รับมือ ‘ของแพง’ ได้จริงหรือ ?
ขวัญชนก วุฒิกุล
เคยคุยเรื่อง ‘รับมือของแพง’ ใน Spotlight Exclusive ไปแล้ว วันที่คุยกัน ต้องบอกว่า “ของยังไม่แพงจริง” เพราะหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันดีเดย์ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีกลิตรละ 2 บาท จากที่อั้นไว้ให้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท จนรัฐแบกต่อไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นนั่นแหละที่ “ของแพงจริงๆ” และจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะรัฐประกาศว่า จะขยับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลต่อ (ถ้าราคาในตลาดโลกยังพุ่งสูงขึ้น) โดยตั้งเพดานอีกครั้งที่ลิตรละ 35 บาท หมายความว่า ราคาน้ำมันดีเซลยังขึ้นได้อีกลิตรละ 3 บาท (จาก 32 บาทเป็น 35 บาท)
จะปรับขึ้นช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเร่งในตลาดโลก ซึ่งก็คือ ราคาน้ำมัน ที่ต้นตอสำคัญมาจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน
ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่นับรวมราคาเนื้อหมูหรือไข่ ที่มีปัจจัยเฉพาะทำให้แพงมาก่อนหน้านี้แล้ว คำถามคือ “เราจะเอาตัวรอดหรือรับมือกับปัญหาสินค้าและบริการแพงได้จริงหรือ”
ย้อนกลับไปก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตอนนั้นประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่า อัตราการว่างงานของเราต่ำมากอยู่แค่ประมาณ 1% กว่าๆ เท่านั้น แต่ปัญหาหลักๆ ของคนทำงานมีเงินเดือน อยู่ที่รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่หลังจากต้องเผชิญกับโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น คนที่มีงานทำก็ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง รายได้ที่ก่อนหน้านี้ “ไม่พอ” อยู่แล้ว ก็ยิ่งถูกกระทบหนักขึ้นไปอีก ไม่นับรวมปัญหาหนี้สิน ที่ทำให้อัตราหนี้ครัวเรือนของเราพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
"สถานการณ์ที่ต้องเผชิญในวันนี้คือ รายได้ที่เคยไม่พออยู่แล้ว ต้องเจอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ราคาสินค้าและบริการก็ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดตามภาวะเงินเฟ้อ แต่ครั้งนี้เป็นภาวะ “ของแพง” ที่ดันให้เงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ ขณะที่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเลย ไม่ได้ฟุ่มเฟือย ไม่ได้เปลี่ยนยี่ห้อของที่เคยใช้ แต่เพราะรายได้ที่ลดลงกับราคาของที่แพงขึ้น นั่นแหละคือปัญหา "
ถ้าตัดเรื่องการพึ่งพากลไกของรัฐในการเข้ามาช่วยเหลือ แล้วต้องพึ่งพาตัวเอง เราจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะสองตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้คือ 1.รายได้ และ 2. รายจ่าย ดังนั้น โอกาสที่จะรับมือกับปัญหา “ของแพง” ได้คือ ต้องทำให้รายได้เพิ่มขึ้น แม้รายจ่ายเพิ่มขึ้นก็ยังมีโอกาสรอด หรือถ้าทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ ก็ต้องทำให้รายจ่ายลดลง
สิ่งแรกที่ควรทำเพื่อให้รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง คือ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียดขึ้น
เพื่อให้รู้ว่า ในแต่ละเดือน เรามีรายรับเท่าไหร่ และมีรายจ่ายเท่าไหร่ โดยเฉพาะบัญชีรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายแน่ๆ และสำคัญ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ถ้ารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ ก็ต้องพยายามหารายได้เพิ่ม หรือถ้าหนี้ก้อนไหนที่สามารถเจรจาของผัดผ่อนไปได้ก่อนก็ต้องหาทาง เพื่อให้อย่างน้อยมีเงินเหลือสำหรับกินใช้ในเดือนนั้นๆ
ถ้าไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด เราจะไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง และจะไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการเงินต่อไปยังไง
สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้น คือ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเอง
ด้วยวิธีการ “กินอยู่ให้ต่ำกว่าฐานะ” หรือต้อง “ลดมาตรฐานการใช้ชีวิตของตัวเองลง” ภาวะแบบนี้ต้องยอมลำบากมากขึ้น จะใช้ชีวิตแบบที่เคยใช้ เคยกิน เคยอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเลือกซื้อหาของใช้จำเป็นที่ราคาถูกลง หรือบางรายการอาจจะต้องเลิกใช้เป็นการชั่วคราว สำหรับบางคนอาจจะต้องถึงขนาดเปลี่ยนที่อยู่เพื่อลดต้นทุนทางการเงินลงด้วยซ้ำ
ถ้าหงุดหงิดขัดใจว่า ทำไมต้องทำ ทำไมต้องเปลี่ยน ก็เพราะเรากำลังพูดถึง “การรับมือกับของแพง” ในภาวะที่รายได้ของเราเท่าเดิมหรือลดลงในแบบที่เราต้องพึ่งพาตัวเอง และทำให้ตัวเองรอดให้ได้ก่อน
หลักคิดจริงๆ คือ ใช้ชีวิตให้ละเอียดขึ้น รอบคอบขึ้น วางแผนการใช้ชีวิตและวางแผนการเงินให้มากขึ้น ที่เหลือคือ “อดทน” รอเวลาให้สถานการณ์ดีขึ้น และพยายามเพิ่มทักษะของตัวเองให้เรากลับเข้าสู่ระบบแรงงานที่สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด