เมื่อเรียนจบและเริ่มมีงานทำ สิ่งแรกที่พ่อแม่มักจะสอนให้เราทำก็คือ การรู้จักอดออม เก็บเงินไว้ใช้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเมื่ออายุมากถึงเวลาเกษียณจะได้มีเงินใช้จ่ายสบายๆ แบบไม่ต้องลำบากตอนแก่ จนการเก็บเงินสร้างตัวกลายเป็นสามัญสำนึกและธรรมเนียมปฏิบัติไป ถึงขนาดมีกูรูทางการเงินส่วนบุคคลออกมาแชร์เคล็ดลับการเก็บเงินแสนเงินล้านกันมากมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับวัยทำงานอายุน้อยในจีน ฮ่องกง และไต้หวัน การอดออมเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคตอาจไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไปแล้ว เมื่อสภาพเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้อทำทุกอย่าง โดยเฉพาะที่พักอาศัยราคาพุ่ง จนหลายๆ คนหมดหวังกับการเก็บเงินเพื่อสร้างอนาคต หันมาใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองในระยะสั้นแทน
จากการรายงานของสำนักข่าว CCTV ปัจจุบันปัจจุบันคนจีนอายุน้อยถึง 40% ในเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเสิ่นเจิ้น มีพฤติกรรมการใช้เงินที่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่มาก โดยแทนที่จะนำเงินที่ทำงานได้มาเก็บเพื่อซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่ นำไปลงทุน หรือนำไปฝากธนาคารไว้เพื่อสะสมความมั่งคั่งไว้ใช้ในอนาคต พวกเขาเหล่านี้กลับนำเงินที่ได้มาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายจนมีเงินใช้เดือนชนเดือน
ในจีนมีคำใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้โดยเฉพาะว่า 月光族 อ่านว่า เยว่กวางสู ที่แปลตรงๆ ว่า ‘Moonlight Clan’ หรือกลุ่มคนที่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายจนมักจะถังแตกในช่วงปลายเดือน คำนี้มีจุดกำเนิดมาจากไต้หวัน แต่ในปัจจุบันถูกใช้โดยทั่วไปในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง เพราะเริ่มมีคนอายุน้อยมีพฤติกรรมแบบนี้มากขึ้นใน 3 พื้นที่นี้
ทำไมคนจีนรุ่นใหม่จึงไม่ยอมเก็บเงิน?
แนวคิดการใช้เงินแบบเต็มที่ไม่เผื่อเก็บนี้เป็นแนวคิดที่เกิดมาพร้อมกับการ ‘ป่ายล่าน’ และ ‘ถ่างผิง’ (แปลว่าการ ‘ปล่อยให้เน่า’ และ ‘นอนเฉยๆ’ ตามลำดับ) ซึ่งหมายถึงการที่คนอายุน้อยหยุดทะเยอทะยานหาความก้าวหน้ามั่นคงในชีวิต แล้วทำงานให้มีชีวิตรอดไปวันๆ โดยไม่พยายามทำอะไรเพิ่มเติม ซึ่งเกิดจากความสิ้นหวังในการก่อร่างสร้างตัวในยุคที่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถ และอื่นๆ ที่คนวัยทำงานควรจะมี มีราคาสูงขึ้นจนเกินเกินเอื้อมได้
ความกดดันที่จะต้องแข่งขัน และเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อหารายได้มาซื้อสิ่งที่เกินเอื้อมเหล่านี้เองทำให้หลายๆ คนหมดไฟในการสร้างตัว และหันไปหาความสุขจากการซื้อของมาปรนเปรอตัวเองในระยะสั้นแทน ไม่ว่าจะเป็นมื้ออาหารไฟน์ไดน์นิ่ง สินค้าแบรนด์เนม และทริปเที่ยวต่างประเทศ โดยไม่คิดว่าตัวเองควรจะเก็บเงินเหล่านี้ไว้สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเอง
จากการรายงานของ CNBC ชาวจีนเรียกความสุขระยะสั้นแบบนี้ว่า xiao que xin หรือความสุขที่เล็ก แต่แน่นอน สะท้อนว่า ในเมื่อหมดหวังในการมีสร้างตัวให้มั่นคงเพื่อความสุขระยะยาวแล้ว พวกเขาก็จะหันมาหาความสุขเล็กๆ แต่ได้มาแน่นอนทันทีเพื่อชดเชยกับการที่พวกเขาไร้จุดหมายในการใช้ชีวิตไปแล้ว
จากการรายงานของ SCMP หลายๆ คนถึงกับยอมเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะมั่นใจว่าตัวเองมีความรู้และยังมีอายุน้อยอยู่ ทำให้สามารถหาเงินมาหมุนได้เสมอถึงแม้จะมีหนี้ โดยผลสำรวจหนึ่งจาก Ye Han บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจของจีน คนจีนถึง 70% เชื่อว่าการซื้อของสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พวกเขาได้ และ 72% จะยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ตัวเองได้เป็นเจ้าของที่ช่วยยกระดับสถานภาพทางสังคมให้พวกเขาได้
นี่ทำให้ชาวจีนกลายเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับแบรนด์สินค้าหรูที่หลั่งไหลเข้าไป โดยจากการรายงานของ CNN แบรนด์หรูมากมาย โดยเฉพาะแบรนด์จากอาณาจักร LVMH เช่น Louis Vuitton, Dior, Hermes มีผลประกอบการและยอดขายที่ดีขึ้นมากหลังจีนเปิดประเทศ สะท้อนว่าคนจีนยังนิยมใช้สินค้าหรูอยู่ ถึงจะต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อ และความเสียหายจากนโยบาย Zero-Covid และการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แนวคิดแบบนี้ดูเผินๆ อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน แต่การที่มีคนอายุน้อยหันมาใช้เงินแบบไม่คิดถึงอนาคตแบบนี้มากขึ้นก็จะส่งผลร้ายแรงมากต่อสภาพเศรษฐกิจของจีนในอนาคต เพราะนอกจากรัฐบาลจีนจะต้องจัดเงินสนับสนุนคนเหล่านี้ในยามแก่แล้ว คนเหล่านี้มักจะครองตัวเป็นโสด จนทำให้ในอนาคตจะมีแรงงานสร้างภาษีให้รัฐบาลน้อยลง ในขณะที่มีประชาชนสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองทางการเงินไม่ได้มากขึ้น
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขว่าจำนวนประชากรจีนหดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ด้วยอัตราเกิดลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือ 6.77 คน ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งสะท้อนว่าคนจีนนิยมครองตัวเป็นโสดหรือไม่มีลูกมากขึ้น และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ขึ้นก็คือภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้คนเกิดความกังวลและไม่อยากเพิ่มภาระให้ตัวเองด้วยการมีลูก