แบงก์ชาติ 10 แห่งทั่วโลก พร้อมใจขึ้นดอกเบี้ยตาม "เฟด" วันนี้ กลัวส่วนต่างห่างกันเกินไปอาจฉุด "ค่าเงิน" อ่อนค่า และยิ่งทำให้เงินเฟ้อแต่ละประเทศรุนแรงขึ้น
หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 28 ปี ที่อัตรา 0.75% ในการประชุมเมื่อคืนที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาใหญ่สุดของสหรัฐในปัจจุบัน
ล่าสุดวันนี้ (16 มิ.ย.) มีรายงานว่า "ธนาคารกลาง 10 แห่งทั่วโลก" ได้พร้อมใจกันประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมาติดๆ แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันมากเกินไป จนนำไปสู่ภาวะทุนไหลออก จนกดดันให้ค่าเงินอ่อนค่าลง
เพราะหากค่าเงินในประเทศยิ่งอ่อนค่าลงสวนทางดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความว่าแต่ละประเทศจะเจอปัญหา "นำเข้าพลังงานแพงขึ้น" และจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นทั้ง "ปัญหาเศรษฐกิจ" และ "ปัญหาการเมือง" ที่ใหญ่ในสุดทั่วโลกในวันนี้
สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั้ง 10 แห่งนั้น มีรายละเอียดดังนี้
ฮ่องกง
- ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามในอัตราเดียวกันที่ 0.75% สู่ระดับ 2% ในวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ครั้งที่ 3 ในปีนี้"
- โดยปกติแล้ว แบงก์ชาติฮ่องกงมักจะขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงผูกติด (peg) กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในกรอบ 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกง/ดอลลาร์สหรัฐ
- แม้การขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75% จะกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกง ที่เพิ่งจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากโควิด
-19 แต่ฮ่องกงก็ดูไม่มีทางเลือก เพราะกำลังเจอปัญหา "ค่าเงินอ่อนค่า" จากสถานการณ์ "เงินทุนไหลออก"
- เฉพาะวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมาเพียงวันเดียว แบงก์ชาติฮ่องกงต้องเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐไปถึง 3 รอบ รวม 3,240 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.13 แสนล้านบาท) เพื่อพยุงค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป
ไต้หวัน
- แบงก์ชาติไต้หวันปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.125% ซึ่งเป็นการปรับขึ้น "ครั้งที่ 2 ในปีนี้" ต่อจากเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ย discount rate เพิ่มเป็น 1.5%
- นอกจากขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แบงก์ชาติไต้หวันยัง "ดึงสภาพคล่องออกจากระบบ" ด้วยการเพิ่มสัดส่วน RRR (Reserve Requirement Ratio) หรือการกันสำรองของแบงก์พาณิชย์ ขึ้นอีก 0.25% ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดสภาพคล่องได้ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์
- ไต้หวันต้องการเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ท่ามกลางค่าเงินที่อ่อนค่าไปกว่า 6.5% แต่ก็ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่านี้ได้ เพราะต้นทุนกู้ยืมจะพุ่งขึ้นทันที จึงต้องใช้มาตรการ RRR ควบคู่กันไปด้วย และนี่ยังถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ที่ไต้หวันใช้มาตรการควบคู่กัน
บราซิล
- แบงก์ชาติบราซิลขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ไปอยู่ที่ 13.25% และส่งสัญญาณจะขึ้นต่อในการประชุมงวดหน้าเดือน ส.ค. ทั้งนี้หากนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว บราซิลขึ้นดอกเบี้ยไปรวมแล้วถึง 11.25%
- บราซิลต้องการคุมเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาใหญ่กระทบปากท้องประชาชน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของบราซิลขึ้นไปสูงถึง 10% แล้ว
สวิตเซอร์แลนด์
- แบงก์ชาติสวิสขึ้นดอกเบี้ย "ครั้งแรกในรอบ 15 ปี" โดยขึ้น 0.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเดิมอยู่ที่ - 0.75% ขยับขึ้นมาเป็น -0.25% (เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ)
- สวิสกังวลเรื่อง "ค่าเงินฟรังก์สวิส" ว่าจะเสียตำแหน่ง Safe haven เพราะเงินจะไหลไปอยู่ที่ดอลลาร์สหรัฐแทน และจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อตามมา จึงนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2007 และทำให้วันนี้ค่าเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นเหนือดอลลาร์ 1.4%
อังกฤษ
- แบงก์ชาติอังกฤษ (BOE) เป็นรายล่าสุดที่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งนับเป็นการ "ขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ติดต่อกัน" โดยขึ้น 0.25% ไปเป็น 1.25%
- มติในการโหวตวันนี้คือ 6 ต่อ 3 เสียง โดยกรรมการ 3 เสียงที่แพ้ไปนั้น โหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.5%
- ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ แต่ล่าสุดกลับมาแข็งค่าขึ้นแล้ว 1.21 ดอลลาร์/ปอนด์
- อังกฤษเผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. อยู่ที่ 9%
5 ชาติอ่าวอาหรับ (ซาอุดิอาระเบีย, คูเวต, กาตาร์, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์)
- กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับใช้นโยบายตรึงค่าเงินสกุลท้องถิ่นผูกกับดอลลาร์สหรัฐ (ยกเว้น คูเวต ที่ไม่ได้ตรึงกับดอลลาร์ แต่ตรึงกับตะกร้าค่าเงินรวม) ดังนั้น จึงมักจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐด้วยทุกครั้ง เพียงแต่ปรับขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไป
- ซาอุดิอาระเบีย ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ทำให้ดอกเบี้ย repo และ reverse repo ขึ้นไปอยู่ที่ 2.25% และ 1.75% ตามลำดับ
- คูเวต ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปเป็น 2.25%
- ยูเออี กาตาร์ และบาห์เรน ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามเฟด