ภัยการเงิน หายนะเพียงปลายนิ้วคลิก !
บทความโดยขวัญชนก วุฒิกุล
ถ้าลองถามคนที่อยู่รอบๆ ตัวสัก 10 คน เชื่อว่า 8 ใน 10 ของคนที่เราถาม ต้องเคยเจอ ‘มิจฉาชีพ’ ที่มาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะทางโทรศัพท์ แบบที่บางครั้งก็มาเฉพาะเสียง บางครั้งมาทั้งภาพและเสียง หรือบางครั้งมาเป็นข้อความพร้อมแนบลิงก์อะไรแปลกๆ
อยากแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งอยู่รอดปลอดภัยในช่วงที่ “มิจฉาชีพ” (ที่เราเรียกรวมๆ ว่า แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์) ออกหากินหนักๆ จนกระทั่งมีเหตุให้ต้องไปลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง เพื่อรับสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับสมาชิก หลังจากนั้น ก็เริ่มมีกรมตำรวจจราจรบ้าง มีบริษัทขนส่งชื่อแปลกๆ บ้าง โทรมาหาอยู่ 2-3 ครั้ง อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะขั้นตอนการลงทะเบียนต่างๆ นั่นหรือเปล่าที่ทำให้ “ข้อมูล” ที่เคยเป็นส่วนตัวหลุดออกไป แต่ก็ยังปักใจเชื่อแบบนั้นไม่ได้ 100% และดูเหมือนความพยายาม “ค้นหา” ว่ามิจฉาชีพมีข้อมูลของเราได้อย่างไรกลายเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการตั้งการ์ดป้องกันตัวเองจากหายนะทางการเงิน โดยเฉพาะเมื่อทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์มือถือ และทุกอย่างง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก !
ล่าสุด ได้รับข้อความเป็น SMS ส่งมาติดๆ กันหลายครั้งว่า “เงินหมด โทรกลับด่วน” พร้อมกับแนบลิงก์อะไรสักอย่าง ตอนแรกคิดว่า ฝั่งที่ส่งข้อความมาน่าจะส่งผิด แต่หลังจากนั้น มีข้อความแบบเดียวกันส่งจากเบอร์ต่างๆ อีก 2-3 ข้อความเข้ามาติดๆ กัน และเป็นแบบนี้อยู่ 2-3 วัน ก็เริ่มรู้สึกว่าผิดปกติ ก่อนที่จะลบข้อความทั้งหมดทิ้ง เพราะกลัวมือจะเผลอไปคลิกลิงก์ที่แนบมาแล้วจะกลายเป็นหายนะสำหรับตัวเอง
ถึงจะไม่ค่อยแน่ใจว่า ข้อความที่ส่งเข้ามาว่า “เงินหมด โทรกลับด่วน” พร้อมกับลิงก์ที่แนบมา เข้าข่าย “มิจฉาชีพ” ที่รอดูดข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือของเราหรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีใครได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ แต่ SMS ที่ส่งเข้ามาถี่ๆ ด้วยข้อความเดียวกัน จากเบอร์ไม่ซ้ำกัน ก็ต้องทำให้ดึงสติ ยั้งคิดไว้ก่อนผลีผลามโทรกลับไป
สุดท้ายก็เลยนั่งคิดได้ว่า ‘มิจฉาชีพ’ ที่มาในรูปแบบของ ‘ภัยการเงิน’ จะมุ่งเน้นโจมตีเหยื่อใน 3 รูปแบบ 1. คือ เล่นกับความกลัว 2. คือ เล่นกับความโลภ และ 3.คือ เล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์
เล่นกับความกลัว : รูปแบบนี้จะเจอบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะมาทางข้อความเสียง หรือใช้ข้อความอัตโนมัติสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจให้กับเหยื่อ ข้ออ้างที่นิยมใช้มากที่สุด คือ “หลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต” เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจและง่ายต่อการชักจูงให้เหยื่อโอนเงิน หรืออ้างว่า “บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้า ยาเสพติดหรือการฟอกเงิน” ให้โอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบและยืนยันความบริสุทธิ์ รวมถึงการอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ ทั้งตำรวจ กสทช. ดีเอสไอ และอื่นๆ เพื่อสร้างความกลัวให้กับเหยื่อ
เล่นกับความโลภ : มิจฉาชีพจะอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้ หรือบางครั้งจะมาในรูปแบบการคืนเงินภาษี โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืน ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามขั้นตอนที่บอกที่ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเป็นขั้นตอนการโอนเงินให้มิจฉาชีพ หรือ “หลอกให้สแกนคิวอาร์โค้ด” เพื่อรับเงิน โดยปลอมเป็นร้านค้าอ้างว่า สินค้าหมดและจะคืนเงินให้
เล่นกับความอยากรู้อยากเห็น : กรณีนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนเท่ากับ 2 กรณีแรก แต่ก็เป็นกรณีที่พึงระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อมีข้อความแปลกๆ เข้ามากระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น โดยแนบลิงก์ให้เหยื่อคลิกเข้าไปดูว่ามันคืออะไร สุดท้ายกลายเป็น “ไวรัส” ที่มิจฉาชีพสามารถเจาะข้อมูลบัญชีโซเชียลต่างๆ ของเหยื่อได้
จริงๆ กลโกงที่จะนำไปสู่หายนะทางการเงินยังมีอีกมากมาย ทั้งการปลอมบัญชีเฟซบุ๊ค ปลอมบัญชีไลน์ หลอกให้นำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ น่าแปลกที่แม้จะเป็นข่าวครึกโครม แต่ก็ยังมีเหยื่อหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ว่า กลโกงจะมาในรูปแบบไหน จะซับซ้อนมากขึ้นแค่ไหน แต่คาถารับมือมีเพียงอย่างเดียวคือ “ต้องมีสติ” เมื่อได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ควรทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือแม้ว่าจะเป็นคนรู้จักที่ส่งข้อความแปลกไปจากปกติ ก็ควรจะโทรศัพท์กลับไปตรวจสอบก่อนทุกครั้ง
ส่วนที่ต้องเพิ่มเติมจากที่ภาครัฐพยายามรณรงค์ว่า “อย่าโอน อย่าโอน” แล้ว ต้องไม่ลืมคำว่า “อย่าคลิก อย่าคลิก” โดยเฉพาะลิงก์หรือไฟล์แนบแปลกๆ เพราะโลกปัจจุบัน เรื่องเงินเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส เรื่องของ “หายนะทางการเงิน” ก็เช่นกัน
อ่านบทความอื่นของ. คุณขวัญชนก วุฒิกุล ได้ที่นี่