อินไซต์เศรษฐกิจ

ทำไมทั่วโลก 'น้ำท่วมหนักขึ้น'? รู้จักปรากฏการณ์ 'ลานีญา 3 ปีซ้อน'

18 ต.ค. 65
ทำไมทั่วโลก 'น้ำท่วมหนักขึ้น'? รู้จักปรากฏการณ์ 'ลานีญา 3 ปีซ้อน'

“ประเทศไทย” กำลังเผชิญภาวะน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ เช่น ที่ จ.อุบลราชธานี ความสาหัสของน้ำท่วมปีนี้ได้แซงน้ำท่วมปี 2562 ไปแล้ว ขณะที่พายุไต้ฝุ่นลูกใหม่ เนสาท ก็กำลังจ่อซ้ำผ่านเวียดนาม ในเร็วๆ นี้

“ออสเตรเลีย” กำลังเจอน้ำท่วมใหญ่ในหลายรัฐเช่น นิวเซาท์เวลส์ และควีนสแลนด์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 23 คน พบบ้านเรือนเสียหายกว่า 15,000 ครัวเรือน ทำให้ประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากพื้นที่

“ปากีสถาน” เพิ่งเผชิญน้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์

“เกาหลีใต้” เพิ่งเผชิญน้ำท่วมเฉียบพลันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนในกรุงโซล

เราอาจอธิบายสถานการณ์เหล่านี้ได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภาวะโลกรวน’ จากปรากฎการณ์ ‘ลานีญา’ (La Niña) ที่เกิดขึ้น ‘เป็นปีที่สามติดต่อกัน’ แล้วในปีนี้ 

istock-1174130246

ถึงแม้ลานีญา จะเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นคู่กับ เอลนีโญ (El Niño) มานานนับร้อยปีแล้ว โดยลานีญาจะทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักและหนาวเย็นในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งตรงข้ามกับเอลนีโญ ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง “แต่การเกิดลานีญา 3 ปีซ้อนนี้ เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดได้ยากมาก” 

เพราะในเวลาปกติทั้งลานีญาและเอลนีโญจะเกิดขึ้นทุกๆ 2-7 ปี และมักจะไม่เกิดขึ้นหลายปีติตด่อกัน และในประวัติศาสตร์นับร้อยปีที่ผ่านมา การเกิดลานีญา 3 ปีติดต่อกันนี้ เคยเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือในช่วงปี 1973-1976 และ 1998-2001

อะไรคือปรากฎการณ์ลานีญา อะไรทำให้ลานีญาเกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้นในช่วงนี้ และมันจะส่งผลต่อทั้งสภาพเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกอย่างไร ทีมข่าว Spotlight สรุปมาได้ให้อ่านกัน

 

อะไรคือ ลานีญา? และทำไมถึงเกิดถี่ขึ้น?

ก่อนจะไปถึงคำอธิบายของปรากฎการณ์ลานีญาและเอลนีโญ สิ่งพื้นฐานที่ต้องรู้กันก่อนก็คือ 

โดยปกติแล้ว ในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือมหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา จะมีกระแสลมค้า (trade winds) ซึ่งจะพัดให้กระแสน้ำอุ่นจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก(ฝั่งอเมริกา) มาที่ฝั่งตะวันตก(ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย) อยู่เสมอ ทำให้น้ำทะเลบริเวณนี้สูงกว่าระดับทะเลปกติราว 60 ถึง 70 เซนติเมตร และเกิดฝนตก 

อย่างไรก็ตาม หากในปีไหนลมค้านี้ ‘อ่อนกำลัง’ ลงจนไม่สามารถพากระแสน้ำอุ่นจากฝั่งอเมริกามาฝั่งเอเชียเหมือนในเวลาปกติได้ กระแสลมก็จะพัดย้อนกลับ พากระแสน้ำอุ่นเข้าฝั่งอเมริกา จนทำให้ฝั่งนั้นเกิดฝนตก และทำให้ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อนและแล้งแทน ซึ่งปรากฎการณ์นี้จะถูกเรียกว่า ‘เอลนีโญ’

ในทางกลับกัน หากปีไหนลมค้านี้ ‘พัดแรง’ จนกระแสน้ำอุ่นถูกพัดเข้าหาฝั่งเอเชียมากกว่าปกติ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียก็จะเผชิญภาวะฝนตกหนัก และประเทศฝั่งอเมริกาทั้งเหนือและใต้ก็จะเจอภาวะแล้ง เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ‘ลานีญา’ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ทั้งเราและประเทศใกล้เคียงเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และโดยเฉพาะ ออสเตรเลีย เจอฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมเสียหายอยู่ในตอนนี้

อย่างที่กล่าวไปแล้ว ทั้ง 2 ปรากฎการณ์นี้ถึงจะเรียกได้ว่าเกิดจากความแปรปรวนของกระแสลม ก็เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วในช่วง 2-7 ปี ทำให้ทั้งคู่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกอะไร ‘หากไม่ได้เกิดหลายปีติดต่อกัน’

เพราะฉะนั้น การเกิดลานีญา 3 ปีซ้อนนี้ จึงเป็นปรากฎการณ์แปลกประหลาดที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ต้องเร่งหาสาเหตุ

โดยจากการวิจัยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่วงจรการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก ‘การกระทำของมนุษย์’ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ โดยเกิดจากการที่พฤติกรรมการผลิตและบริโภคของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าปกติ เกิด ‘ภาวะโลกร้อน’ (global warming) ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศแปรปรวน หรือเกิด ‘ภาวะโลกรวน’ (climate change)

 และที่น่าสนใจคือ นักวิจัยชี้ว่าภาวะโลกร้อนและภาวะโลกรวนนี้จะทำให้เกิดลานีญา ‘มากกว่า’ เอลนีโญ ทำให้ต่อไป ฝั่งประเทศฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย มีแนวโน้มจะเจอฝนตกหนักและน้ำท่วมในความถี่ ความรุนแรง และความยาวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ฝั่งอเมริกาก็จะเจอภาวะแล้งหนักยาวนาน และมีโอกาสเกิดไฟป่ามากยิ่งขึ้น

 

การเกิดลานีญาบ่อยขึ้น จะส่งผลต่อไทย และประเทศอื่นๆ อย่างไร?

ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศจะส่งผลกระทบถึงกันทั่วโลก ด้วยความที่ปรากฎการณ์ลานีญาเกิดจากความผิดปกติของกระแสลมในมหาสมุทรแปซิฟิก กลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์นี้มากที่สุดก็แน่นอนว่าต้องเป็นประเทศทวีปและทวีปอเมริกา โดยทั้ง 2 ฝากจะเจอปัญหาแตกต่างกัน และจะต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในด้านวิถีชีวิต และการทำงาน 

เพราะนอกจากปรากฎการณ์นี้จะทำให้เกิดภัยธรรมชาติมากมายเช่น น้ำท่วม และไฟป่า ที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในระยะสั้นแล้ว ปรากฎการณ์นี้ยังส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในแต่ละทวีปในระยะยาว เพราะกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ล้วนแต่ถูกพัฒนาขึ้นตามสภาพอากาศและทรัพยากรเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ทำให้ถ้าสภาพอากาศเพี้ยน สภาพการทำงานและดำเนินธุรกิจย่อมผิดเพี้ยนตามไปด้วย

โดยจากการรายงานของ Bloomberg ปรากฏการณ์ลานีญาสามครั้งซ้อนในครั้งนี้ จะทำความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากถึง 38 ล้านล้านบาท

โดยสรุปแล้ว ปรากฎการณ์ลานีญาจะมีผลกระทบต่อกลุ่มประเทศในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

 

เอเชีย-แฟซิฟิก

ด้วยความที่ถูกลมค้าพัดให้กระแสน้ำอุ่นเข้ามาเยอะกว่าปกติ ประเทศในc5[เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง   ‘ไทย’ และออสเตรเลีย จะเจอปริมาณน้ำฝนในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดน้ำท่วมในหน้าร้อน รวมไปถึงเจอความหนาวจัดในหน้าหนาว โดยจะส่งผลเสียมากต่อการทำการเกษตร และธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่

โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ทั้ง ‘ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย’ ต่างเจอภาวะน้ำท่วมจนเกิดความเสียหาย รวมไปถึงพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างถ้วนหน้า

ในประเทศ 'ไทย' ปัจจุบันพบน้ำท่วมหนักทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคเหนือ โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงคือ ภูเก็ต อุบลราชธานี และเชียงใหม่ 

โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคเหนือในช่วงสิงหาคมถึงตุลาคมปีนี้ อาจทำความเสียหายต่อข้าวนาปีถึงราว 2,900-3,100 ล้านบาท

000_323y9ta

นอกจากนี้ ใน 'ออสเตรเลีย' เองก็พบน้ำท่วมหนัก โดยรัฐที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ นิวเซาท์เวลส์ ควีนสแลนด์ และวิกตอเรีย ซึ่งพบผู้เสียชีวิตรวมแล้วอย่างน้อย 23 ราย พบบ้านเรือนเสียหายกว่า 15,000 ครัวเรือน และมียอดเคลมประกันความเสียหายจากน้ำท่วมรวมแล้วถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.14 แสนล้านบาท

000_32dq9yt

รวมไปถึงพบความเสียหายด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร น้ำท่วมเหมืองทำให้ปริมาณส่งออกโลหะลดลง และทำให้เกษตรกรลงปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ได้ช้า

 

เอเชียใต้

ถัดจากเอเชียแปซิฟิกที่รับไปเต็มๆ อีกหนึ่งภูมิภาคของเอเชียที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันคือเอเชียใต้ โดยเฉพาะใน 'ปากีสถาน' ที่เพิ่งเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 10 ปี ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 1,500 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึงราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท

000_32hu7gg

นอกจากนี้ยังพบน้ำท่วมใหญ่ใน 'บังคลาเทศ' ที่ทำให้มีผู้เสียหายประมาณ 7.2 ล้านคน และใน 'อินเดีย' ที่ทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนประมาณ 300,000 ครัวเรือน

 

อเมริกาเหนือ

ข้ามฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกมาอเมริกาเหนือ ประเทศอย่าง 'สหรัฐอเมริกา' และ 'แคนาดา' ประสบภาวะตรงข้ามกับประเทศในฝั่งเอเชียคือภาวะแล้งหนัก ทีทำให้ปริมาณน้ำสำรองลดลง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำทั่วภูมิภาค และส่งกระทบทั้งต่อภาคการเกษตร เช่นผลผลิตคอตตอนที่ลดลงจนราคาพุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ

000_32lk2at

นอกจากนี้ถึงแม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ลานีญายังทำให้เกิดพายุมากขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งกั้นระหว่างทวีปอเมริกาและยุโรปในช่วงเดือนสิงหาคม โดยในปี 2020 พบพายุในแอตแลนติกรวมมากถึง 30 ลูก ในขณะที่ปี 2021 พบ 21 ลูก 

 

 

อเมริกาใต้

ทางฝั่งอเมริกาใต้ที่มีประเทศอย่าง 'บราซิล' และ 'อาร์เจนตินา' ก็พบภาวะแล้งหนักเช่นกัน โดยมีผลกระทบมากต่อภาคการเกษตร เพราะทำให้ผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของโลกอย่าง เมล็ดกาแฟ ส้ม ถั่วเหลือง และข้าวโพด ลดลง

นอกจากนี้ยังทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปารานา (Parana River) ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อขนส่งสินค้าในทางอื่น



ที่มา: Bloomberg, World Meteorological Organization, BBC, Gistda, Kasikorn Research Center

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT