เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 ผู้พิพากษาเขตของสหรัฐฯ เจมส์ โบสเบิร์ก ในกรุงวอชิงตันระบุในคำวินัยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “อาจเผชิญ” กับข้อหาหมิ่นศาลทางอาญา เนื่องจากการดำเนินงานนั้นสะท้อนให้เห็นถึง “การเพิกเฉยโดยเจตนา” ต่อคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 ของผู้พิพากษาโบสเบิร์กให้หยุดการเนรเทศตามพระราชบัญญัติปี 1798
การเนรเทศครั้งนี้เป็นหนึ่งในความพยายามมากมายของสหรัฐฯ ที่จะไล่ต้อนผู้อพยพออกไปจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่โดนัลด์ ทรัมป์ใช้หาเสียง ก่อนจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 การเนรเทศครั้งนี้พุ่งเป้าไปยังบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐฯ คิดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรต่างชาติที่ชื่อ เตรน เด อารากัว (Tren de Aragua: TdA) จากเวเนซุเอลา เนื่องจากทรัมป์กล่าวว่า กลุ่ม TdA “กำลังเตรียมการ มุ่งหมาย และข่มขู่จะรุกรานหรือบุกรุกโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ต่อดินแดนของสหรัฐอมเริกา”
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ส่งตัวผู้อพยพกว่า 200 คนไปคุกขังในเรือนจำ Centro de Confinamiento del Terrorismo (CECOT) หรือศูนย์กักกันการก่อการร้าย เรือนจำที่ใหญ่และมีความปลอดภัยสูงสุดในทวีปอเมริกา เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ได้ทำข้อตกลงกับ ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ไนยิบ บูเคเล ผู้เสนอใช้เรือนจำขนาดมหึมานี้รองรับผู้อพยพและนักโทษสหรัฐฯ
การส่งตัวผู้อพยพครั้งนี้ดำเนินการด้วยความรวดเร็วเนื่องจากทรัมป์ยกกฎหมายภาวะสงครามมาใช้ นั่นคือ พระราชบัญญัติศัตรูต่างด้าว ปี 1798
พระราชบัญญัติศัตรูต่างด้าว ปี 1798 (Alien Enemies Act, 1798) เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และ 3 ครั้งก่อนหน้าทรัมป์ล้วนเป็นการใช้ในภาวะสงคราม (สงครามปี 1812, สงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามโลกครั้งที่ 2)
กฎหมายนี้มอบอำนาจให้ประธานาธิบดีสามารถจับกุมและเนรเทศพลเมืองได้ และโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสืบพยาน แต่ใช้เพียงประเทศถิ่นกำเนิดหรือสัญชาติในการพิจารณาเนรเทศเท่านั้น ทนายสิทธิมนุษยชนและครอบครัวของผู้ถูกเนรเทศออกมาร้องว่า ผู้ถูกเนรเทศหลายคนไม่ใช่สมาชิกกลุ่มอาชญากรและไม่เคยได้รับสิทธิให้คัดค้านการจับกุมเลย
กรณีที่เป็นที่สนใจมากคือกรณีของ คิลมาร์ อะเบรโก การ์เซีย ชายชาวเอลซัลวาดอร์ผู้ถูกส่งตัวไปกักขังในคุก CECOT เพราะ “ความผิดพลาดในการดำเนินงาน” ตามคำแถลงของเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา (ICE) อะเบรโก การ์เซียถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย MS-13 ขณะที่ทนายของเขาชี้ว่าเขาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับกลุ่มและไม่มีประวัติอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อนำตัวผู้บริสุทธิ์กลับมา
