นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยว่า สัญญาณที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีนั้น อาจเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นได้ โดยเมื่อวันศุกร์ 27 พ.ค ตลาดหุ้นสหรัฐฯดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,212.96 จุด พุ่งขึ้น 575.77 จุด หรือ +1.76%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,158.24 จุด พุ่งขึ้น 100.40 จุด หรือ +2.47% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,131.13 จุด พุ่งขึ้น 390.48 จุด หรือ +3.33%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ บวก 6.2% หลังร่วงลง 8 สัปดาห์ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 6.6% และ 6.8% ตามลำดับ หลังจากที่ร่วงลง 7 สัปดาห์ติดต่อกัน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ โดยดัชนี PCE ทั่วไปรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวลง หลังจากพุ่งแตะระดับ 6.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี การชะลอตัวของดัชนี PCE ทั่วไปในเดือนเม.ย. ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 5.2% ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PCE พื้นฐานชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นปี
นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่าจากหลักฐานที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นมักจะขานรับในทางบวก เมื่อเงินเฟ้อส่งสัญญาณแตะระดับสูงสุดแล้ว
จากสถิติในวิกฤตเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 13 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2494 นั้น ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นในช่วง 12 เดือนต่อมาถึง 9 ครั้ง โดยตลาดหุ้นพุ่งขึ้นมากที่สุดถึง 33.2% นับตั้งแต่เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในเดือนมี.ค. 2523 และตลาดหุ้นสหรัฐทรุดหนักสุด 17.3% นับตั้งแต่เงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในเดือนม.ค. 2544 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวซบเซาหลังจากภาวะฟองสบู่ดอทคอมแตก
“ในความเป็นจริง อัตราเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดแล้วอาจจะช่วยหนุนตลาดขึ้น แต่ราคาหุ้นก็จำเป็นต้องมีปัจจัยอื่น ๆ มาสนับสนุนด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวที่รุนแรงขึ้น” ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุ
ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นต่อการสนับสนุนตลาดหุ้นนั้นรวมถึง ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง, ราคาหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวล้วนแต่เป็นสิ่งที่ท้าทายในสภาวะปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 1.5% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาสแรก, มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี และอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น