หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘เรือดำน้ำไททัน’ และลูกเรือผู้เคราะห์ร้ายทั้ง 5 คน คงทำให้หลายคนขยาดการดำน้ำ หรือนั่งเรือลงไปชมใต้ท้องทะเลไปอีกพักใหญ่ แต่มีชายชาวสหรัฐคนหนึ่งน่าจะคิดว่า นี่คือช่วงที่น่าตามไปเที่ยวที่สุดแล้ว
หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุอย่างในเคสของเรือดำน้ำ Titan ก็ดี มักทำให้ผู้คนหวาดกลัว สูญเสียความเชื่อมั่น และไม่อยากตีตั๋วไปยังสถานที่นั้นๆ อีกพักใหญ่
แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘Robert Zurgulis’ ชายชาวสหรัฐ ซึ่งเคยสร้างกระแสไวรัลเมื่อ 2 ปีก่อนจากการให้สัมภาษณ์ในรายการ Podcast but Outside ว่า ตัวเขามีกิจกรรมที่ชอบทำคือ การเดินทางไปยังประเทศที่เพิ่งเกิดการก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติไปหมาดๆ แม้ดูเป็นความคิดสุดเพี้ยน แต่นาย Robert ก็ชวนมองมุมกลับว่า มีข้อดีมากมายหลังจากเกิดเหตุร้าย เช่น ราคาถูกแสนถูก ไม่มีใครแย่งเที่ยว และยังได้รับความปลอดภัยขั้นพิเศษ พร้อมยกตัวอย่างประสบการณ์ทริปหลังโศกนาฏกรรมให้ฟังอีกด้วย อาทิ
-เดินทางไปยังเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อน ที่สนามบิน Ataturk : ทริปนี้ให้ความเป็นส่วนตัวกับ Robert แบบสุดๆ จากรถทัวร์ท่องเที่ยวที่ปกติรองรับผู้โดยสารได้ 50 คน เขาได้นั่งรถบัสคนเดียวทั้งคัน แถมยังได้พักราคาสุดพิเศษ ที่โรงแรมใกล้กับ ‘มหาวิหาร Hagia Sophia’ สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศตุรกี จากราคาคืนละราว 300 ดอลลาร์ เหลือเพียง 30 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย จากคืนละหมื่นกว่าบาท เหลือเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น!
- เดินทางไปยังประเทศโมรอคโค หลังเหตุการณ์ที่ 2 นักท่องเที่ยวหญิงถูกโจรฟันคอขาด ดับสยอง ที่โซนตั้งแคมป์บริเวณภูเขา Toubkal ซึ่ง Robert ก็ได้เข้าพักในเส้นทางเดียวกันกับที่เกิดเหตุ แม้เขาไม่ได้ให้รายละเอียด แต่เล่ารวมๆ ว่าราคาดีมาก และความปลอดภัยเป็นเลิศ
- เดินทางไปยังประเทศเปรู หลังเกิดแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ ด้วยตั๋วเครื่องบินไป - กลับ ราคาราว 280 ดอลลาร์ (9,870 บาท) จากปกติราคาเที่ยวละราว 1 - 4 หมื่นบาท ถูกลงไปกว่าครึ่ง ไปจนถึงเกือบ 90% เลย
นี่คงเป็นหนึ่งแนวคิดสุดพิสดาร ที่คิดมุมกลับจากคนทั่วไป เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีฝันใหญ่อยากเที่ยวรอบโลก แต่มีงบจำกัด หากพิจารณาเรื่องความปลอดภัยอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว ‘การเที่ยวหลังโศกนาฏกรรม’ ก็ดูเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ประหยัด ปลอดภัย และได้รับความเป็นส่วนตัวแบบสุดๆ
ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์กลัวที่จะไปเยือนในสถานที่ที่เคยเกิดโศกนาฏกรรม อาทิ เหตุก่อการร้าย ฆาตกรรม น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คือการที่เรากลัว ‘ความเสี่ยง’ ที่สถานการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจแบ่งการมองออกได้เป็น 2 มุมด้วยกัน
ในมุมหนึ่ง จากมุมมองของจิตวิทยา ความเสี่ยงเหล่านี้ อาจมีโอกาสน้อยที่เกิดจะเกิดขึ้นซ้ำสอง ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยจากงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการก่อการร้ายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จาก Journal of Religious Tourism and Pilgrimage เผยว่า ความเสี่ยงที่มนุษย์จะเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายนั้น มีสถิติใกล้เคียงกับการเสียชีวิตจากการจมน้ำในอ่างอาบน้ำที่บ้าน
แม้โอกาสไม่สูง แต่มีผลต่อจิตใจอย่างมหาศาล และสื่อมวลชนเอง ก็กระพือข่าวเหล่านี้ สร้างความหวาดกลัวขึ้นในจิตใจคน ทำให้ในขั้นตอนการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยว เรามักตัดสถานที่ที่เคยเกิดโศกนาฏกรรมออกไป ซึ่งเป็นไปตามหลัก ‘การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion)’ ที่ว่า มนุษย์มักมองหาตัวเลือกที่มีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยง แม้ความเสี่ยงนั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยนิดก็ตาม
และยังเป็นไปตาม ‘เหตุผลวิบัติของนักการพนัน (Gambler’s Fallacy)’ หรือความเชื่อผิดๆ ของมนุษย์ที่เชื่อว่า เมื่อเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าปกติในช่วงหนึ่ง ก็มักจะเกิดขึ้นต่อไปอีก เหมือนอย่างที่นักพนันเชื่อว่าตัวเองกำลัง ‘มือขึ้น’ และจะจั่วได้ไพ่ดี ทั้งๆ ที่ความน่าจะเป็นของครั้งนี้ก็ยังคงเหมือนกับครั้งก่อนๆ
แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่โศกนาฏกรรมจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หากเป็นผลพวงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แรก เช่น พื้นที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหว อาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้อีกครั้งหนึ่ง หรือประเทศที่อยู่ในความไม่สงบและเพิ่งเกิดเหตุก่อการร้าย ก็อาจจะมีเหตุการณ์ต่อๆ ไปเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เหล่านี้ไม่ใช่ ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้จริงจากเหตุผลด้านวิทยาศาสร์ และภูมิรัฐศาสตร์
ไม่ว่าจะเป็นการมองจากมุมมองแรก หรือมุมมองที่สอง โศกนาฏกรรมต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยมากมายที่พูดถึงผลกระทบจากทั้งการก่อการร้าย และภัยธรรมชาติ ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลง ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่อประเทศจุดหมายปลายทางที่ลดลง รวมไปถึงภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย
หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ เหตุการณ์ ‘911’ ที่เกิดขึ้นที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์เหล่านั้นไม่เพียงสร้างความเสียหายจริงๆ ให้กับทรัพย์สินและชีวิตของผู้คน แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เมืองนิวยอร์ก ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐอเมริกาในภาพรวม และความกลัวที่จะเดินทางโดยสายการบินของผู้คนทั่วโลก จากสถิติพบว่า หลังเหตุการณ์ 911 เที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่สหรัฐมีผู้โดยสารลดลงทันทีราว 50% และที่พักในสหรัฐก็ถูกยกเลิกในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เหตุก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ ‘บั่นทอน’ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นระดับธุรกิจ ระดับพื้นที่ หรือระดับประเทศ ที่จะต้องตรวจสอบความผิดปกติ สร้างมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงกู้ภาพลักษณ์หากเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดเกิดขึ้นแล้ว เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศทั่วโลก และมีประชาชนที่เกี่ยวข้องมากมายจะต้องเสียประโยชน์จากความกลัวของนักท่องเที่ยวที่เกินจริง
ที่มา : PodcastButOutside, Journal of Religious Tourism and Pilgrimage, Journal of Tourism Management, Investopedia