อาชีพ “นักการทูต” มักถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับผู้หญิงเท่าใดนัก ด้วยลักษณะของงานที่ต้องเดินทางบ่อยครั้งและอุทิศเวลาให้กับหน้าที่การงานมากกว่าชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อมาถึงระดับ "เอกอัครราชทูต" ซึ่งสัดส่วนของผู้หญิงที่สามารถก้าวถึงตำแหน่งนี้ก็ยังคงน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด
ทีมข่าว Spotlight World ได้รับเกียรติในการพูดคุยกับนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย หนึ่งในเอกอัครราชทูตหญิงที่ประจำการอยู่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
ท่านทูตซากิฟได้เล่าถึงสถานการณ์ของสิทธิผู้หญิงในอิสราเอลว่า มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใดในโลก เนื่องจากผู้หญิงอิสราเอลต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นระยะเวลา 2-3 ปีอย่างน้อย โดยท่านทูตก็เคยผ่านการฝึกในกองทัพ ทำให้สามารถขับรถถังและใช้อาวุธได้
อย่างไรก็ตาม ในกองทัพก็มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน เพราะในบางหน่วยก็จะไม่มีผู้หญิงประจำการ อย่างเช่น ในอดีตผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าร่วมในหน่วยนักบินของกองทัพ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการปรับแก้กฎหมายให้ผู้หญิงสามารถเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวได้
ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งกลุ่มฮามาสได้โจมตีอิสราเอล เราได้เห็นภาพของทหารหญิงและผู้หญิงชาวอิสราเอลที่ร่วมมือกันช่วยเหลือผู้คน นี่คือตัวอย่างของความกล้าหาญที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจน
จริงๆแล้วผู้หญิงในอิสราเอลได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี หรือผู้พิพากษา ซึ่งแสดงถึงความก้าวหน้าของผู้หญิงในสังคมอิสราเอล
ความรุนแรงต่อผู้หญิงเกิดขึ้นได้ทุกที่ "โดยเฉพาะในครอบครัว"
ในอดีตมีความเชื่อว่าผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยหรือได้รับการศึกษาที่ดีจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าผู้หญิงจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจน ผู้หญิงมักจะรู้สึกอายที่จะเปิดเผยเรื่องราวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือในที่ทำงาน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีมาตรการที่จริงจังในการปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรง
ในอิสราเอลมีกฎหมายที่ห้ามนายจ้างมีความสัมพันธ์กับลูกน้อง หากมีความสัมพันธ์ ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลาออก ซึ่งกฎหมายนี้ช่วยปกป้องผู้หญิงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้กฎหมายจะมีความสำคัญ แต่การปกป้องผู้หญิงยังต้องอาศัยการร่วมมือจากสังคมและการมีความรับผิดชอบร่วมกันในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มฮามาสได้บุกโจมตีเมืองเล็กๆ ของอิสราเอล และเหตุการณ์ในงานเทศกาลดนตรี ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนและการสังหาร
รวมกันสร้างโลกที่ดีกว่าเพื่อผู้หญิง
สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างความตระหนักในสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิง เพื่อให้พวกเธอรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง ผู้นำทางสังคมต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะผู้หญิงควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
สิ่งที่สองคือ การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ต้องมีกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมในทุกภาคส่วน แม้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งสูงๆ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรหรือในบริษัทขนาดใหญ่ แต่ในบางบริษัท การมีผู้หญิงในตำแหน่งสูงยังคงมีจำนวนจำกัด ซึ่งไม่สามารถถือเป็นความเท่าเทียมได้เต็มที่ นอกจากนี้ ผู้หญิงยังต้องแบกรับภาระในครอบครัว แม้จะมีหน้าที่การงานที่สูงก็ตาม ผู้ชายจึงควรเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระด้วย
บางครั้งผู้หญิงยังต้องทำงานบ้าน แม้ว่าจะทำงานนอกบ้านแล้วก็ตาม ท่านทูตในฐานะแม่ลูกสาม เข้าใจสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี การทำงานและการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ผู้หญิงต้องเข้าใจว่า เราทำดีที่สุดแล้ว และไม่ต้องกดดันตัวเองมากเกินไป เพราะเราคงไม่สามารถทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ บางสิ่งต้องปล่อยไป เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุล
สุดท้าย การสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิงนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการให้การศึกษาที่ดีแก่พวกเธอ เพื่อให้พวกเธอสามารถเติบโตและมีโอกาสที่เท่าเทียมในทุกด้านของชีวิต