กรณีที่อินโดนีเซียประกาศห้ามให้ Apple ขาย iPhone 16 ทุกรุ่นภายในประเทศ เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ต้องมีเนื้อหาภายในประเทศ 40% สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ล่าสุด Apple ตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่มเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 340.80 ล้านบาท เพื่อพยายามให้อินโดนีเซียยกเลิกการห้ามขายสมาร์ทโฟนเรือธงนี้
อินโดนีเซียยอมให้ Apple กลับมาขาย iPhone 16 หลังลงทุน 10 ล้านดอลลาร์ฯ
แหล่งข่าว เผยว่า Apple มีแผนจะลงทุนในโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองบันดุง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจาการ์ตา โดยร่วมมือกับซัพพลายเออร์ของบริษัท เพื่อผลิตสินค้า เช่น อุปกรณ์เสริม และส่วนประกอบสำหรับอุปกรณ์ของ Apple
Apple ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งได้ระงับใบอนุญาตในการจำหน่าย iPhone 16 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากหน่วยงานในประเทศของ Apple ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามตกลงไว้ ทำให้ทางกระทรวงกำลังพิจารณาข้อเสนอนี้ และยังไม่ได้ตัดสินใจในเร็วๆ นี้ เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
การห้ามจำหน่าย iPhone 16 ของอินโดนีเซีย รวมถึง การห้าม Alphabet ขายโทรศัพท์ Google Pixel เป็นตัวอย่างของรัฐบาลใหม่ภายใต้ประธานาธิบดี ปราโบโว ซูบียันโต ที่เพิ่มแรงกดดันให้บริษัทต่างชาติลงทุน และเพิ่มการผลิตภายในประเทศ เพื่อเป็นการปกป้อง และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศนั่นเอง
โดยเมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลได้ออกกฎห้ามนำเข้าสินค้าหลายพันรายการ ตั้งแต่ MacBook จนถึงยางรถยนต์และสารเคมี เพื่อบังคับให้บริษัทต่างชาติเพิ่มการผลิตในประเทศ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้เล่นที่มีฐานการผลิตในประเทศมายาวนานอย่าง LG Electronics ที่ไม่สามารถนำเข้าส่วนประกอบบางประเภทเพื่อผลิตเครื่องซักผ้าและโทรทัศน์ได้
การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นการสานต่อกลวิธีที่คล้ายคลึงกับช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี โจโก วิโดโด เมื่อปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ปิดกั้น ByteDance เพื่อปกป้องภาคค้าปลีกของตน จากสินค้าราคาถูกที่ผลิตในจีน ส่งผลให้บริการวิดีโอยอดนิยมนี้ต้องลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 51,120 ล้านบาท ในการร่วมทุนกับ Tokopedia ซึ่งเป็นแผนกอีคอมเมิร์ซของ GoTo Group ของอินโดนีเซีย
Apple ไม่มีโรงงานแบบสแตนด์อโลนในอินโดนีเซีย และเช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ Apple จับมือกับซัพพลายเออร์ในพื้นที่ เพื่อผลิตส่วนประกอบหรือสินค้าสำเร็จรูป การลงทุนเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นเงินที่ค่อนข้างน้อยสำหรับ Apple ที่ต้องจ่ายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในอินโดนีเซียกว่า 278 ล้านคนได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีอายุต่ำกว่า 44 ปี และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียอาจมองว่า การลงทุนเพิ่มเติมของ Apple ถือเป็นชัยชนะ แต่การใช้อำนาจในทำนองนี้ ขัดขวางไม่ให้บริษัทอื่นๆ ขยายฐานการผลิต หรือสร้างฐานการผลิตตั้งแต่แรก โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการลดการพึ่งพาจากจีน รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของปราโบโว ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และระดมทุนเพื่อใช้จ่ายด้านนโยบาย
Lydia Ruddy กรรมการผู้จัดการหอการค้าอเมริกันในอินโดนีเซีย กล่าวว่า นโยบายของอินโดนีเซีย ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนลดลง เพราะการที่บริษัทต่างชาติจะปฏิบัติตามเกณฑ์ได้นั้น ถือเป็น ‘ความท้าทายอย่างยิ่ง’ เนื่องจากส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศ มักจะไม่มีจำหน่ายในภาคส่วนต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยา อุปกรณ์การแพทย์ และพลังงานหมุนเวียน
“สิ่งนี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติ หากพวกเขาไม่สามารถนำเข้าสินค้าหรือวัสดุที่ต้องการได้ และสินค้าหรือวัสดุดังกล่าวยังไม่มีจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ บริษัทต่างๆ ก็จะหันไปหาตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคแทน” Ruddy กล่าว
ทั้งนี้ ถึงแม้อินโดนีเซียจะเรียกร้องให้บริษัทต่างชาติเร่งการผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศกลับซบเซา การผลิตเป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงเหลือ 18.7% เมื่อปีที่แล้ว จากสัดส่วนที่ 21.1% ในปี 2014
ที่มา Bloomberg, Financial Times