จากสถิติของการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นไทยมักจะตอบรับข่าวนี้เสมอ
วันนี้ SPOTLIGHT จะพามาดูมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ กันว่า มีมุมมองตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ที่กำลังจะมาถึงอย่างไร เพราะเป็นไตรมาสแห่งการเลือกตั้ง
ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ จะปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากปัจจัยการเลือกตั้งของไทยที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อ sentiment ของตลาด
โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
- วันที่ 3-7 เมษายน: การรับสมัครส.ส.แบ่งเขต
- วันที่ 4-7 เมษายน: การรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 7 พฤษภาคม: วันเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง
- วันที่ 14 พฤษภาคม: วันเลือกตั้งทั่วไป
โดยปกติแล้ว ช่วงเวลาก่อนหน้าการเลือกตั้งของไทยมักมากับเม็ดเงินที่ใช้ในการหาเสียงด้วยแคมเปญต่างๆ
รวมถึง การออกมาให้คำมั่นสัญญาด้านนโยบายเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามาช่วยปากท้องของประชาชนในช่วงถัดไป สุดท้ายแล้วจะเกิดขึ้นจริงได้มากเท่าไหร่นั้นย่อมไม่มีใครรู้
แต่ในส่วนของความคาดหวังของคนนั้น มักจะเกิดขึ้นนำหน้าไปก่อนเสมอ ไม่ต่างจากการเลือกตั้งรอบนี้
ประเมินว่า จะเห็นภาพดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างขณะนี้ เศรษฐกิจไทยเพิ่งอยู่ในเฟสของการฟื้นตัวหลังจากช่วงโควิดได้ไม่นาน แถมยังเจอปัญหาเงินเฟ้อที่เข้ามาเพิ่มภาระค่าครองชีพล่าสุดเข้าไปอีก ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงมีความกระหายต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของมาตรการการเพิ่มรายได้ การลดรายจ่ายค่าครองชีพ หรือรวมไปถึงการลดภาระหนี้
นโยบายต่างๆ เหล่านี้ ที่หลายพรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียงอยู่ในปัจจุบัน ย่อมนำมาสู่ความคาดหวังทางด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎีมักนำมาสู่การบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นก่อนในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของหอการค้าไทยล่าสุด ได้ประเมินว่าจะมีเงินสะพัดในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ราว 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมได้ราว 1.0-1.2 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ประมาณ 0.5-0.7%
อย่างไรก็ตาม จากสถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พบว่า ตลาดหุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้งไปจนถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น
จึงเรียกในช่วงเวลานี้ว่า เป็นช่วงของปรากฏการณ์ ‘Election rally’ ที่มีค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 6% โดยมีระดับ Maximum และ Minimum return อยู่ที่ +16.5% และ +0.1% ตามลำดับ (Figure 2) หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า ในช่วงเวลานี้ SET Index ไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพคล่องที่มีที่มาส่วนหนึ่งจากการเติมเต็มสภาพคล่องในระบบการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปที่ผ่านมา มองมาตรการที่สำคัญได้แก่ USD Liquidity Swaps ที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จับมือร่วมกับอีก 5 ธนาคารกลางขนาดใหญ่ (Coordinated action) ในการเติมเต็มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ขาดหายไป
หากอ้างอิงในอดีต จะพบว่า มาตรการดังกล่าวมักนำมาสู่ Turning point ของเงินดอลลาร์สหรัฐได้อย่างสำคัญ ไม่เว้นรอบนี้ ประเมินว่า นับตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของมาตรการดังกล่าว เงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มจะทรงตัวอ่อนค่าอยู่ในระดับต่ำต่อไป เป็นอานิสงส์ต่อสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวม รวมถึงสกุลเงินต่างๆ ในประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย
สำหรับหุ้นที่มักจะปรับตัวได้ดีในช่วงปรากฏการณ์ Election rally ทุกๆ ครั้ง พบว่า กระจุกอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ Domestic play เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ และกลุ่มพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET100 และอยู่นอกเหนือ SET100 (Non-SET100)
รายชื่อหุ้นแนะนำในดัชนี SET100 ได้แก่ ADVANC, BBL, BGRIM, BH, CBG, CENTEL, CRC, DOHOME, PTG, SABUY
รายชื่อหุ้นแนะนำในดัชนี Non-SET100 ได้แก่ BVG, BWG, ETC, HTC, MENA, OTO-W1, PR9, SAPPE, SFLEX, SNNP
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยงนักลงทุนควรศึกษารายละเอียด ทำความเข้าใจก่อนลงทุนเสมอนะ