หลังโลกฝ่ามรสุมโควิดมาถึง 2 ปี ตลาดหุ้นทั่วโลกและเอเชียเจอการเปลี่ยนแปลลงขนานใหญ่ในปีนี้จากการเปิดประเทศ เพิ่มดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้หุ้นของธุรกิจในบางภาคส่วนที่เคยมีมูลค่าสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิดตกลง ในขณะที่หุ้นในบางภาคส่วนเศรษฐกิจได้รับอานิสงค์มีมูลค่าสูงขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว
ในวันส่งท้ายปีใหม่ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นโลกและเอเชียในปีนี้กันว่ามีอะไรบ้าง และเราน่าจะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในปีหน้า
หุ้นเทคโนโลยีครองตำแหน่งดาวร่วง ส่วนหุ้นพลังงานและท่องเที่ยวอนาคตสดใส
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดคือขาลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เคยมีมูลค่าสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด เพราะการกักตัวและการทำงานหรือเรียนทางไกลทำให้ผู้คนต้องพึ่งเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หลายๆ ประเทศเริ่มปล่อยให้คนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ มูลค่าหุ้นเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ และการสื่อสารก็มีแนวโน้มลดลงไปในทางเดียวกัน
จากการรายงานของ Seeking Alpha หุ้นภาคส่วนเทคโนโลยีเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตกต่ำลงมากที่สุดของปี โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีการสื่อสารใน S&P 500 ต่ำลงถึง 27% ในขณะที่หุ้นผู้ให้การสื่อสารลดลงถึง 40% นำโดย META, และ Netflix (NFLX), Google (GOOGL) ที่ในวันที่ 30 ธันวาคม ลดลง -64.48%, -51.27%, และ -39.00% ตามลำดับ
ในขณะที่หุ้นเทคโนโลยีใหญ่ๆ ของเอเชียก็มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน อย่างเช่น Sea จากสิงคโปร์, Samsung Electronics จากเกาหลี และ Tencent Holdings และ Alibaba Group Holding จากจีน ที่ในวันที่ 30 ธันวาคม มีมูลค่าตกลง -76.35%, -29.64%, -25.43% และ -24.87% ตามลำดับ
ในทางกลับกัน หุ้นที่ได้อานิสงค์อย่างมากจากเหตุการณ์ทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจโลกในวันนี้คือ หุ้นในภาคส่วนพลังงาน ที่เติบโตขึ้นมากจากวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการที่คนทั่วโลกเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวและใช้พลังงานในยานพาหนะกันมากขึ้น
โดยจากข้อมูลของ S&P Global ดัชนี S&P 500 Energy ให้ผลตอบแทนสูงถึง 57.85% ตั้งแต่ต้นปี สูงกว่าดัชนีที่ใหญ่กว่าอย่าง S&P Global 1200 (-18.42%) และ S&P Global 500 (-17.40%) หลายเท่า สะท้อน performance ที่โดดเด่นของภาคพลังงาน
นอกจากนี้ จากการรายงานของ Nikkei Asia หุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่ทำผลงานได้ดีในปีนี้ก็คือ หุ้นกลุ่มธนาคารที่ได้รับอานิสงค์จากการขึ้นดอกเบี้ย และหุ้นสายการบิน หุ้นร้านอาหาร รวมไปถึงหุ้นค้าปลีกที่ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะมี performance ที่ดีต่อเนื่องจนถึงปีหน้าจากการเปิดประเทศของจีนในวันที่ 8 มกราคม ถึงแม้จะยังมีความเสี่ยงเรื่องการระบาดของโควิดที่อาจเพิ่มขึ้นหลังนักท่องเที่ยวจีนได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทั่วโลก
ตลาดหุ้นอินเดียแข็งแกร่ง ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในเอเชีย
ถึงแม้ตลาดหุ้นส่วนมากในเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนามและจีนจะตกลงมากในช่วงปลายปีจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ตลาดหุ้นประเทศหนึ่งที่สร้างผลตอบแทนได้ดีสวนทางเพื่อนบ้านก็คือ อินเดีย
โดยจากการรายงานของ Reuters ปัจจัยที่ทำให้ตลาดอินเดียเติบโตและให้ผลตอบแทนได้ดีมี 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ
- การที่บริษัทใหญ่หลายบริษัทของโลก เช่น Apple ย้ายฐานการผลิตไปยังอินเดีย หลังนโยบาย Zero-Covid ในจีนทำให้สายพานการผลิตของหลายๆ สินค้าชะงักลง
- การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว โดยจากการคาดการณ์ของธนาคารโลก เศรษฐกิจของอินเดียจะขยายตัว 6.9% ในปีนี้ และขยายตัว 6.6% ในปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เร็วที่สุดในโลก จากการฟื้นตัวของภาคส่วนค้าปลีก และรายได้ของเอกชนที่น่าจะสูงในปีหน้า ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น จีนที่ธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.3% หรือไทยที่คาดว่าจะเติบโต 3.6% ในปีหน้า
ธนาคารโลกกล่าวว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียจะชะลอลงในปี 2023 เพราะได้รับแรงกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในเศรษฐกิจใหญ่ๆ ที่ทำให้เงินรูปปีอ่อนค่า รวมไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ หรือ Commodity ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะทำให้อินเดียเสียดุลการค้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีแนวโน้มจะถูกกดดันโดยปัจจัยภายนอก ธนาคารโลกยังมองว่าอินเดียยังมีโอกาสเติบโตได้สูงเพราะมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศได้น้อย
ตลาดหุ้นในปีหน้ามีปัจจัยอะไรที่ต้องระวังบ้าง?
จากการรายงานของ Bloomberg นักวิเคราะห์ส่วนมากคาดการณ์ว่าปัจจัยที่รอตลาดหุ้นในปีหน้าอยู่แน่นอนคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่น่าจะลากยาวไปอย่างน้อยจนจบไตรมาสที่ 1 ในปีหน้า และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จากการวิเคราะห์ของ Bloomberg น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในเดือนสิงหาคมปีหน้า ที่อาจทำให้ตลาดหุ้นในหลายประเทศตกต่ำลงไปอีก เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ผลประกอบการของหลายๆ บริษัทแย่ลงจากกำลังซื้อและอุปสงค์ที่ลดลง
นอกจากนี้ ทั้งโลกยังต้องจับตาดูสถานการณ์หลีงจีนเปิดประเทศ เพราะถึงแม้จีนจะลดมาตรการควบคุมโควิด-19 ลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว สถานการณ์อาจไม่เป็นไปอย่างหวังหากจีนไม่สามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศ หรือควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตได้ เพราะถ้าหากการระบาดของโควิดในจีนรอบนี้ทำให้แรงงานต้องออกจากระบบ ความหวังของจีนในฐานะโรงงานของโลกที่จะฟื้นฟูสายพานการผลิตให้กลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพดังเดิมก็อาจล้มเหลว
ที่มา: Nikkei Asia, Reuters, Bloomberg, Seeking Alpha