คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติเห็นชอบชุดมาตรการใหม่เพื่อยกระดับการซื้อขาย short selling และ program trading บนตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ผันผวนด้านราคาน้อยลงเพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อนักลงทุน โดยในขั้นต่อไปเตรียมหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนยื่นให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณา บางเกณฑ์ใช้ได้เร็วที่สุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ในช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา ‘การชอร์ตเซล’ (short selling) หรือ การทำกำไรในช่วงหุ้นลง โดยการยืมหุ้นทำการขาย ก่อนซื้อหุ้นกลับคืนมาในราคาที่ต่ำกว่า และ ‘การใช้โปรแกรมช่วยในการซื้อขายหุ้น’ (program trading) กลายเป็นที่พูดถึง เพราะมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนหลายรายมองว่ามาตรการในการควบคุมการ short selling และ program trading ของไทย เป็นช่องโหว่ที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทุบราคาหุ้นไทย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยลดลงกว่า 15% ในปีที่ผ่านมา
ดังนั้น เพื่อเรียกความมั่นใจของนักลงทุนกลับมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการชุดใหม่ในการควบคุมดูแลการซื้อขาย รวมไปถึงการ short selling และ program trading และมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ล่าสุด ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เห็นชอบมาตรการชุดใหม่ดังกล่าว ซึ่งแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม ตามเป้าหมายของมาตรการ ได้แก่
- มาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์
- มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม
- มาตรการที่เป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน
ปรับเกณฑ์ Short Sell จ่อใช้มาตรการ Auction คุมราคาหุ้นร้อน
มาตรการดูแลการซื้อขายชุดใหม่เป็นมาตรการที่มุ่งเน้น ‘ลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์’ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นอีก 4 กลุ่มย่อย คือ 1) มาตรการทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Sell ได้ 2) มาตรควบคุมผลกระทบจาก Short Sell 3) มาตรการยกระดับการตรวจสอบเพื่อป้องกัน Naked Short Selling และ 4) มาตรการป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ
-
มาตรการทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Sell ได้
ตลท. ได้มีมติให้เพิ่มขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำ (market capitalization) ของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ (eligible securities) จากเดิม 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หุ้นที่ขายชอร์ตได้ในตลาดหุ้นไทยอยู่ในกลุ่ม Top Quatile และลดลงจากเดิม 292 เป็น 231 หุ้น
นอกจากนี้ ตลท. ยังเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาสภาพคล่องของหุ้น โดยกำหนดให้หุ้นนั้นจะต้องมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) แล้วมากกว่า 2% ซึ่งเป็นการประกันได้ขั้นหนึ่งว่าหุ้นที่ถูกขายชอร์ตนั้นมีพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแรง
-
มาตรการควบคุมผลกระทบจาก Short Sell
ตลท. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบทั้งด้านราคาและปริมาณการซื้อขายจากการขายชอร์ต โดย
- การกำหนด Uptick รายหลักทรัพย์ เมื่อราคาหลักทรัพย์หรือหุ้นปิดลง 10% จากราคาปิดวันก่อนหน้าเพื่อลดความผันผวนด้านราคา
- การกำหนดเพดานสูงสุดในการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน (daily limit) เพื่อที่จะควบคุมความเสี่ยงไม่ให้เพิ่มมากเกินไป
- การเปิดเผยข้อมูลรายวันของยอดสะสมปริมาณการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืน (outstanding) สำหรับแต่ละหลักทรัพย์ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป
-
มาตรการยกระดับการตรวจสอบ เพื่อป้องกัน Naked Short Selling
ที่ผ่านมา อีกปัญหาสำคัญในตลาดหลักทรัพย์ คือการมีนักลงทุนบางส่วนขายชอร์ตหุ้นโดยไม่ได้ยืมหุ้นมาจากบริษัทหลักทรัพย์ก่อน หรือ การทำ Naked Short Selling ดังนั้น ตลท. จึงจะจัดให้มี Central Platform ในการเช็กหลักทรัพย์ก่อนขาย จากที่ในปัจจุบันมีแต่การเช็กหลังขาย เพื่อให้บริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ใช้ตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย
- มาตรการป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ
เพื่อป้องกันราคาหุ้นผันผวนผิดปกติ ตลท. มีมติเพิ่มมาตรการควบคุมความผันผวนของราคารายหุ้นระหว่างวัน (นอกเหนือจากการกำหนด ceiling & floor ที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน) ด้วยการเพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (dynamic price band) ซึ่งจะเป็นกรอบของการเคลื่อนไหวของราคาที่แคบลงมาจาก ceiling & floor โดยกำหนดกรอบไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ (เช่น +/- 10%) จากราคาซื้อขายล่าสุด ซึ่งหากถึงระดับราคาดังกล่าวก็จะหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวก่อนเปิดซื้อขายใหม่
นอกจากนี้ กรณีที่ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก ตลท. อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อขายของหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายเป็นแบบ Auction แทน แทนที่จะเป็นระบบการซื้อขายแบบจับคู่ต่อเนื่อง (Continuous Trading) ซึ่งจะเป็นการเปิดให้จับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบคือ ก่อนตลาดเปิดรอบเช้า (Pre-Open 1), ก่อนตลาดเปิดช่วงบ่าย (Pre-Open 2) และก่อนปิดตลาด (Pre-Close) โดยนอกช่วงซื้อขาย นักลงทุนจะไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายใหม่ แต่สามารถอัพเดตหรือแคนเซิลคำสั่งได้
เพิ่ม Auto Halt สำหรับการซื้อขายผิดปกติ พร้อมแชร์ข้อมูลเตือนภัยสมาชิก
มาตรการในกลุ่มที่ 2 เป็นมาตรการที่มุ่งเน้น ‘กำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม’ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลคำสั่งที่ไม่เหมาะสม หรือมีความผิดปกติ และยกระดับการกำกับดูแลให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ผ่านการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- การเพิ่ม Auto Halt หรือการหยุดการซื้อขายอัตโนมัติรายหุ้น ในกรณีที่มีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งเกินระดับที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ โดยในขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดระดับลิมิตที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม และต้องมีการพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน
- การกำหนดเวลาขั้นต่ำของ order ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้ (minimum resting time) เพื่อป้องกันการใส่ถอนคำสั่งที่ถี่เกินไป
- การเพิ่ม central order screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม
- การเปิดเผยข้อมูลลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมแก่บริษัทสมาชิกทุกราย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดสามารถใช้ช่องโหว่ด้านการสื่อสารกระทำผิดผ่านโบรกเกอร์หลายราย และเพื่อให้บริษัทสมาชิกใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการกับผู้ลงทุนรายนั้น เช่น ปรับลดวงเงิน กำหนดให้ต้องซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุน (trader) เป็นต้น
- การลงทะเบียนผู้ใช้โปรแกรม High Frequency Trading หรือ HFT จากเดิมที่ให้ลงทะเบียนแค่โปรแกรม ทำให้ตลท. จะสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ทันทีหากเกิดการซื้อขายผิดปกติ
เพิ่มโทษผู้กระทำผิด 3 เท่า เปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นครอบคลุม NVDR
สำหรับมาตรการกลุ่มสุดท้าย ตลท. มีมติให้มีการเพิ่มความคุ้มครองนักลงทุนด้วยการเพิ่มการกำกับดูแลสมาชิกโดยเพิ่มบทระวางโทษปรับ กรณีพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการขายชอร์ต ให้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า ซึ่งเทียบเคียงได้กับแนวทางการลงโทษของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศ
ตัวอย่างการเพิ่มโทษปรับ เช่น ในกรณีที่พบว่ามีการ Naked Short Selling จากเดิมที่โบรกเกอร์จะถูกปรับเท่ากับกำไรที่ได้รับ ในกฎใหม่ผู้กระทำผิดจะต้องถูกปรับ 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ และไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทำให้แม้กำไรสามเท่าไม่ถึง 1 ล้านบาท ผู้กระทำผิดก็จะต้องถูกปรับขั้นต่ำ 1 ล้านบาทเป็นมาตรฐาน
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ตลท. สามารถลงโทษและปรับได้เพียงโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกเท่านั้น ไม่สามารถลงโทษนักลงทุนที่จะเป็นผู้สั่งให้มีการขายชอร์ตได้ ในอนาคต ตลท. จึงมีแผนจะนำเสนอหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในการพิจารณาแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถลงโทษผู้ลงทุนที่เป็นผู้กระทำผิดได้โดยตรงด้วย
นอกจากนี้ ตลท. ยังมีแผนที่จะปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ด้วย โดยกำหนดให้บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (ในฐานะผู้ออก NVDR) จะต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ถือ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ที่มีการถือครอง NVDR และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
คาดบางเกณฑ์ใช้ได้เร็วที่สุดในไตรมาสที่ 2
ปัจจุบัน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เห็นชอบให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นโดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถดำเนินการได้เอง เช่นการปรับคุณสมบัติบริษัทที่สามารถ Short Sell ได้ ซึ่งเมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วก็จะสามารถเริ่มใช้อย่างเร็วที่สุดในไตรมาสที่ 2
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่จำเป็นจะต้องมีการปรึกษาหารือในรายละเอียดร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น บริษัทสมาชิก, Market Makers) รวมถึงอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและการปรับระบบปฏิบัติการของบริษัทสมาชิกเพื่อให้รองรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้เร่งประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น (hearing) จากผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะนำไปปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้