อินไซต์เศรษฐกิจ

5 เรื่องที่สุดของ "ชินโซ อาเบะ" ผู้พลิกฟื้นญี่ปุ่นด้วย Abenomics

8 ก.ค. 65
5 เรื่องที่สุดของ "ชินโซ อาเบะ" ผู้พลิกฟื้นญี่ปุ่นด้วย Abenomics

นับเป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วโลกเมื่อเกิดเหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น "ชินโซ อาเบะ" เมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ระหว่างที่เขากำลังปราศรัยช่วยลูกพรรค LDP หาเสียงใน จ.นารา เพื่อรับการเลือกตั้ง สว. ในวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ที่สุดแล้ว แพทย์ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของอาเบะเอาไว้ได้ หลังถูกยิงระยะเผาขนถึง 2 นัด ระหว่างการกล่าวปราศรัย โดยมีการประกาศการเสียชีวิตเมื่อประมาณเกือบ 16.00 น.วันนี้ ตามเวลาในประเทศไทยออกมา

หลายคนอาจรู้แค่ว่าอาเบะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แต่ที่จริงแล้ว เขาถือเป็นนายกฯ ที่ดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศเลยจากหลายมิติและบทบาท ทั้งการเป็น "นายกรัฐมนตรี 2 สมัย" (ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย), การเป็นนายกรัฐมนตรีที่ "อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดของญี่ปุ่น", การใช้นโยบายเศรษฐกิจที่โด่งดังจนถึงกับมีชื่อเรียกเป็นชื่อตัวเอง (Abenomics) และการเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคใหม่ (หลังสงครามโลก) ที่ถูกลอบสังหาร


ทีมข่าว SPOTLIGHT ขอรวบรวม 5 เรื่องที่สุดของชายที่ยังโลดแล่นและป๊อปปูลาร์ในการเมืองญี่ปุ่น มาดังนี้


1. เจ้าชายแห่งตระกูลการเมือง

- ชินโซ อาเบะ ได้ฉายาว่า "เจ้าชาย" เพราะมาจากตระกูลใหญ่ทางการเมือง ถ้าจะบอกว่าเขาถูกวางตัวให้เป็นนายกฯ มาตั้งแต่เด็ก ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง เพราะตระกูลของเขาเป็นตระกูลการเมืองใหญ่จาก จ.ยามากุจิ ที่ปั้นนายกฯ มาแล้วถึง 2 คน คือนายกรัฐมนตรี "โนบุสุเกะ คิชิ" ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณตา และญาติอีกคนในสายฝั่งแม่ คือ นายกรัฐมนตรี "เอย์ซากุ ซาโตะ"

อดีตนายกฯ คิชิ ยังถือเป็นผู้ที่ช่วยวางรากฐานก่อตั้งพรรค LDP ขึ้นมาในปี 1955 ด้วย ส่วนสายของฝั่งปู่และพ่อนั้นก็เป็น ส.ส. ของพรรค LDP เช่นกัน โดยเฉพาะพ่อ นายชินทาโร อาเบะ ยังเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่อิทธิพลและบารมีของตระกูล อาเบะ จะอยู่กับพรรคมาอย่างเหนียวแน่น

นอกจากนี้ “ชินโซ อาเบะ” ยังมีฉายาว่า "เจ้าชาย" เพราะมาจากตระกูลใหญ่ทางการเมืองในฐานะบุตรชายของนายชินทาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และหลานชายของนายกรัฐมนตรีโนบุสึเกะ กิชิ และ “อาเบะ” ยังถือเป็นนักอนุรักษนิยม ซึ่งนักวิจารณ์การเมืองเรียกเขาอย่างแพร่หลายว่าเป็นชาตินิยมฝ่ายขวา เขาเป็นสมาชิกของนิปปงไคจิ และมีทัศนะแบบแก้ไขประวัติศาสตร์ (revisionist) ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

 

2. นักการเมืองสายเหยี่ยวผู้เยือนศาลเจ้ายาสุกูนิ

- ศาลเจ้ายาสุกูนิ (Yazukuni Shrine) เป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางการเมืองไปแล้ว เพราะที่นี่คือสุสานของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทหารญี่ปุ่นบุกจีนกับเกาหลี จนมีเหตุการณ์แผลใจทางประวัติศาสตร์กันเสมอ (เช่นกรณีนานกิง) ทำให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมักจะต้องหลีกเลี่ยงการไปเคารพศาลเจ้านี้

000_32e24m7

อาเบะเคยไปเมื่อปี 2013 และถูกประท้วงอย่างรุนแรง แม้กระทั่งสหรัฐยังตำหนิ ทำให้หลังจากนั้นในระหว่างที่ยังอยู่ในตำแหน่ง เขาไม่เคยไปเยือนศาลเจ้าแห่งนี้อีกเลย อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่าเขาจะถือเป็นนักการเมืองสายเหยี่ยว (Hawkish) หรือเป็นนักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวา เป็นสมาชิกของ นิปปงไคจิ ซึ่งมีทัศนะแนวคิดแบบแก้ไขประวัติศาสตร์ (revisionist) ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เขาปฏิเสธบทบาทของทหารญี่ปุ่นบังคับผู้หญิงในเกาหลีและจีนให้เป็นหญิงบำเรอในช่วงสงครามโลก มีแนวคิดแข็งกร้าวเดี่ยวกับเกาหลีเหนือ และส่งเสริมการทบทวนมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ญี่ปุ่นมีกองทัพได้

แนวคิดส่วนหนึ่งของการเป็นสายเหยี่ยวอนุรักษ์นิยม สืบเนื่องมาจากในครอบครัวของเขาเอง โดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรี โนบุสุเกะ คิชิ ผู้มีศักดิ์เป็นตา ที่เป็น 1 ในผู้ต้องสงสัยอาชญากรสงคราม หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก



3. เจ้านโยบายเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์ " (Abenomics)

ในช่วงที่กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ระหว่างปี 2012 - 2020 ยุคนั้นเป็นยุคที่เรียกว่าเศรษฐกิจโลกกำลังบอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คือ ช่วงแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส (Subprime crisis) ในสหรัฐ ปี 2008 และมาตอกย้ำอีกครั้งกับวิกฤตการณ์หนี้กลุ่มประเทศยูโรโซน (PIIGS) ช่วงประมาณปี 2010 - 2012 ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศตองงัดนโยบายออกมาพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเองกันขนานใหญ่

000_hkg10254795


และนโยบายของอาเบะก็คือ ลูกศร 3 ดอก ได้แก่ ได้แก่ การผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่, การใช้จ่ายของภาครัฐ และ การปฏิรูประบบการทำงาน รวมแล้วได้ชื่อว่าเป็น "นโยบายเศรษฐกิจของอาเบะ" หรือ Abenomics (ชื่อของเขา Abe + เศรษฐกิจ Economics)

นโยบายลูกศรทั้ง 3 ดอก ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน นโยบายการเงินเน้นที่การทำ QE ให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นปล่อยสภาพคล่อง (ซื้อคืนพันธบัตร) และกดดอกเบี้ยต่ำติดลบเป็นเวลานาน โดยตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% ทำให้รัฐบาลถือสินทรัพย์มากที่สุดในโลกถึง 70% เมื่อเทียบกับสหรัฐและสหภาพยุโรป

ส่วนนโยบายการคลังก็เน้นการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 แสนล้านดอลลาร์ ทำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ / ส่วนลูกศรดอกที่ 3 ก็เน้นปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

 

4. นายกรัฐมนตรีที่ครองเก้าอี้ "ยาวนานที่สุด"

- อาเบะได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น คือ 7 ปี 8 เดือน 27 วัน "ซึ่งไม่มีใครทำได้มาก่อน"

แม้ความนิยมจะมีขึ้นบ้างลงบ้างสลับกันตามช่วงจังหวะ แต่ก็ถือเป็นนักการเมืองที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น และยังคงมีทั้งอิทธิพลและบารมีมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาจแบ่งวาระการเป็นนายกฯ ของอาเบะเป็น 2 สมัยหลัก (4 สมัยย่อย) คือ ช่วงแรกในปี 2006 - 2007 ก่อนที่จะรับตำแหน่งอีกทียาวๆ ในปี 2012 - 2014, 2014 - 2017 และ 2017 - 2020



5. ไม่ใช่นายกฯ ญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกลอบสังหาร

- ญี่ปุ่นอาจดูเป็นประเทศสงบที่มีกฎหมายเรื่องการควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด แต่อาจไม่ใช่กับเรื่องการเมือง จากประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นนั้น มีเหตุการณ์ "ลอบสังหารนักการเมืองมาโดยตลอด" ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี การเมืองระดับชาติ จนถึงการเมืองท้องถิ่น

ที่ผ่านมา เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นถูกลอบสังหารและเสียชีวิตมาแล้ว 2 คน คือ นายอินุไค ทสึโยชิ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1932 และนายไซโต มาโกโตะ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1936 ซึ่งเป็นข่าวใหญ่สะเทือนขวัญไปทั่วประเทศ ที่จริงแล้วแม้แต่คุณตาของเขาเอง อดีตนายกฯ คิชิ ก็เคยถูกลอบสังหารด้วยการใช้มีดแทงมาแล้ว ในปี 1960 เพียงแต่รอดมาได้

800px-tokyo_stabbing

นายอิเนจิโร อาซานุมะ หัวหน้าพรรคสังคมนิยมของญี่ปุ่น ถูกคนร้ายที่มีแนวคิดการเมืองขวาจัด ใช้ดาบแทงเสียชีวิตระหว่างการดีเบตทางการเมือง ในปี 1960 ภาพนี้ได้รางวัลพูลิตเซอร์ในปีเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม นั่นถือเป็นการเมืองยุคเก่าช่วงสงครามโลกที่เต็มไปด้วยแนวคิดการเมืองที่รุนแรง โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองขวาจัดและฟาสซิสต์ ในช่วงหลายสิบปีหลังของการเมืองยุคใหม่ในญี่ปุ่น แทบไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับนายกฯ หรืออดีตนายกฯ แล้ว แต่ยังมีในส่วนการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติอยู่ เช่น นายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ ที่ถูกสังหารโดยสมาชิกแก๊งค์ยากูซ่า เมื่อปี 2007

advertisement

SPOTLIGHT