ขณะที่คนในบางประเทศใช้เงินเพิ่มขึ้นหลังผ่านการระบาดของโควิด-19 จากความอัดอั้นที่ไม่ได้ใช้เงินในช่วงที่มีโรคระบาด เหล่าคนอายุน้อยในจีนกลับสวนเทรนด์ แข่งกันเก็บเงินอย่างหนักเพราะไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีน ซ้ำเติมภาวะเงินฝืด และปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากวิกฤตอสังหาฯ
ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนเรียกได้อยู่ในภาวะซบเซา เพราะผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อยไม่เกิน 30 ปี จนล่าสุดเกิดเทรนด์ ‘Revenge Saving’ หรือเทรนด์แข่งกันเก็บเงินแบบเอ็กซ์ตรีมในหมู่คนอายุน้อยขึ้นในโซเชียลมีเดียของจีน
จากการรายงานของ CNBC เทรนด์ Revenge Saving ทำได้ด้วยการจำกัดค่าใช้จ่ายต่อเดือนหรือต่อวันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างเช่น ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอายุ 26 ปีคนหนึ่งที่จะจำกัดการใช้เงินให้เหลือเพียง 300 หยวน หรือเพียง 1,500 บาทต่อเดือน และจำกัดค่าอาหารไว้ที่ 10 หยวนต่อวัน
โดยวิธีประหยัดเงินนั้นก็ทำได้หลายวิธี ทั้งการหาพาร์ทเนอร์ประหยัดเงินเพื่อคอยตักเตือนและห้ามกันไม่ให้ใช้เงิน ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย และกินอาหารในร้านอาหารราคาถูก รวมไปถึงกินข้าวในโรงอาหารราคาถูกของชุมชนที่ปกติแล้วจะมีแต่ผู้สูงอายุเข้าไปใช้บริการ
หมดยุคอู้ฟู่ เมื่อเศรษฐกิจไม่อำนวย
เทรนด์ Revenge Saving ถือเป็นจุดเปลี่ยนในพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนอายุน้อยในจีนที่สำคัญ เพราะในอดีตที่เศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว คนอายุน้อยและผู้บริโภคในจีนเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ จากยุโรป แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนอายุน้อยก็เปลี่ยนตาม สะท้อนได้จากค่านิยมในการซื้อของ
ในปัจจุบัน คนอายุน้อยวัยทำงานในจีน โดยเฉพาะผู้ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 หันมารัดเข็มขัดตัวเองกันมากขึ้น เพราะไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาจากวิกฤตอสังหาฯ และปัจจัยอื่นๆ เช่น สงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน โดยแม้เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ดีในไตรมาสที่ 1 การคาดการณ์สำหรับไตรมาสต่อไป รวมถึงปีหน้าก็ยังอยู่ในขาลง
นอกจากนี้ คนอายุน้อยในจีนยังประสบปัญหาการว่างงานอย่างหนัก โดยในเดือนพฤษภาคม อัตราการว่างงานในกลุ่มคนอายุ 19-24 ปี ของจีน ยังอยู่ที่ 14.2% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในประเทศที่อยู่ที่ 5% ขณะที่ในปี 2023 ค่าตอบแทนรายเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1% ไปอยู่ที่ 6,050 หยวน หรือราว 30,000 บาทต่อเดือน ทำให้คนอายุน้อยในจีนไม่มีกำลังซื้อ และไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากเท่าวัยเริ่มทำงานในรุ่นก่อนหน้า
ทั้งนี้ เทรนด์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในกลุ่มคนอายุน้อยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในวัยทำงานทั่วไปของจีน ที่หันไปเก็บเงินและงดการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย โดยจากข้อมูลของธนาคารกลางจีน มูลค่าเงินฝากในธนาคารจีนเพิ่มขึ้นถึง 11.8% ในไตรมาสแรกของปี 2024 สะท้อนว่าผู้บริโภคในจีนเลือกเก็บเงินมากขึ้นแม้จะยังมีกำลังซื้อของ
การผลิตมีแนวโน้มเพิ่ม แต่คนไม่ใช้จ่าย ราคาบ้านตก
ในเดือนมิถุนายน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Caixin Manufacturing PMI) เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 51.8 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี สะท้อนว่ากิจกรรมการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขนี้ก็ไม่ได้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจจีนมากนัก เพราะอัตราการบริโภคยังต่ำ
ปัจจุบัน เศรษฐกิจการภาคการผลิตของจีนยังเติบโตได้ด้วยการผลิตสินค้าส่งออก แต่การส่งออกนั้นก็อาจชะงักได้จากหลายปัจจัยทั้งสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ดังนั้น การกระตุ้นการบริโภคภายในจึงจำเป็นมากในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอย่างยั่งยืน
Wang Zhe นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Caixin Insight Group กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในตลาดและเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการซื่อสินค้าต่ำ และรัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศออกมาให้ได้เพื่ออุ้มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในภาคอสังหาฯ ที่พบว่ามียอดขาย และราคาตกลงอย่างต่อเนื่อง
โดยจากข้อมูลของ China Real Estate Information Corp. ในเดือนมิถุนายน มูลค่าการขายของที่พักอาศัยใหม่จากบริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุด 100 อันดับของจีน ลดลงประมาณ 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า