นายกรัฐมนตรี สั่งแก้หนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งปี 2565 กระทรวงการคลัง เร่งสั่งการหน่วยงานในสังกัด แก้หนี้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ หนี้การศึกษา หนี้ครู และลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ เร่งแก้หนี้ให้กับลูกค้า
.
4 ม.ค.65 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน จึงได้สั่งการและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นพันธกิจหลัก และเร่งดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป ดังนี้
1.การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น กยศ. ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้แล้วในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระคืน การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหา เป็นต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระที่ลดลง
ได้กำชับให้ กยศ. เร่งติดตามการแก้ไขพระราชบัญญัติเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว พร้อมทั้ง กยศ.ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งช่องทางออนไลน์ผ่าน Application "กยศ. Connect" และเว็บไซต์ www.studentloan.or.th รวมทั้งช่องทางออฟไลน์
2.การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างยั่งยืน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แจ้งไปยังผู้แทนกระทรวงการคลังในทุกสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้เร่งกำหนดวิธีปฏิบัติและแนวนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันในเดือนมกราคม 2565
3.การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาร่วมกับ ธปท. กำหนดแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อ และธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงสินเชื่อ เพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เหมาะสมต่อไป
4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู และข้าราชการตำรวจ ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการครูอย่างจริงจัง และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ
5.การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้นั้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ใช้ SFIs เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงดอกเบี้ยในตลาด และดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของ SFIs ที่ต้องช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราที่เหมาะสม
6.การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้มีนโยบายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ให้เข้าร่วมกับโครงการคลินิกแก้หนี้ของ ธปท. เพื่อสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ ดำเนินโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจและมาตรการต่างๆ ให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณี อีกทั้งยังได้มอบหมายให้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ของแต่ละแบงค์อีกด้วย
7.การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs ได้มอบหมายให้ สศค. และ ธปท. พิจารณาแนวทางการดูแลลูกหนี้ SMEs ที่ได้สินเชื่อ Softloan ระยะแรกและจะครบกำหนดชำระ 2 ปี โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการดูแลดังกล่าวได้ก่อนที่สินเชื่อ Softloan จะครบกำหนดในช่วงเดือนเมษายน 2565
8.การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยกระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของ SMEs ให้แล้วเสร็จ
รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดทำโครงการ "สร้างงานสร้างอาชีพ" เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาการขาดรายได้จากการตกงาน ถูกเลิกจ้าง หรือลดเงินเดือน ให้เข้าโครงการอบรมเสริมความรู้ และได้รับสินเชื่อนำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้และลดภาระหนี้สินนอกจากนี้ ในระยะยาวกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและทั่วถึง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนฯ ดังกล่าวต่อไป
ข้อมูลจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เคยเปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ของปี 2564 มีมูลค่ากว่า 14.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ที่อยู่ระดับ 4.7% หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน