ในช่วงต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ราคาทองคำมีการดีดตัวขึ้นแตะระดับ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งการดีดตัวขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจาก แรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังมีการรายงานถึงการถูกโจมตีของเรือพาณิชย์และเรือรบของสหรัฐในแถบทะเลแดง ซึ่งได้ปลุกความวิตกกังวลของหลายฝ่ายต่อแนวโน้มการยกระดับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
อีกทั้งในขณะนั้น ราคาทองคำยังมีปัจจัยหนุน จากทิศทางการปรับตัวลงของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ เนื่องด้วยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากต่อคาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงคาดการณ์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในเดือนพ.ค. ปี 2024 และจะปรับลดราว 1.00-1.25% ภายในปีดังกล่าว
ด้วยกระแสคาดการณ์ดังกล่าว จึงเป็นผลให้การประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ในระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. นั้นถูกจับตามองจากหลายฝ่าย เนื่องด้วยแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงทิศทางเงินเฟ้อในสหรัฐนั้นออกมาชะลอตัวลง แต่หากอ้างอิงตามตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟดในปี 2023 ที่ระบุในรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฉบับเดือนก.ย. นั้นจะชี้ได้ว่า เฟดยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% หลังมีการปรับขึ้นสู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC รอบเดือนก.ค.
-
เฟดจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024
ทั้งนี้ ที่ประชุม FOMC เดือนธ.ค. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% และมีการชี้นำว่า เฟดได้สิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ผ่านการระบุในเอกสารผลการประชุมที่ว่า คณะกรรมการเฟดจะทำการพิจารณาปัจจัยหลายประการสำหรับการคุมเข้มนโยบายการเงินใด ๆ ที่อาจจะมีขึ้นอีกตามความเหมาะสม เพื่อนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% โดยเสมือนกล่าวโดยนัยว่า อาจใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงินอื่นๆ เข้ามาแทนที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากจำเป็นต่อการรักษาความเข้มงวดทางนโยบายการเงิน ซึ่งการระบุเช่นนี้ไม่เคยปรากฎในผลการประชุมครั้งใดมาก่อน
ประเด็นการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย คือ การส่งสัญญาณของเฟด โดยการส่งสัญญาณของเฟดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจฉบับล่าสุด ที่ระบุถึงตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟดในปี 2024 ที่ระดับ 4.50-4.75% หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราว 3 ครั้ง จากระดับปัจจุบัน ซึ่งรุนแรงกว่าที่เคยส่งสัญญาณว่าจะปรับลดราว 2 ครั้ง แต่ก็ถือว่าสอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐในปีดังกล่าว
สำหรับส่วนที่ 2 คือ การแถลงผลการประชุมของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ที่ได้มีการแสดงทัศนะเชิงบวกต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ พร้อมยืนยันการสิ้นสุดภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นด้วยการกล่าวว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมหลังจากนี้ อีกทั้งยังได้ส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญกับภาวะถดถอยในปีดังกล่าวก็ตาม โดยชี้ว่า หากเศรษฐกิจมีสัญญาณต่อการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็ไม่มีความจำเป็นที่เฟดต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปอีก
-
ราคาทองคำลุ้นสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่
การชี้นำถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจผ่อนคลายลงเป็นอย่างมากของเฟด ได้มีผลให้ตลาดปรับคาดการณ์ต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมี.ค. ปี 2024 และปรับลดลงราว 1.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ภายในปีดังกล่าว
กระแสคาดการณ์ดังกล่าว นับเป็นปัจจัยสำคัญให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ มีการปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 เดือน ราคาทองคำจึงได้รับแรงหนุนต่อการปรับตัวขึ้นไปเคลื่อนไหวในระดับสูง
อนึ่ง แม้ว่าราคาทองคำยังไม่ได้สร้างระดับสูงสุดใหม่ แต่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาคาดการณ์ว่า หากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมี.ค. ราคาทองคำมีแนวโน้มเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยที่ระดับ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2024
นอกจากนั้น หากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างอย่างน้อยที่ 1.00% ในปีดังกล่าว ราคาทองคำอาจสร้างระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในปี 2024 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของวายแอลจี ที่ประเมินว่า หากราคาทองคำสามารถยืนเหนือระดับ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อได้ถึง 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจะเป็นระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาล
รับชมวีดีโอ ทิศทางราคาทองคำปี 2024