ประเด็นที่ว่า “Sharenting” หรือการเลี้ยงลูกแบบแชร์ภาพถ่ายและทุกพัฒนาการของลูก เป็นการละเมิดสิทธิเด็กนั้นเป็นที่พูดถึงมาหลายปีแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าการแชร์รูปและข้อมูลส่วนตัวของลูกลงอินเทอร์เน็ตนอกจากอาจจะทำให้ลูกอับอายเมื่อโตขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายความปลอดภัยในโลกออนไลน์ของลูกในอนาคตด้วย
ในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่จะน่าอยู่บนฟีดโซเชียลมีเดียของหลายๆ คนก็คือรูปเด็กน้อยในอิริยาบถน่ารักน่าเอ็นดูต่างๆ ที่พ่อแม่ถ่ายแชร์ลงอินเทอร์เน็ตเพื่อแบ่งปันความน่ารักสดใสให้คนรอบตัวดู หรือบางคนก็บันทึกพัฒนาการของลูกลงโซเชียลมีเดียไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินก้าวแรก วันเกิดแรก สัตว์เลี้ยงตัวแรก หรือความสำเร็จต่างๆ ของลูก เพื่อเป็นการบันทึกช่วงเวลาชีวิตหนึ่งของลูกไว้ให้เขาดูเมื่อเติบโตขึ้น
แต่ถึงแม้พ่อแม่หลายๆ คนอาจจะมองว่าการทำแบบนี้คือการแสดงความรักความเอ็นดู เป็นสิทธิของพ่อแม่ หรือเป็นการกระทำที่ไม่มีพิษมีภัยอะไร ผลกระทบที่ตามมาจากการแชร์ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้อาจร้ายแรงกว่าที่คิด โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เพราะกว่าที่ลูกคุณจะโต มิจฉาชีพก็จะมีข้อมูลมหาศาลไว้แฮกเข้าแอคเคาท์ส่วนตัว หลอกลวงเอาเงิน หรือขโมยตัวตนของลูกคุณในอนาคต
เสี่ยงถูกขโมยตัวตนตั้งแต่เกิด ในยุคที่ข้อมูลส่วนตัวหาได้ฟรีๆ ในอินเทอร์เน็ต
ในปัจจุบัน พ่อแม่หลายคนนิยมบันทึกชีวิตและข้อมูลของลูกคล้ายไดอารี่ในอินเทอร์เน็ต เริ่มตั้งแต่การโพสรูปอัลตราซาวน์ ประกาศเพศลูก ประกาศชื่อและวันเกิด(หรือบางครั้งก็เวลาเกิด)ของลูก พร้อมโพสต์ทุกการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นวันที่ไปโรงเรียนวันแรก วันที่เรียนจบ หรือความชอบส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นสีที่ชอบ อาหารที่ชอบ จนเรียกได้ว่าในวันข้างหน้าถ้ามีมิจฉาชีพคนไหนต้องการข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้ทำอาชญากรรมทางไซเบอร์ พวกเขาก็อาจเจอสิ่งที่ตามหาได้ง่ายๆ ในเพจเฟซบุ๊กของบุพการีของเด็กคนนั้นเอง
จากการรายงานของ The Wall Street Journal ตัวอย่างของการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้อย่างง่ายๆ คือการแฮกผ่านคำถามเพื่อความปลอดภัยของแอคเคาท์ส่วนตัวต่างๆ เพราะหลายๆ แพลตฟอร์มหรือบริการทางออนไลน์มักจะมีระบบให้ตอบคำถามส่วนตัวที่ควรจะมีแต่เราที่รู้คำตอบ อย่างเช่น บ้านเกิดของแม่ เวลาเกิดของเรา หรือชื่อสัตว์เลี้ยงตัวแรก ให้เราตอบเวลาต้องการจะกู้แอคเคาท์เมื่อเราลืมรหัสอยู่เสมอ
แต่ในอนาคตที่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กคงอยู่อย่างถาวรบนโลกออนไลน์ วีธีป้องกันด้วยคำถามส่วนตัวแบบนี้อาจไม่มีประโยชน์อะไรเสียแล้วเมื่อพวกเขาไม่มีความเป็นส่วนตัวมาตั้งแต่เกิด
โดยจากการวิเคราะห์ของ Barclays Bank ภายในปี 2030 หรืออีกเพียง 8 ปีนับจากนี้ จะมีคนถูกขโมยตัวตนมากถึง 7.4 ล้านคนในแต่ละปี เพราะเด็กที่เติบโตมาในยุคหลังจะมีข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากอยู่ในระบบ ทำให้อาชญากรเหล่านี้สามารถแฮกข้อมูลส่วนตัว และทำ data mining นำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้โกงเงิน นำไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่ขอกู้เงินในชื่อโดยที่เจ้าของชื่อไม่รู้ตัวได้ง่ายๆ
มีรูปเยอะบนโลกออนไลน์ เสี่ยงถูกนำไปทำ deepfake
นอกจากเสี่ยงสร้างความอับอายให้เด็กๆ ในอนาคตแล้ว การโพสต์รูปลูกเล็กบนโลกออนไลน์ถี่ๆ นั้นยังเสี่ยงทำให้เด็กถูกขโมยตัวตน โดยทำให้มิจฉาชีพสามารถนำใบหน้าของเด็กไปทำ deepfake หรือใช้ AI นำใบหน้าของคนๆ หนึ่งไปตัดต่อใส่คนที่มีรูปร่างคล้ายกันในคลิปวีดีโอ หรือสื่อต่างๆ จนทำให้ดูเหมือนเป็นคนๆ นั้นจริงๆ ที่ปรากฎตัวในคลิป
จากข้อมูลของ The Wall Street Journal เด็กแต่ละคนจะมีรูปของตัวเองเฉลี่ย 1,500 รูปบนโลกออนไลน์เมื่ออายุถึง 5 ปี และอาจจะมีรูปตัวเองบนโลกออนไลน์ถึง 4,000 รูปเมื่ออายุถึง 13 ปี หลังสามารถใช้โซเชียลมีเดียโพสต์รูปตัวเองได้แล้ว
โดยการมีรูปจำนวนมากในโลกออนไลน์ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกมิจฉาชีพนำรูปและใบหน้าของเราไปใช้ในอาชญากรรมแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะถูกกลั่นแกล้งจากคนรอบตัว เช่นเพื่อนที่โรงเรียน เพราะปัจจุบันคนธรรมดาหรือเด็กวัยรุ่นที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี deepfake และนำมันมาทำสื่อปลอมเพื่อทำลายชื่อเสียงของคนอื่นได้แล้ว
เพราะเหตุนี้ การแชร์ทั้งข้อมูลส่วนตัวและภาพของลูกลงอินเทอร์เน็ตจึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนนำข้อมูลของลูกคุณไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ และเปรียบเสมือนการสร้าง ‘ระเบิดเวลา’ ที่จะกลับมาทำร้ายลูกคุณอย่างแน่นอนในอนาคต
แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร?
ในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูก สิ่งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แนะนำคือควรหาข้อมูลและ ‘คิดดีๆ ก่อนโพสต์’ ทุกครั้ง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และข้อมูลส่วนตัวที่เราอาจเคยแชร์ได้แบบไม่อันตรายก็อาจกลายเป็นสิ่งที่เปิดช่องให้คนมาเอาเปรียบตัวเด็กได้ในอนาคต
นอกจากนี้ 'พ่อแม่ควรเอาใจใส่การตั้งค่าความปลอดภัยบนโซเชียลมีเดีย' เพราะถ้าต้องการแบ่งปันความเป็นไปของลูกให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวรู้ พ่อแม่ก็อาจทำได้ด้วยการจำกัดการมองเห็นให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้เฉพาะแค่คนที่เรากำหนด ซึ่งจะเพิ่มความเป็นส่วนตัวของลูกเราได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่จะได้พูดคุย สานสัมพันธ์กับคนในครอบครัว
และที่สำคัญที่สุดคือ 'พ่อแม่ควรตระหนักถึงสิทธิของลูกที่จะมีชีวิตส่วนตัว และความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในอนาคต' เพราะถึงแม้การที่มีคนเข้ามาชื่นชมลูกของเขาจะทำให้พ่อแม่รู้สึกดีเพราะรู้สึกว่าทำให้ตัวเองได้รับความสนใจ ได้ยอดไลค์ ได้ยอดแชร์ในโลกออนไลน์
แต่ความรู้สึกดีในช่วงสั้นๆ นี้ ก็เทียบไม่ได้เลยกับ ‘ความสุขของลูกในอนาคต’ ที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องมานั่งหวาดระแวงว่าวันไหนคนรอบตัวจะไปเปิดเจอรูปถ่ายน่าอับอายของตัวเองที่พ่อแม่ถ่ายแล้วลงไว้ตอนเด็กๆ หรือระแวงว่าจะถูกแฮกแอคเคาท์ส่วนตัว หรือขโมยตัวตนไปใช้ทำเรื่องผิดกฎหมายจนมีเรื่องเดือดร้อนมาถึงตัวเมื่อไหร่
ที่มา: The Wall Street Journal