ปัญหาหนี้สิน กองทุนน้ำมัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยเคยมีปัญหากองทุนน้ำมันติดลบมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่มีการติดลบหนักๆ เป็นช่วงปี 2548 กองทุนน้ำมันในยุคนั้นติดลบประมาณ 9 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ครั้งนี้ดูเหมือนสถานะของกองทุนน้ำมันจะติดลบหนักที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาด้วยตัวเลขล่าสุด ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2565 กองทุนติดลบรวม 117,394 ล้านบาท ติดลบทั้งจากการอุดหนุนราคาน้ำมัน 76,518 ล้านบาท และ LPG ติดลบ 40,876 ล้านบาท
.
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้กองทุนน้ำมันในยุคปัจจุบันติดลบเป็นแสนล้าน เกิดจากสถานการณ์ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภายหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่รัสเซียบุกยูเครนทำให้รัฐบาลใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนไม่ให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนมากเกินไป แต่ศึกครั้งนี้ใหญ่เกินต้านทาน สุดท้ายราคาพลังงานก็ต้องปรับขึ้นบ้างอยู่ดี เพราะรัฐไม่สามารถแบกภาระได้ไหว
.
หากย้อนดูข้อมูล 4 เดือน ที่ผ่านมาตั้งแต่มีนาคม-มิถุนายน กองทุนน้ำมันอุดหนุนติดลบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 20,000 ล้านบาทกระทรวงพลังงานประเมินว่าหากไม่มีหาเงินมาเติมให้กับกงอทุนน้ำมัน หรือยังอุดหนุนในระดับนี้ต่อไป มีโอกาสที่กองทุนน้ำมันจะติดลบถึง 200,000 ล้านบาทในช่วงปลายปีนี้
วาระลับ ออกกฏหมายให้กระทรวงการคลัง คำ้เงินกู้ กองทุนน้ำมัน
การประชุมครม.เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอโดยมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ภายหลังมีข้อมูลวาระลับ ที่ไม่ลับ ออกมาแล้ว ก็มีข้อกังวลออกมามากมาย โดยเฉพาะสุดท้ายแล้วคนใช้หนี้กองทุนน้ำมันมาจากเงินภาษีของประชาชนหรือไม่ Spotlight จะสรุปประเเด็นสำคัญดังนี้
ทำไมต้องหาสภาพคล่องมาเติมกองทุนน้ำมัน
ตามที่อธิบายข้างต้น หากภาครัฐฯยังใช้การอุดหนุนราคาน้ำมันเท่าเดิมต่อเนื่องแบบนี้ ไม่มีทางที่เงินในกองทุนจะเพียงพอ เพราะพิจารณารายรับอันน้อยนิด เทียบกับรายจ่ายที่ต้องอุดหนุนมหาศาลต่อเดือน แต่ครั้นรัฐฯจะปล่อยให้ราคาพลังงานเด้งกลับไปแบบไร้การดูแลเลย ก็คงจะสร้างความเดือดร้อนและผบกระทบให้ประชาชนอย่างสาหัสเช่นกัน นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมต้องหาสภาพคล่องมาให้กองทุนน้ำมัน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยมีแนวคิดในการขอความร่วมมือให้บรรดาโรงกลั่นที่มีกำไรทั้งหลายช่วยแบ่งกำไรบางส่วนมาใส่ในกองทุนน้ำมัน เพื่อให้มีเงินไปอุดหนุนประชาชน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงเงียบหายไป เพราะโรงกลั่นน้ำมันหลายบริษัท จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การจะไปขอแบ่งกำไรมาอุดหนุนราคาน้ำมัน อาจมีเรื่องกฏเกณฑ์ที่ไม่ง่ายวิธีการนี้จึงไม่สามารถช่วยหาเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้นั่นเอง
กระทรวงการคลังค้ำประกัน กลายเป็นหนี้สาธารณะ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ว่า การที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปค้ำประกันการกู้เงินให้กับ สกนช. หรือสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องไปบริหารจัดการรายรับรายจ่าย เพื่อมาชำระเงินกู้คืนให้กับสถาบันการเงิน ผลกระทบต่อฐานะการคลังก็ไม่มี กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้กู้ก็ต้องไปชำระเอง และไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เงินทันที
นอกจากนี้ ไม่ว่ากระทรวงการคลังจะเข้ามาค้ำหรือไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว การกู้เงินของ สกนช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐก็ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะอยู่แล้ว ส่วนประเด็นเรื่องกรอบระยะเวลาการกู้เงินนั้น มองว่า การกู้เงินจะต้องดูการบริหารรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องนี้กระทรวงการคลังก็ได้มีข้อเสนอแนะไปยัง สกนช. ให้มีการจัดทำแผนในส่วนนี้ให้ชัดเจน โดยมองว่าการกู้เงินควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
"ยังบอกไม่ได้ว่าการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว จะส่งผลให้หนี้สาธารณะมีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะที่เป็นผู้กู้ ต้องชำระเงินกู้ให้หมดภายใน 7 ปี ซึ่งมีข้อเสนอว่าไม่ได้กู้ครั้งเดียวหมด 1.5 แสนล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย" นายอาคม กล่าว
ก่อนหน้านี้ มีแผนการกู้เงิน 3 หมื่นล้านบาท แต่การไปขอเจรจากู้เงินกับสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานจึงมองว่าหากกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยค้ำประกันการกู้เงินให้ จะทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจมากขึ้น
ขณะที่ นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน สกนช. ยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงินแต่อย่างใดและแม้ว่าร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวจะกำหนดให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ สกนช. แต่การชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว สกนช. จะต้องเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้โดยใช้รายได้ของตนเอง และกระทรวงการคลัง ไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้กับ สกนช. ได้ ดังนั้น จึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชนแต่อย่างใด
ทำไมต้องมี “กองทุนน้ำมัน”
การจัดตั้งกองทุนน้ำมัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กองทุนฯช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง การดำเนินงานของกองทุนฯอยู่ภายใต้นโยบายการบริหารกองทุนตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.กำหนด
ซึ่งกองทุนน้ำมัน มีสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ดำเนินการรับ/จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน กบง. ประกาศ บริหารจัดการด้านการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ซึ้งการดำเนินการรับ/จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีหน่วยงานงานของรัฐ เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องเกี่ยวกับ ปริมาณ อัตราเงินส่งเข้ากองทุน/อัตราชดเชย และสรุปยอดจำนวนเงินรับ/จ่าย ส่งให้ สกนช. เพื่อดำเนินการรับเงิน/จ่ายเงินตามที่หน่วยงานรัฐดังกล่าวแจ้งยอด
เดิมทีกฎหมายจำกัดหนี้กองทุนน้ำมันไว้ที่ 20,000 ล้านบาท แต่เมื่อต้นปีรัฐบาลได้มีมติรื้อเพดานออกทั้งหมดเพื่อเปิดทางให้สามารถหาเงินมาใส่ในกองทุนน้ำมันเพื่อใช้ในการอุดหนุนราคาพลังงาน
ในภาวะที่ราคาพลังงานผันผวนเช่นนี้ หน้าที่รัฐฯในช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบคงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การบริหารจัดการที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ไม่เช่นนั้นในยามสถานการณ์สงบ สถานะทางเศรษฐกืจของไทยจะไม่ฟื้นได้อย่างที่คาดหวังเพราะทั้งรัฐฯและประชาชนต่างมีภาระหนี้สินหนักอึ้งพอๆกัน ตามติดวาระลับ ที่ไม่ลับกันต่อไป