เปิด 7 อรหันต์ 'โปลิตบูโร'ผู้กุมอำนาจการเมืองจีนใหม่ในยุค สีจิ้นผิง
"การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์" ของจีนนั้น ปกติก็สำคัญมากอยู่แล้ว เพราะการประชุมที่มีขึ้นทุกๆ 5 ปีนี้ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางสำคัญทุกเรื่องของจีน ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทหาร และอื่นๆ เพราะในจีนนั้น "พรรคคอมมิวนิสต์" มีความสำคัญมากกว่า "รัฐสภา" ซึ่งสื่อฝรั่งให้ฉายาว่า สภาตรายาง
แต่ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่ายิ่งสำคัญกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาก็ว่าได้ เพราะเป็นครั้งที่จะมีการรับรองให้ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" อยู่ในตำแหน่ง "เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์" เป็นสมัยที่ 3 ปูทางสู่ประธานาธิบดีสามสมัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะมีการประกาศ "7 อรหันต์" หรือ คณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง ที่เป็นกลุ่มผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดในจีน โดยในครั้งนี้จะเป็นคนวงในของ สี จิ้นผิง โดยเฉพาะ แบบไม่ต้องต่อรองอำนาจกับกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา
ก่อนอื่นต้องเกริ่นถึงโครงสร้างการเมืองจีนคร่าวๆ ก่อนว่า คณะกรรมการกลางพรรคคอมมมิวนิสต์จีน (Central Committee) ประมาณ 370 คน จะเป็นคนเลือก คณะกรรมการประจำกรมการเมือง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โปลิตบูโร จำนวน 25 คน และโปลิตบูโรก็จะเป็นผู้เลือก 7 อรหันต์ หรือ สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งถือเป็นคณะผู้บริหารทางการเมืองสูงสุดของจีน และเป็นคนวงในที่สุดของ สี จิ้นผิง ที่จะมากุมทิศทางของจีนต่อจากนี้
ในการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ต.ค. 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง "เลขาธิการใหญ่ของ CPC" และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน" ตามความคาดหมาย และปูทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3
แต่เป็นที่น่าจับตาว่าในคณะ 7 ขุนพลชุดใหม่นี้ มีคนที่ "หลุดไป" หรือถูกเปลี่ยนตัวออกมากถึง 4 คน ก็คือ นายกรัฐมนตรี "หลี่ เค่อเฉียง" (Li Keqiang), หลี่ จ้านซู (Li Zhanshu), หวัง หยาง (Wang Yang) และ หาน เจิ้ง (Han Zheng) ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2-3 คน และในบรรดาคนใหม่ที่เข้ามาแทน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนวงในที่ สี จิ้นผิง ไว้ใจจริงๆ โดยมีดังนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า หากให้สรุป 3 คำ สำหรับ 7 ขุนพลนี้ ก็จะใข้คำว่า "ทีมสีจิ้นผิง สายปฏิรูป ทีมเศรษฐกิจ" โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หลี่ เฉียง (Li Qiang) - ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน
สายตรงคุมเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ ถึงแม้จะบริหารผิดพลาดในเรื่องโควิด แต่ก็ได้รับโอกาสอีกครั้ง ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี
Li Qiang เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1959 ในมณฑลเจ๋อเจียง ปัจจุบันอายุ 63 ปี เรียนจบทางด้านวิศวกรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเจ๋อเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของจีน
เริ่มต้นเข้าทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1983 โดยรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการของ Communist party Youth League จนได้รับตำแหน่งเลยเลขาธิการพรรคประจำเมือง Yongkang และ Wenzhou
และในปี 2005 เขาได้เป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมืองในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับเลขาธิการประจำมณฑลเจ๋อเจียงซึ่งก็คือสี จิ้นผิงในขณะนั้น
Li Qiang จบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Hong Kong polytechnic University
ในที่สุดเขาก็ได้ขึ้นเป็นรองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ๋อเจียงในปี 2011 พร้อมๆกับที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมสมัชชาสมัยที่ 18
ความใกล้ชิดกับ สีจิ้นผิง ทำให้เขาได้ร่วมคณะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งที่สีจิ้นผิงยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ปี 2016 เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคมณฑลเจียงซู ก่อนที่จะได้รับการโปรโมทอีกครั้ง โดยได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ในปี 2017 และด้วยตำแหน่งนี้ทำให้เขาได้อยู่ในกรมการเมือง ในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 19
-----------------
จ้าว เล่อจี้ (Zhao Leiji) - มือปราบคอร์รัปชั่น
ผลงานที่สำคัญที่สุดของ Zhao Leiji คือ การเป็นเลขาธิการของคณะทำงานปราบปรามคอรัปชั่น Central Commission for Discipline Inspection (CCDI) ที่เกิดขึ้นในยุคของ สี จิ้นผิง และปราบปรามคดีคอรัปชั่นได้อย่างเป็นรูปธรรม หาคนผิดมาลงโทษได้ถึง 650,000 กรณี จากที่มีข้อสงสัยร่วม 2 ล้านกรณี และมีมากกว่า 84,000 กรณี ที่ผู้ทำผิดยอมสารภาพ โดยเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจากการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI และ Big Data เข้ามาประยุกต์ใช้
Zhao Leiji เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1957 ที่เมือง Xining มณฑล Qinghai ปัจจุบันอายุ 65 ปี เขาเริ่มต้นเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่ปี 1975 ในช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และเมื่อเหตุการณ์เลวร้ายจบลง เขาก็เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่สอนเกษตรกร/ทหาร/นักศึกษา ไปพร้อมๆ กัน เมื่อผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักศึกษาจากวิทยาลัยนี้ก็ยังมีอยู่ พวกเขาจะทำการฝึกทั้งวิชาทหาร เดินแถว ออกกำลังกาย สวนสนาม เรียนทำการเกษตร และธุรกิจการเกษตร ควบคู่กับ การเรียนปรัชญาการเมืองคอมมิวนิสต์ และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เพื่อจบการศึกษาจะได้กลับไปทำงานให้พรรคเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่างๆ โดย Zhao Leiji เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็กลับไปทำหน้าที่สมาชิกพรรคที่ Qinghai
ปี 1999 เขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมืองบ้านเกิด ก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในระดับมณฑล นั่นคือ เลขาธิการพรรคประจำมณฑล Qinghai และเมื่อเขาควบคุมนโยบายของมณฑลได้อย่างเต็มที่ ผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการขยายโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ และเคร่งครัดเรื่องการลงทุนที่ต้องเป็นมิตรกับสภาวะแวดล้อม ร่วมกับการส่งเสริมการค้า การลงทุนอย่างเต็มที่ ทำให้ในระหว่าง ปี 2003 – 2007 ผลผลิตมวลรวมของมณฑล ปรับตัวสูงขึ้นถึง 300%
และเมื่อเขาได้รับการสนับสนุนให้ไปเป็นเลขาธิการพรรคที่มณฑล Shaanxi ในปี 2007 เขาก็ทำให้ในปี 2008 Shaanxi กลายเป็นมณฑลที่ GDP ขยายตัวสูงที่สุดในประเทศจีน ด้วยอัตรา 15% ผลงานที่เข้าตานี้เองทำให้เขาได้เข้ามาเป็นกรมการเมืองในปี 2012 การประชุมสมัชชาพรรคที่ 18 โดยควบคุมดูแลการจัดตั้งของพรรค และในปี 2017 การประชุมสมัชชาพรรคที่ 19 เขาก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง PSC ที่ดูแลคณะทำงานปราบปรามคอรัปชั่น Central Commission for Discipline Inspection (CCDI)
------------------
ไช่ ฉี (Cai Qi) - สหายเจ้อเจียง จาก New Zhejiang Army
Cai Qi เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปี 1955 ณ มณฑลฟูเจี้ยน อายุ 66 ปี จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี (เศรษฐศาสตร์การเมือง) โท (กฎหมาย) และ เอก (เศรษฐศาสตร์การเมือง) จากมหาวิทยาลัย Fujian Normal University
Cai Qi เข้าพรรคในปี 1975 โดยทำงานในระดับจังหวัดในมณฑล Fujian จนขึ้นสู่ตำแหน่งระดับผู้บริหารจังหวัด และย้ายมาทำงานที่มณฑล Zhejiang ในระดับรองเลขาธิการพรรคประจำจังหวัดในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ สี จิ้นผิง เข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ๋อเจียง
ซึ่งนั่นทำให้ Chi Qi ถูกพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม "New Zhejiang Army" หรือ ขุนพลของสี จิ้นผิง ที่ทำงานด้วยกันมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่พวกเขาเป็นผู้บริหารระดับมณฑล
ปี 2014 Cai Qi ได้รับการโปรโมทให้เข้ามาทำงานส่วนกลางด้านความมั่นคง ในกรุงปักกิ่ง โดยดำรงตำแหน่งเบอร์ 2 ของ National Security Commission (เทียบได้กับ สมช.) และในปี 2016/2017 เขาได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งในระดับเลขาธิการพรรคประจำมณฑล และงานสำคัญที่สุดที่เขาได้รับผิดชอบคือเป็นแม่งานในการจัดมหกรรมกีฬาที่สำคัญที่สุดของโลก นั่นคือ กีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 รวมทั้งยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือว่ามีผลงานดีเยี่ยมในทั้ง 2 หน้าที่
อีกหนึ่งมิติที่น่าสนใจของ Cai Qi คือ เขาเป็น active user ของ Weibo (เทียบเท่ากับ Twitter ในโลกตะวันตก) โดยใช้นามในโลก Social Media ว่า Cai Qi, a Bolshevik (แต่ตอนเปิด Account ใช้ชื่อว่า Qianshui ซึ่งแปลว่า นักดำน้ำ)
โดย Cai Qi มีผู้ติดตามมากกกว่า 10 ล้านคน โดยหลายๆ ครั้งเขากล่าวขานถึง สี จิ้นผิง ในโลก Social Media ด้วยคำว่า “Xi Dada” ซึ่งแปลว่า คุณพ่อสี และ “Boss Xi!”
--------------------------
หลี่ ซี (Li Xi) - ดาวรุ่งจากกวางตุ้ง
Li Xi เกิดเดือนตุลาคม 1956 ในมณฑล Gansu ปัจจุบันอายุ 65 ปี เริ่มเป็นสมาชิกพรรคในปี 1982 เขาทำงานให้กับพรรคจนได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำจังหวัด Zhangye ก่อนที่จะย้ายมาเป็นเลขาธิการพรรคประจำเมือง Yan’an มณฑล Shaanxi ในปี 2006 Yan’an ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะที่นี่คือจุดหมายปลายทางของการเดินทัพทางไกลในช่วงสงครามกลางเมือง ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปี 2011 เขาได้รับสนับสนุนให้ไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายจัดตั้งองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ มหานครเซี่ยงไฮ้ และเจริญเติบโตจนได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ก่อนที่จะถูกส่งกลับไปที่เมือง Liaoning มณฑล Gansu อีกครั้งเพื่อนำเอาประสบการณ์ที่เซี่ยงไฮ้ไปพัฒนาเมืองในพื้นที่ยากจนห่างไกล และได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำเมือง Liaoning ในปี 2015
ด้วยผลงานการพัฒนาเมืองที่โดดเด่นทำให้เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นมณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของประเทศจีน โดยเขาเข้ามารับตำแหน่งต่อจากอีก 1 ดาวรุ่งของพรรค นั่นคือ Hu Chunhua
ตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง เป็นอีก 1 ตำแหน่งที่มักจะเป็นเส้นทางของผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงของจีน ไม่ว่าจะเป็น อดีตเลขาธิการพรรค Zhao Ziyang, Xi Zhongxun คุณพ่อของสี จิ้นผิง, อดีตรองนายกรัฐมนตรี Zhang Dejiang และอดีตกรรมการถาวรกรมการเมืองอย่าง Li Changchun และ Wang Yang ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อนและด้วยตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง จึงทำให้ Li Xi ได้ขึ้นมาเป็นกรมการเมืองในปี 2017 ในการประชุมสมัชชาพรรคสมัยที่ 19
-------------------------------
หวัง ฮู่หนิง (Wang Huning) - กุนซือการเมือง
Wang Huning คือ มันสมองและกุนซือที่ทำหน้าที่วางหมากทางการเมืองมาแล้วตลอด 3 ยุคผู้นำที่ผ่านมา ทั้ง เจียง เจ้อหมิน, หู จินเทา และ สี จิ้นผิง ผู้สังเกตการณ์เรื่องจีนหลายท่านขนานนามเขาว่าคือ China’s Kissinger
เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1955 ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันอายุ 67 ปี Wang Huning เริ่มเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัย Shanghai Normal University และด้วยผลคะแนนดีเลิศ เขาได้รับข้อเสนอพร้อมทุนการศึกษาให้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของจีนทันที นั่นคือ มหาวิทยาลัย Fudan โดยเขาเลือกเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และจบปริญญาโทได้วุฒิกฎหมาย ในปี 1981 และเริ่มต้นการเป็นรองศาสตราจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดของจีนในขณะนั้น ก่อนที่จะได้เป็นศาสตราจารย์ เป็นผู้อำนวยการภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย Fudan ในปี 1995
Wang Huning เริ่มเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี 1984 และเป็นคณะทำงานร่างนโยบายด้านทฤษฎีการเมืองให้กับการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 13 (1987-1992) และทำงานด้านวิชาการให้พรรคมาโดยตลอด จนได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2002
ในสมัยการประชุมสมัชชาพรรคที่ 16 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง Secretariat of the CPC หรือเทียบเท่ากับ เลขานุการด้านกิจการการเมืองของผู้นำรุ่นที่ 4 หู จินเทา โดย Wang Huning ร่วมกับ Ling Jihua และ Chen Shiju คือ 3 บุคคลที่ร่างนโยบายให้กับพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีนในขณะนั้น
ปี 2012 ที่ สี จิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสมัยแรกใน การประชุมสมัชชาพรรคที่ 18 Wang Huning ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกกรมการเมือง และขึ้นเป็น คณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee: PSC) ในปี 2017 การประชุมสมัชชาพรรคที่ 19 โดยถือเป็น PSC คนแรกที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำมณฑล และขึ้นมาด้วยความเป็นสายวิชาการล้วนๆ (แทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยไปประจำการในต่างจังหวัดเลยด้วยซ้ำ)
ปี 2020 เขาคือ รองหัวหน้าคณะทำงานควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรี หลี่ เคอเฉียงเป็นหัวหน้า และใน
ปี 2021 เขาคือ ผู้ร่างเอกสารการทบทวนประวัติศาสตร์จีนครั้งที่ 3 ที่เป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อประกาศว่า สี จิ้นผิง คือผู้นำคนแรกของยุคที่ 3 ของจีน ที่มีเป้าหมายการสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity 共同富裕 Gòngtóng fùyù) ต่อจากยุคแรกที่จีนยืนขึ้นมาได้ ในยุคของประธานเหมา และยุคที่ 2 ที่คนจีนพอมีพอกิน ภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 2-5 เติ้ง เสี่ยวผิง, เจียง เจ๋อหมิน, หู จินเทา และสี จิ้นผิงใน 2 สมัยแรก
และในเมื่อ แนวคิดนำในยุคอนาคตของจีน คือ ความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) Wang Huning จึงเป็นอีก 1 คนที่ต้องจับตา
-----------------------------
ติง ซู่เสียง (Ding Xuexiang) - สายวิชาการ อายุน้อยสุด
Ding Xuexiang เกิดวันที่ 13 กันยายน 1963 ในมณฑลเจียงซู ปัจจุบันอายุ 60 ปี เขาจบการศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Yanshan University ในปี 1982 เริ่มต้นชีวิตการเมือง โดยการเป็นสมาชิกพรรคในปี 1984 และเริ่มต้นทำงานในมหานครเซี่ยงไฮ้ ในปี 1982 ณ Shanghai Research Institute of Materials
ในระหว่างทำงานเขาเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านการบริหารจัดการภาครัฐ จากมหาวิทยาลัย Fudan และด้วยประสบการณ์ทำงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาโดยตลอด ทำให้ในปี 1999 เขาได้รับตำแหน่ง Deputy Director ของ Shanghai Municipal Science and Technology Commission และได้รับตำแหน่งสูงสุดในมหานครเซี่ยงไฮ้ Secretary of the Political and Legal Committee of the Shanghai Municipal Party Committee
Ding Xuexiang ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 และขึ้นเป็นกรมการเมืองในปี 2017 โดยเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนและมีบทบาทในพรรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่จีนต้องการเป็นผู้นำเรื่องวิทยาศาสตร์ในเวทีโลก
---------------------------
จะเห็นได้ว่า PSC ทั้ง 7 คน ส่วนใหญ่เป็นทีมงานที่ทำงานกับสี จิ้นผิงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รู้มือกันดีอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้สามารถทำงานต่อยอดต่อเนื่องได้อย่างทันที มีประสิทธิภาพ และ ทั้ง 6 คนเป็นผู้นำสายปฏิรูป เน้นเศรษฐกิจ
ดังนั้นเชื่อว่า ในวันที่เศรษฐกิจโลก ถูกขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หลัก 3 เครื่อง คือ จีน (GDP ประมาณ18-19% ของโลก) สหรัฐ (GDP ประมาณ 15-16% ของโลก) และ ยุโรป (GDP ประมาณ 15% ของโลก)
และเราต้องไม่ลืมว่า เครื่องยนต์ที่ 2 และ 3 คือ สหรัฐ และยุโรป กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ถดถอย เครื่องยนต์เศรษฐกิจจีน คือความหวังเดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ขณะนี้เครื่องยนต์เครื่องนี้กำลังผ่อนคันเร่งจากนโยบาย Dynamic Zero-COVID แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทีมบริหารที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด จะนำพาการปฏิรูปต่อไป และสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เดินหน้า ซึ่งไทยเราเองที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่ากับทั้ง จีน สหรัฐ และยุโรป ก็จะพลอยได้อานิสงค์ไปด้วย