การเงิน

2 โบรกคาดไตรมาส 3 หุ้นไทยผันผวน หากจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น เงินไหลเข้า

6 ก.ค. 66
2 โบรกคาดไตรมาส 3 หุ้นไทยผันผวน หากจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น เงินไหลเข้า
ไฮไลท์ Highlight

ตลาดหุ้นทั่วโลกไตรมาส 3 มีโอกาสปรับตัวลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญและจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3 อ่อนแอลง

ทรีนีตี้ ชี้เฟด-สภาพคล่องหด กดหุ้นครึ่งปีหลัง เอเซีย พลัสประเมิน หากเลือกนายกฯและจัดตั้ง รัฐบาลราบรื่นเชื่อจะมี Fund Flow ไหลกลับ ประเมินระดับเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1480/1542 จุด

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด  มองตลาดหุ้นฟื้นไตรมาส 4 จากสามปัจจัยหนุน เฟดมีโอกาสคงดอกเบี้ย - เงินดอลลาร์อ่อน - บอนด์ยีลพีคไปแล้ว หุ้นไทยระดับดัชนี 1450-1460 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี แนวโน้มไตรมาส 3 หุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโตน้อย สภาพคล่องทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทุนนอกยัง ไม่เข้า ต่างชาติเทขายหนักตั้งแต่ต้นปีกว่า 1 แสนล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ อเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) หรือ ASPS ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วง 3Q66 แกว่งผันผวน จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ที่มีโอกาสเกิดภาวะ Recession หลังจากธนาคารกลาง (FED และ ECB) ส่งสัญญาณชัดต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดผ่านการขึ้นดอกเบี้ย โดยช่วงครึ่งปีแรกนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาแล้ว 9.9%

หุ้นไทยถูกที่สุดอันดับ 5 ในรอบ 16 ปี 

หุ้นไทยระดับดัชนี 1450-1460 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ในเชิง Price Book Value ที่ 1.39X  แนวโน้มไตรมาส 3 หุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโตน้อย สภาพคล่องทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทุนนอกยัง ไม่เข้า หลังขายหนักตั้งแต่ต้นปีกว่า 1 แสนล้าน 

“ ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และทิศทาง Fund Flow โลกยังคงอ่อนแอกว่าช่วงต้นไตรมาส 3-4 ตลาดหุ้นจะขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจ หลังดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะถึงจุดสูงสุดในปลาย ไตรมาส 3 แล้ว โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังในปลายไตรมาส 3 จะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองในทางบวกในไตรมาส 4 ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันทีตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนเป็นลบเพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี” ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าว

โดยเดือนมิ.ย.เฟดยังส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอีกเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลข Core PCE โดยที่ FOMC คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในไตรมาส 3 นี้ (อาจจะเป็นปลายเดือนก.ค.) เพราะยังไม่สบายใจกับตัวเลข Core PCE ที่ยังไม่ปรับตัวลดลงที่ยังคงอยู่ระดับ 4.7%

สภาพคล่องในตลาดโลกกำลังลดลงจาก 7 สาเหตุ ได้แก่

  1. เฟดอาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเม็ดเงินกว่า US$ 6.5 แสนล้านเหรียญ ภายในครึ่งปีหลังของปี 2566  ผ่าน Treasury General Account ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling)
  2. ธนาคารกลางยุโรปจะต้องคืนเงิน LTRO กว่า 4.8 แสนล้านยูโร ในเดือนมิ.ย.- ก.ค.
  3. Dot Plot ของเฟด มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% 0.50% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เฟดได้หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.
  4. ความสนใจในการทำ QT ของเฟดอาจจะมีอีกครั้งและอาจจะถึงเดือนละ US$ 9.5 หมื่นล้าน จากปัจจุบันที่ US$7.8 หมื่นล้านเหรียญ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะนำไปสู่การแข็งค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2-3% แต่เป็นรอบท้ายๆ ของการแข็งค่าของดอลลาร์
  5. สัญญาณทางตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังบ่งบอกเศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น Inverted Yield Curve ของ Bond Yield สหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1982 บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่การถดถอยในไตรมาส 4 ปีนี้หรือปีหน้าและตัวเลข PMI ที่ตกต่ำลง
  6. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐอาจจะลดลงจากปัจจุบัน  2 แสน-3 แสนตำแหน่งต่อเดือน มาสู่ระดับต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่งต่อเดือนในไตรมาส 4
  7. สำหรับ SET Index ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2 growth) เติบโตต่ำสุดตั้งแต่ปี ในรอบ 15 ปี นับจากปี 2551 โดย M2 growth จะเป็นตัวชี้นำของ SET Index ล่วงหน้า และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายบุคคลจะลดลง อย่างมีนัย แต่นักลงทุนสถาบันจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิเนื่องจาก Earning Yield Gap ของตลาดหุ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรไทยอยู่ในระดับน่าสนใจ บ่งบอกดัชนีเป้าหมายที่ 1552

เอเซียพลัส ประเมินไตรมาส 3 หุ้นไทยผันผวน

โดยสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) หรือ ASPS ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วง 3Q66 แกว่งผันผวน จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ที่มีโอกาสเกิดภาวะ Recession หลังจากธนาคารกลาง (FED และ ECB) ส่งสัญญาณชัดต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดผ่านการขึ้นดอกเบี้ยฯ 

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยในช่วง 1H66 ที่ SET Index ปรับลง 9.9% จนระดับ Valuation ในมิติของ Market Earning Yield Gap ลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 12  ปี ถือว่าไม่แพง ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจและทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว 

สำหรับตัวแปรที่กำหนดทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาสนี้ อยู่ที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ โดยหากเลือกนายกฯและจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปด้วยความราบรื่นเชื่อว่าจะเป็นแรงดึงดูด Fund Flow ไหลกลับ แต่หากออกในทางตรงข้ามถือเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง ซึ่งประเมินระดับเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1480/1542 จุด

มองตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวไตรมาส 4/2566

โดยประเมินว่า ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3  จากปัจจัย ดังนี้

  • การอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐ และเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1 ปี 2567 
  • มองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform ในไตรมาส 4 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้น ในกลุ่มประเทศพัฒนาส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวในไตรมาส 3 นี้ 
  • มอง Bond Yield 10 ปีของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้วแต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และมองกนง.ของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 3

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยทั้งปีนี้ 

“ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี 2021 และถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า” ดร.วิศิษฐ์กล่าว

สภาวะตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ขณะที่นักลงทุนขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาทตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.3 หมื่นล้าน และคาดว่าการขายของนักลงทุนต่างประเทศลดลง

แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจ คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี  รวมถึง การส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของ Export ในไตรมาส 4 ปีนี้

คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากความกังวลเรื่องเสถียรภาพและการเปลี่ยนผ่านนโยบายต่างๆ เริ่มจาก 

  1. นโยบายการเงินที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯจาก 1.25% ช่วงต้นปีมาที่ 2% ในปัจจุบัน 
  2. ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
  3. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกรณี STARK ส่งผลต่อ Fund Flow ต่างชาติไหลออกในปีนี้ 1.07 แสนล้านบาทกดดันตลาดหุ้นไทยปรับลง 9.9% Underperform สวนทางตลาดหุ้นโลกที่ปรับขึ้น 12.8%

ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีหลังที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ FED และ ECB ที่เริ่มส่งผลมายังภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว 

อีกทั้ง ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยฯเพื่อกดเงินเฟ้อฯให้ลงมาอยู่ในระดับเป้าหมาย 2% ทำให้ความเสี่ยง Recession ของสหรัฐฯและยุโรปไม่หมดไป สวนทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตจากภาคบริโภคในประเทศและท่องเที่ยว 

ด้านทิศทางเงินเฟ้อฯ พ.ค.อยู่ในระดับ 0.53%yoy ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ในช่วง 1-3% ลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯของ กนง. ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2566 คาดอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น EPS66F ที่ระดับ 91.8 บาท/หุ้น เติบโต 12.6%yoy ซึ่งในเชิง Valuation จะได้ค่า Market Earning Gap ที่ 4.11% ใกล้ค่าเฉลี่ยในรอบ 12 ปี จึงทำให้ทิศทาง Fund Flow มีโอกาสไหลกลับ 

เป็นจังหวะซื้อหุ้น Mega Trend 

แนะลงทุนหุ้นอิง Mega Trend เช่น หุ้นได้ประโยชน์ภาวะโลกร้อน และกลุ่มที่ให้เงินปันผลสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เช่น กลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร

การลงทุนใน Mega Trend ได้แก่ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้ง Yoy และ QoQ ในไตรมาส 2 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT และมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี)

โดยกำหนดเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1542 จุด(จาก Market Earning Yield Gap 4.0% , ดอกเบี้ยนโยบาย2.0% และ EPS66F 91.8 บาท/หุ้น) และถ้า กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งได้ Target SET 1480 จุด บริเวณนี้ถือแนวรับทางพื้นฐาน และโซนในการสะสมหุ้นที่ดี

แนะนำทยอยสะสมหุ้นเมื่อ SET ต่ำกว่า 1,480 จุด

บล.เอเซีย พลัส แนะนำ กลยุทธ์การลงทุนแนะนำทยอยสะสมหุ้นเมื่อ SET Index อยู่ในระดับต่ำกว่า 1480 จุด โดยเลือกหุ้นพื้นฐานดีราคาลงลึก พร้อมกับมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว คือ BEM, JMT, SCGP, SCB, IVL, ERW, III

คุณบำรุงพงษ์ ชีวธนากรณ์กุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์หุ้นต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ ทยอยสะสมหุ้นสหรัฐที่ผลประกอบการมีแนวโน้มออกมาดี อาทิกลุ่ม Technology, Communication Services ที่นักวิคราะห์คาดกำไร 2Q23 – 4Q23 จะเติบโตต่อเนื่องและกลุ่ม Consumer Discretionary ที่คาดว่ากำไรจะพลิกกลับมาโดดเด่นใน 3Q23 และ 4Q23 เนื่องจากมองว่า การดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดจะไม่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นสหรัฐเหมือนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐเดือน พ.ค. 2023 ลดลงต่อเนื่อง 11 เดือนติดต่อกันและทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี รวมถึงมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง 

โดยกลยุทธ์การลงทุน แนะนำทยอยสะสมหุ้นบริเวณแนวรับดัชนี S&P500 ที่ 4325 – 4300 จุด โดยเลือกหุ้นจากกลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จาก AI และมีแนวโน้มผลประกอบการออกมาดีในอนาคต หุ้นเทคโนโลยีที่เป็น Big Cap ที่ยังไม่ทำ ALL TIME HIGH  ได้แก่ Netflix และ Amazon

สำหรับหุ้นจีนนั้น แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้นบริเวณแนวรับดัชนี HSI Index ที่ 19,000 จุด โดยเลือกหุ้น Big Cap. ที่มี Valuation ต่ำพร้อมกับการปลดล็อคมูลค่าของกิจการผ่านการนำบริษัทลูกเข้า IPO ได่แก่ Alibaba , JD. com

เนื่องจากภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นจีนเดือน ก.ค. ยังถูกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังออกมาต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่แม้มีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าน 

แต่เริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆมากขึ้น ผ่านการลดดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงลดอัตราการดำรงเงินสำรอง (RRR) และจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวได้ดีใน 4Q23 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับวันหยุดยาว (Golden Week) 

โดยข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวเผยว่า ช่วงวันหยุดยาว Golden Week มีจำนวนผู้เดินทางในประเทศสูงที่สุดจากทุกเทศกาล เนื่องจากกินเวลาวันหยุดกว่า 7-8 วัน และด้วย Valuation ของดัชนี HSI Index ซึ่งปัจจุบันซื้อขายที่ Forward P/E บริเวณต่ำกว่า 1SD ซึ่งมองว่าเป็นบริเวณที่ Down Side Risk จำกัด  

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT