หลังจากที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18
เช่นเดียวกันกับการผลักดันของรัฐบาลไทย ได้มีการจัดงาน มหาสงกรานต์ World Songkran Festival เป็นหมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย.นี้ เพื่อหวังให้ สงกรานต์ไทย จะเป็นหนึ่งในพลังซอฟต์พาวเวอร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ต่อยอดไปสู่ภาคเศรษฐกิจ เป็นเม็ดเงิน และรายได้สู่ประชาชน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผย ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสงกรานต์ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,280 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-30 มี.ค.2567 พบว่า ปีนี้ประชาชน ตั้งใจจะไปเล่นน้ำสงกรานต์และไปทำบุญมากที่สุด
ซึ่งจังหวัดที่คนนิยมไปท่องเที่ยวมากที่สุดได้แก่ ภาคกลาง 40.2% ได้แก่ ชลบุรี อยุธยา กาญจนบุรี และระยอง
ขณะที่ผลสำรวจภาคเอกชนต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 67 พบว่า มีการจัดงานรื่นเริงช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้น 50.5% และมองว่าบรรยากาศของเทศกาลสงกรานต์โดยรวมของประเทศคึกคักกว่าปี 66 อยู่ที่ 45.9%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้คาดการณ์ว่า เงินจะสะพัดช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 128,834.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปี 66 เงินสะพัดอยู่ที่ 125,203.29 ล้านบาท
และสงกรานต์ในปี 67 ถือเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 63 แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายสถิติช่วงปี 62 ที่มีเงินสะพัดอยู่ที่ 135,837.56 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายธนวรรธน์ยังประเมินว่า ในส่วนของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วงระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย. รวม 21 วัน ที่รัฐบาลสนับสนุนให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ให้สงกรานต์เป็นเทศกาลระดับโลก คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,954,607 คน จะมีรายได้ 69,397.20 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงมองว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะทำให้สงกรานต์ของไทยในปีนี้คึกคักมากยิ่งขึ้น และหากรวมเงินหมุนเวียนในช่วงเทศกาลทั้งหมดจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 1.11%
ที่มา : มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย