ไทย - ซาอุดีอาระเบีย ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี
อะไรคือโอกาสของเศรษฐกิจไทย ?
นับเป็นภาพประวัติศาตร์ในรอบกว่า 30 ปี หลังจากนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกัน ในการสะสางประเด็นที่คั่งค้างทั้งหมดระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย และปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติ รวมทั้งยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย
ทีมงาน SPOTLIGHT ถอดบทสัมภาษณ์ ดร.ศราวุธ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ CEO Vision Plus ทางสถานีวิทยุ FM 96.5 เกี่ยวกับประเด็นการฟื้นความสัมพันธ์ในครั้งนี้
การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งสำคัญ “ ซาอุดิอาระเบีย วิชั่น 2030”
ประเทศซาอุดีอาระเบีย นับเป็นประเทศที่มีความสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับ เป็นประเทศร่ำรวยน้ำมัน และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกหลายมิติ แต่หากย้อนกลับไปราว 5-6 ปีที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย ประสบปัญหาเศรษฐกิจ เพระราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ประเทศเริ่มมีหนี้สินแม้จะไม่มาก แต่ไม่เคยเกิดปัญหามาเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้ประเทศซาอุดีอาระเบียจึงปรับนโยบายของประเทศใหม่
ดร.ศราวุธ อธิบายให้ฟังว่า ภายใต้การนำของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นคณะผู้นำรุ่นใหม่ของซาอุดิอระเบีย มีการประกาศ “ ซาอุดิอาระเบีย วิชั่น 2030 “ ซึ่งถือเป็นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศครั้งสำคัญ เพราะซาอุดีอาระเบียจะลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และหันไปทำกิจกรรมอื่นที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น ทั้งนี้เพราะซาอุดีอาระเบีย มองเห็นแล้วว่า ในอนาคตน้ำมันมีโอกาสหมดไป และการพัฒนาของพลังงานทางเลือกมีมากขึ้น จึงไม่สามารถพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับประเทศในตะวันออกกลางทั้งหลาย ทั้ง สหรัฐอาหรับเอมิมิเรตส์ โอมาน บาห์เรน กาต้าร์ ที่ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันมาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน
การเปิดประเทศของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้ “ซาอุดิอาระเบีย วิชั่น 2030” เป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะมีทั้งการเปิดรับ และ การออกไปลงทุน ในต่างประเทศ มากขึ้น การที่เงินลงทุนของซาอุดีอาระเบียถูกกระจายออกไปทั่วโลก ดร.ศราวุธ มองว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยด้วย หลัง 2ประเทศ ประสบความสำเร็จในการฟื้นความสัมพันธ์
ศักยภาพของซาอุดิอาระเบียนอกเหนือจาก “น้ำมัน”
นอกจากน้ำมันแล้ว ซาอุดีอาระเบีย ยังมีแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้ รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติ ที่มีนโยบายเปิดให้สำรวจ และขุดเจาะด้วย เพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศเอง นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบีย ยังมีการแข่งขันกับ UAE ในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการของโลก จึงถือว่า ซาอุดิอาระเบีย มีศักยภาพสูงในการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โอกาสของเศรษฐกิจไทย หลังความสำเร็จฟื้นความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบีย
1.ด้านการส่งออกอาหาร
ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่มีการนำเข้าอาหารเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ขณะที่ไทยเป็นประเทศลำดับต้นๆของโลก ที่ส่งอาหารฮาลาลไปยังประเทศมุสลิม เมื่อความสัมพันธ์เปิด จึงเป็นโอกาสของไทย ในการส่งออกอาหาร และสินค้าฮาลาล ไปยังซาอุดิอาระเบีย
2.ด้านพลังงาน
ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางอยู่แล้ว อันดับ ที่ 1 คือประเทศ UAE อันดับ 2 คือ โอมาน และ อันดับ 3 คือ ซาอุดิอาระเบีย ทั้งที่ซาอุฯ เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุด ดังนั้นการฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทย มีโอกาสนำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย มากขึ้นมาอยู่อันดับ ต้นๆ ของภูมิภาคตะวันออกกลางได้
3.ด้านการสาธารณสุข
ซาอุดีอาระเบีย ต้องการพัฒาด้านนี้ ขณะที่ไทยมีจุดเด่นด้านสาธารณสุข สังเกตุได้จาก การที่มีชาวอาหรับร่ำรวยน้ำมันจำนวนมาก เดินทางเข้ามารักษาสุขภาพในประเทศไทย หรือ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4.ด้านการท่องเที่ยวไทย
ไทยมีจุดแข็งและเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย กำลังเปิดรับ ดังนั้น จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายหากมีความร่วมมือระหว่างกัน
5.ด้านเกษตร
ไทยมีจุดแข่งเช่นกัน ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ยังขาดแคลนอาหาร และมีต้องการผลิตอาหารให้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเป็นโอกาสที่ไทยสามารถร่วมพัฒนาได้
โอกาสแรงงานไทย ในซาอุดีอาระเบีย
ประเด็นเรื่องแรงงาน ถือว่า มีความสำคัญและถือเป็นมิติที่ดีมาตลอด ก่อนที่ไทยจะมีปัญหาความสัมพันน์กับซาอุดีอาระเบีย โดยไทยเคยเป็นประเทศลำดับต้นๆของโลกที่ส่งแรงงานเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ต่อปีราว 2-3 แสนคน และแรงงานเหล่านั้นสามารถส่งเงินกลับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก
การเยือนซาอุดีอาระเบีย ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการหารือในประเด็นแรงงานด้วย เท่ากับว่าไทยสนับสนุนให้มีแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียแน่นอน ดร.ศราวุธ มองว่า ประเทศไทยต้องศึกษา หาลู่ทางใหม่ เพราะตลาดแรงงานของซาอุดีอาระเบีย เปลี่ยนไปจากดีต 30 ปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันมี19 -20 ประเทศ ที่ส่งแรงงานเข้าไปในซาอุดีอาระเบีย และครอบครอง ตลาดแรงงานกว่า 90 สาขาอาชีพเรียบร้อยแล้ว จึงเป็น มิติการแข่งขันของแรงงานไทย
นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีคนตกงานจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อเวลาเศรษฐกิจฟื้น ซาอุดีอาระเบีย อาจจะเลือกให้ความสำคัญกับแรงงานในประเทศเป็นหลักก่อน ดังนั้นจึงเป็น ความท้าท้ายของรัฐบาลไทย ในการต้องศึกษาตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบีย ก่อนที่จะส่งแรงงานไทยกลับเข้าไปอีกครั้ง
"หากในอดีตไทยไม่มีปัญหาความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ไทยจะเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในอาเซียนของซาอุดีอาระเบีย เพราะเค้าชื่นชอบแรงงานไทยอย่างมาก แต่ยังเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ที่มีสายใยร่วมกันมาโดยตลอด จะเป็นจุดเชื่อมต่อ ที่ทำให้การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี" ดร.ศราวุธ กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องแรงงานนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พบหารือทวิภาคีกับ Ahmad Sulaiman ALRajhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย ณ เรือนรับรองแขกต่างประเทศ พระราชวังคิงซาอุด ระหว่างร่วมคณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียทรงมีบัญชาให้กระทรวงฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย บอกถึงมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมี E-Contract Program เป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง ลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถการแข็งขันในตลาดแรงงาน