ผู้พิพากษา เจมส์ โบสเบิร์ก ได้เรียกพิจารณาเร่งด่วนวันเดียวกันกับที่เครื่องบิน 3 ลำบรรจุผู้ถูกเนรเทศบืนจากสหรัฐฯ ตรงไปเรือนจำที่เอลซัลวาดอร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568 เพื่อระงับการดำเนินการเนรเทศผู้อพยพและสั่งให้เที่ยวบินเล่านั้นบินกลับสหรัฐฯ
“ศาลได้วินิจฉัยในที่สุดว่าการกระทำในวันนั้นของรัฐบาลแสดงให้เห็นถึง การเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลโดยเจตนา เพียงพอให้ศาลสรุปได้ว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่ารัฐบาลได้กระทำการหมิ่นศาลทางอาญา” ผู้พิพากษาโบสเบิร์กเขียนลงในคำวินิจฉัยยาว 46 หน้า และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า
“ศาลมิได้สรุปความอย่างเบาใจหรือเร่งรีบแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ศาลเปิดโอกาสให้จำเลยได้แก้ไขหรือชี้แจงการกระทำของตนอย่างเพียงพอแล้ว [...] ไม่มีคำชี้แจงใดเป็นที่พึงพอใจ”
ผู้พิพากษาโบสเบิร์กกล่าวว่า รัฐบาลยังสามารถหลีกเลี่ยงไม่ถูกตัดสินว่าหมิ่นคำสั่งศาลได้ด้วยการเชื่อฟังคำสั่งของเขาในทันที นั่นคือการเปิดโอกาสให้ผู้อพยพยื่นคำร้องคัดค้านการเนรเทศในชั้นศาล เขาให้เวลารัฐบาลถึงวันที่ 23 เมษายนเพื่อร่างวิธีการดังกล่าว ว่าจะดำเนินการอย่างไร หรืออีกทางหนึ่งคือชี้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ตัดสินใจเพิกเฉยต่อคำสั่งของเขา เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะถูกดำเนินคดีเป็นรายบุคคล
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต คริส แวน ฮอลเลน เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (16 เมษายน 2568) ว่า ทางการเอลซัลวาดอร์ปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าพบ คิลมาร์ อะเบรโก การ์เซีย ชายที่ถูกส่งตัวไปคุมขังในศูนย์กักกันการก่อการร้ายด้วยความผิดพลาด
ฮอลเลนผู้เป็นคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ (U.S. Senate Foreign Relations Committee) เดินทางไปเอลซัลวาดอร์เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อเจรจาการปล่อยตัวของ อะเบรโก การ์เศีย แต่รองประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ เฟลิกซ์ อูโยอา กล่าวว่า เขาไม่สามารถจัดการให้ฮอลเลนเข้าเยี่ยมอะเบรโก การ์เซียได้ และกล่าวว่าไม่สามารถปล่อยตัวอะเบรโก การ์เซียได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จ่ายเงินให้เอลซัลวาดอร์ควบคุมตัวนักโทษเหล่านี้ ข้อตกลงดังกล่าวมีราคา 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐแลกกับการคุม 1 ปี
“ทำไมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงควรที่จะจ่ายเงินให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ควบคุมตัวชายที่ถูกลักพาตัวมาอย่างผิดกฎหมายจากสหรัฐฯ ทั้งที่ไม่เคยก่ออาชญากรรมใด” ฮอลเลนกล่าว
ด้านโฆษกทำเนียบขาว แคโรไลน์ ลีวิตต์ กล่าวว่า วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตกำลังใช้ภาษีของพลเมืองสหรัฐฯ บินไปเอลซัลวาดอร์เพื่อเรียกร้องการปล่อยตัวของ “คนต่างด้าวผิดกฎหมายและผู้ก่อการร้าย MS-13”
“ช่างหน้าเศร้าที่วุฒิสมาชิกแวน ฮอลเลและพรรคเดโมแครตผู้ชื่นชมการเดินทางไปเอลซัลวาดอร์วันนี้ของเขา กลับไม่สามารถแสดงความมีสามัญสำนึกหรือความเห็นอกเห็นใจแม้แต่น้อยต่อประชาชนของตนเองและพลเมืองของเราได้เลย” ลีวิตต์กล่าวกับผู้สื่อข่าว