ไลฟ์สไตล์

เปิดที่มา ไข่เจียวปู-ข้าวซอย-ไส้กรอกอีสาน 3 จานสุดยอดสตรีทฟู้ดของ CNN

29 ส.ค. 65
เปิดที่มา ไข่เจียวปู-ข้าวซอย-ไส้กรอกอีสาน 3 จานสุดยอดสตรีทฟู้ดของ CNN

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘อาหาร’ เป็นหนึ่งใน soft power ที่ทรงพลังที่สุดของไทย เพราะถ้ามีการจัดอันดับอาหารที่ต้องลองในเอเชียหรือในโลกเมื่อไหร่ ยังไม่ต้องกดเข้าไปดูก็เดาไว้ก่อนได้เลยว่าต้องมีอาหารไทยติดเข้ารายชื่อไปซักจานสองจาน 

โดยเฉพาะบรรดา ‘อาหารข้างทาง’ หรือ street food ที่กลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทยในสายตาชาวต่างชาติไปแล้ว เพราะตั้งแต่ต้นปีก็ผลัดกันขึ้นพาดหัวข่าวมาตลอด ทั้ง ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ที่แร็ปเปอร์สาว มิลลิ นำขึ้นไปกินโชว์บนเวทีโคเชลล่าจนกลายเป็นกระแส และ ‘ข้าวซอย’ ที่ขึ้นแท่นเป็น ‘ซุปที่อร่อยที่สุด’ การันตีโดยนักรีวิวอาหารทั่วโลก

จึงไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อเปิดรายชื่อ 50 อาหารข้างทางที่ดีทื่สุดในเอเชียของ CNN เข้าไปแล้วพบว่าอาหารข้างทางของไทยติดเข้าไปถึง 3 อย่าง 3 ภาค ด้วยกันคือ ไข่เจียวปูจากภาคกลางและตะวันออก ข้าวซอยจากภาคเหนือ และไส้กรอกอีสานจากภาคอีสาน 

ซึ่งถึงแม้อาหารเหล่านี้จะเป็นอาหารพื้นถิ่นที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะหากินได้ในทุกหัวมุมถนน หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้ว่าอาหารชื่อดังสามจานนี้มีที่มาจากไหน เป็นมาอย่างไรกว่าจะกลายมาเป็นอาหารติดอันดับโลกแบบในปัจจุบัน

ในบทความนี้ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนตำนาน เปิดต้นกำเนิดอาหารไทยที่ผสมผสานกรรมวิธีการทำอาหารของชาวต่างชาติเข้ากับวัตถุดิบของไทยออกมาได้อย่างกลมกล่อมเหล่านี้กัน

 

‘ไข่เจียวปู’ 

อาหารติดดาวมิชลิน ที่เกิดจากอุปกรณ์และกรรมวิธีการทำอาหารของคนจีน

istock-1284029492

ไข่เจียวปูของไทยเคยเป็นที่พูดถึงในทั้งหมู่คนไทยและคนต่างชาติมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อมิชลินไกด์ติดดาวมิชลิน ‘หนึ่งดาว’ ให้ไข่เจียวปูเนื้อแน่นราคา 1,000 บาท ส่งร้าน “เจ๊ไฝ” ขึ้นแท่นเป็นร้านอาหารสตรีทฟู้ดร้านแรกของโลกที่ได้ดาวมิชลินไปในปี 2018

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชื่อมิชลินจะทำให้คนทั่วไปจะติดนึกถึงร้านเจ๊ไฝเมื่อพูดถึงไข่เจียวปู แท้จริงแล้วเมนูนี้ไม่ใช่เมนูแปลกพิศดารหากินยากแต่อย่างใด เพราะถ้าดูแล้ววิธีทำก็ง่ายๆ คือนำเนื้อปูม้านึ่งสดๆ มาทอดกับไข่ในน้ำมันท่วมๆ ด้วยวิธีการ ‘เจียว’ ซึ่งเป็นกรรมวิธีทำอาหารสามัญธรรมดาที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นวิธีการทำอาหารของไทยไปแล้ว

แต่ก็เช่นเดียวกับวิธีการทำอาหารอีกหลายอย่างเช่น การผัด และการตุ๋น การ ‘เจียว’ นั้นแต่ดั้งเดิมเป็นกรรมวิธีการทำอาหารของคนจีน

โดยข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรมระบุว่าคำว่า ‘เจียว’ ที่คนไทยใช้กันนั้น เป็นคำที่เรายืมมาจากคำภาษาจีนแต้จิ๋ว “焦” อ่านว่า เจียว ที่หมายถึงความกรอบไหม้ของอาหาร 

แต่คำศัพท์ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เรายืมมาจากจีน เพราะการทอดอาหารให้สุกในน้ำมันนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดกระทะโลหะทรงกลมก้นลึกหรือ ‘wok’ ที่เรารับมาจากจีนตั้งแต่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 20

istock-149425094

โดย wok เป็นอุปกรณ์ที่นำความร้อนได้ดีกว่าเครื่องครัวดินเผาที่คนในภูมิภาค 'อุษาคเนย์' ใช้กันแพร่หลายในสมัยก่อน นักประวัติศาสตร์จังสันนิษฐานกันว่ากรรมวิธีการเจียวนั้นเข้ามาพร้อมกับอุปกรณ์จากจีนชิ้นนี้

 

‘ข้าวซอย’ 

ซุปเลิศรสอันดับหนึ่งของโลกที่เกิดจากวัฒนธรรม จีนฮ่อ-ไทใหญ่-ล้านนา

istock-1309506339

ถัดจากไข่เจียวปู เมนูอาหารไทยอีกหนึ่งที่ในตอนนี้ฮิตไม่แพ้กันก็คือ ‘ข้าวซอยน้ำกะทิ’ ที่นักรีวิวอาหารเพิ่งยกให้เป็นซุปที่ดีที่สุดในโลก

สำหรับคนไทยในปัจจุบัน อาหารชนิดนี้อาจเป็นที่รู้จักในฐานะอาหารถื่นของเมืองเชียงใหม่ แต่แท้จริงแล้วอาหารนี้เกิดจากการผสมทางวัฒนธรรมของคนจาก 3 พื้นที่ด้วยกัน คือ จีนฮ่อ ไทใหญ่ และล้านนา โดยหลักฐานจะเห็นได้จากส่วนผสมของข้าวซอยที่มีเส้นที่มีวิธีทำคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวของคนจีน ส่วนผสมของกะทิในน้ำซุปและเส้นทอดกรอบจากชาวไทใหญ่ และส่วนผสมอื่นๆ เช่นการใส่เนื้อสัตว์และเครื่องปรุงที่คนล้านนาใส่เพื่อพัฒนาสูตรเรื่อยมาจนกลายมาเป็นข้าวซอยหน้าตาแบบในปัจจุบัน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ข้าวซอยเข้ามาครั้งแรกพร้อมชาวจีนฮ่อ ชาวจีนมุสลิมจากยูนนานที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับคนไทยล้านนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ก่อนตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ในพุทธศตวรรษที่ 20 และนำวัฒนธรรมอาหารการกินเข้ามาด้วย
 
และหนึ่งในนั้นก็คือเมนูเส้นที่ทำมาจากแป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันแล้วนวด กดรีดให้เป็นแผ่น แล้วเอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้น กินกับน้ำซุปเหมือนกับก๋วยเตี๋ยว ที่ชาวจีนฮ่อเรียกว่า “ข้าวซอย”
 
โดยดั้งเดิมแล้วข้าวซอยฮ่อจะกินกับเนื้อวัวบดและผักดอง และ ‘ไม่ใส่น้ำกะทิ’ เรียกว่า ‘ข้าวซอยน้ำใส’ แต่ชนชาติที่นำน้ำกะทิและเส้นทอดกรอบมาประยุกต์ใส่ในข้าวซอย จนกลายเป็นข้าวซอยน้ำกะทิอย่างในทุกวันนี้ก็คือ ‘ชาวไทใหญ่’ จากเมียนมาที่มาตั้งรกรากในไทย และเป็นคนนำอาหารใส่กะทิอื่นๆ เช่น ‘แกงฮังเล’ เข้ามาในภาคเหนือของไทยที่ภูมิอากาศไม่เหมาะกับการปลูกมะพร้าวด้วย



‘ไส้กรอกอีสาน’ 

อาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาการถนอมอาหารของคนอีสาน

istock-487386778

 

มาถึงอาหารประเภทสุดท้ายที่คนไทยคุ้นตาคุ้นปากกันดีอย่าง ‘ไส้กรอกอีสาน’ อาหารรสเปรี้ยวที่มีส่วนผสมหลักคือเนื้อหมู กระเทียม และข้าว กินแนมกับพริก ขิงดอง และกะหล่ำปลีหั่น

อาหารชนิดนี้เกิดจากภูมิปัญญาของนายพรานอีสานในสมัยก่อน ที่พยายามคิดค้นหาวิธีถนอมเนื้อที่ล่าได้เพื่อเก็บกลับไปให้คนที่บ้านกิน ซึ่งนอกจากการทำการเอาไปตากแห้งทำเนื้อแดดเดียว หรือเอาเนื้อไปรมควันแล้ว วิธีหนึ่งที่ช่วยให้นายพรานถนอมเนื้อสัตว์ได้ก็คือ การเอาเนื้อไปสับ หมักกับกระเทียมและเกลือ ยัดเข้ากระเพาะสัตว์ และมัดเป็นปล้องๆ เก็บทิ้งไว้
 
จนเวลาผ่านไป กว่านายพรานจะได้ออกจากป่ากลับไปหาครอบครัว มันก็กลายเป็น ‘ไส้กรอก’ หรือ ‘หม่ำอีสาน’ ของฝากรสเปรี้ยวที่นำมาย่างกินเล่นแบ่งกันในครอบครัวได้

แต่ถึงแม้จะมีวิธีทำคล้ายกัน สิ่งที่ทำให้หม่ำต่างจากไส้กรอกอีสานที่มาทีหลังก็คือ ไส้กรอกอีสานจะใส่ข้าวหรือบางทีก็มีวุ้นเส้นเข้าไปผสม ทำให้หม่ำมีลักษณะและเนื้อสัมผัสคล้ายไส้กรอกทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันมากกว่าไส้กรอกอีสานที่เหมือนเป็นข้าวหมักยัดไส้หมู

 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ถึงแม้อาหารเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติในฐานะอาหารริมทาง ‘ประจำชาติไทย’ แท้จริงแล้วอาหารเหล่านี้เกิดจากการผสมผสานและปฏิสัมพันธ์ของคนหลายเชื้อชาติที่มาอยู่ร่วมกันเป็นชนชาติไทย 

จึงนับได้ว่า ‘อัตลักษณ์ไทย’ หลายๆ อย่างที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยนั้นไม่ได้มีแต่วัฒนธรรม ‘ไทยกลาง’ ที่ีต้นกำเนิดมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นอันหลากหลายที่ทำให้เกิด ‘พลวัต’ (dynamic) ที่ทำให้ประเทศไทยมีความหลากหลายรุ่มรวยทางวัฒนธรรมทางการกิน และกลายเป็นหนึ่งใน ‘มหาอำนาจด้านอาหาร’ แบบในปัจจุบัน 


ที่มา: CNN, Silpa Mag, True ID 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT