาสปรับราคา เพราะหัวอาหารและอาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุม
รวมทั้งทุกครั้งที่เกิดปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นหรือมีผู้ร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือให้รายงานสต็อกและการขนส่งเพื่อดูความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการลดราคา ซึ่งเป็นไม่ได้และทำได้เพียงการตัดงบโปรโมชั่น
“การเช็คสต็อกของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ควรทำตลอดห่วงโซ่ เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากวัตถุดิบแพง ดังนั้นต้องเช็คสต็อกวัตถุดิบด้วย โดยเฉพาะข้าวโพดที่อยู่ในมือของพ่อค้าหรือผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรกร“