การเงิน

เมื่อดอกเบี้ยขึ้น! กับสิ่งที่คนมีหนี้ต้องรู้

19 มิ.ย. 65
เมื่อดอกเบี้ยขึ้น! กับสิ่งที่คนมีหนี้ต้องรู้
ไฮไลท์ Highlight
"แบงก์ชาติเตรียมขึ้นดอกเบี้ย ข่าวใหญ่ที่ดูไกลตัวแต่เป็นเรื่องที่แสนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนที่มีหนี้หรือคิดกำลังจะมีหนี้ เพราะดอกเบี้ย คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายหลักของการมีหนี้สิน ซึ่งหากแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารต่างๆ ก็มักต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อต่างๆ ของธนาคารตาม ทั้งสินเชื่อที่มีผู้มาขอใหม่และสินเชื่อเดิมที่มีผู้กู้อยู่แล้วหากสินเชื่อนั้นในสัญญาสามารถปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้"  

"แบงก์ชาติเตรียมขึ้นดอกเบี้ย ข่าวใหญ่ที่ดูไกลตัวแต่เป็นเรื่องที่แสนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนที่มีหนี้หรือคิดกำลังจะมีหนี้ เพราะดอกเบี้ย คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายหลักของการมีหนี้สิน ซึ่งหากแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารต่างๆ ก็มักต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อต่างๆ ของธนาคารตาม ทั้งสินเชื่อที่มีผู้มาขอใหม่และสินเชื่อเดิมที่มีผู้กู้อยู่แล้วหากสินเชื่อนั้นในสัญญาสามารถปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้"

 

istock-1310496743

วันนี้มีข้อมูลที่ผู้เป็นหนี้ควรรู้เมื่อดอกเบี้ยขาขึ้นมาฝากกัน 

1.หนี้ที่มีแบบไหน ไม่ได้รับผลกระทบ

หนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้ธนาคารมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ย คือ หนี้ที่สัญญาเงินกู้ระบุดอกเบี้ยไว้เป็นตัวเลขที่ชัดเจนซึ่งเรียกว่าดอกเบี้ยแบบคงที่ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ทั่วไป สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีกำหนดยอดผ่อนและระยะเวลาผ่อนที่ชัดเจนซึ่งมักเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ ฯลฯ รวมถึงหนี้บัตรเครดิต ที่อัตราดอกเบี้ยเท่ากันทุกธนาคารซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 16%ต่อปี และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่ายๆ เหมือนสินเชื่อประเภทอื่น


2.หนี้ที่มีแบบไหน ที่ได้รับผลกระทบ

หนี้ที่ดอกเบี้ยเปลี่ยนได้หากธนาคารประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง มักเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธุรกิจ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลบางแห่งหรือบางสัญญา ที่จะมีการคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน จากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง หรือเรียกว่าดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น สินเชื่อที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า MRR-2%ต่อปี ซึ่ง MRR ที่ว่าจะเป็นอัตรากี่ %ต่อปี อยู่ที่ว่า ณ ตอนนี้ ธนาคารแห่งนั้นประกาศ MRR ไว้ที่เท่าไร เช่น MRR = 6%ต่อปี แสดงว่าสินเชื่อนี้ปัจจุบันถูกคิดดอกเบี้ยที่ 4%ต่อปี (= 6% - 2%) เมื่อแบงก์ชาติประกาศขึ้นดอกบี้ย มักส่งผลให้ธนาคารต้องมีการประกาศเปลี่ยนแปลง MRR ตาม เช่น เดิม MRR อยู่ที่ 6%ต่อปี อาจเพิ่มขึ้นเป็น 6.25%ต่อปี ทำให้ผู้กู้สินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแบบลอยตัว MRR-2% จะมีต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 4%ต่อปี เป็น 4.25%ต่อปี เป็นต้น

 

ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแม้ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้ยอดผ่อนแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ก็ทำให้เงินที่ผ่อนในแต่ละเดือนนั้นถูกนำไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยมากขึ้น ส่งผลให้ยอดหนี้ลดช้าลง และดอกเบี้ยรวมตลอดสัญญาสูงขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น

  • หากตัดสินใจกู้บ้าน 1 ล้านบาท สัญญา 30 ปี ตอนที่ดอกเบี้ย 6%ต่อปี จะผ่อนเดือนละ 6,000 บาท หากอัตราดอกเบี้ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดอกเบี้ยรวมที่จ่ายตลอดสัญญาอยู่ที่ 1,158,382 บาท

  • แต่หากหลังเซ็นต์สัญญากู้ไปแล้ว ไม่กี่วันต่อมาธนาคารประกาศเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยจาก 6%ต่อปี เป็น 6.25%ต่อปี (สมมติหลังจากนั้นไม่มีประกาศเปลี่ยนดอกเบี้ยอีกเลย) หากผ่อนเดือนละ 6,000 เท่าเดิม หนี้จะหมดช้าลงเป็น 32 ปี 7 เดือน ดอกเบี้ยรวมที่จ่ายตลอดสัญญาอยู่ที่ 1,343,256 บาท หรือจ่ายดอกเบี้ยรวมมากขึ้น 184,874 บาท เป็นต้น


3.ผลกระทบ เมื่อคิดกู้หนี้เพิ่ม

หนี้ทั่วไป เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สินเชื่อธุรกิจ ฯลฯ เมื่อแบงก์ชาติมีการขึ้นดอกเบี้ย สินเชื่อเหล่านี้ก็มักมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้ใหม่ให้สูงขึ้นกว่าคนเดิมที่กู้อยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน ทำให้แม้จะเป็นขอกู้วงเงินเท่าเดิมแต่ยอดผ่อนแต่ละเดือนจะสูงกว่าคนเดิมที่กู้ไปก่อนหน้านี้

ตัวอย่างเช่น

• การกู้บ้าน 1 ล้านบาท สัญญา 30 ปี หากกู้ตอนที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 6%ต่อปี จะผ่อนเดือนละ 6,000 บาท
• แต่หากวงเงินกู้และระยะเวลาเท่าเดิม แต่กู้ตอนที่ดอกเบี้ยอบู่ที่ 6.25%ต่อปี จะต้องผ่อนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 6,157 บาท

ควรวางแผนจัดการหนี้สินอย่างไร ในช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น

  • เช็กหนี้ที่มีว่าเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่หรือลอยตัว หากเป็นแบบลอยตัวให้เตีอนตนเองเลยว่าหลังจากนี้จะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น

  • เช็กความสามารถในการผ่อนของตนเองและเงื่อนไขสัญญาว่าชำระมากกว่าขั้นต่ำได้หรือไม่ เพื่อตัดสินใจทยอยผ่อนเพิ่ม หนี้ที่มีจะได้หมดเร็วขึ้น ช่วยลดดอกเบี้ยโดยรวมตลอดสัญญาให้น้อยลง

  • เช็กเงินเก็บที่มีว่ามีมากพอจนสบายใจแล้วหรือยัง ซึ่งจำนวนเก็บที่เหมาะสมในยุคที่เงินทองหายากหรือมีความเสี่ยงที่หลายบริษัทจะปลดพนักงาน คือ การมีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 12 เดือน ซึ่งหากมีเงินเก็บเพียงพอแล้ว การเร่งผ่อนเพิ่มให้หมดหนี้เร็วขึ้น ก็ไม่น่าใช่เรื่องที่ลำบากใจเลย

  

ดอกเบี้ยขึ้น ข่าวร้ายของคนมีหนี้ ที่ทำให้การหมดนั้นต้องช้าออกไปและมาพร้อมดอกเบี้ยรวมที่ต้องจ่ายมากขึ้น ดังนั้นคนมีหนี้จึงต้องให้ความสำคัญและหันกลับมาจัดการหนี้ที่มีเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด เท่าที่เงินเก็บและรายได้ที่มีอยู่จะสามารถทำได้

 

ลิงค์บทความอื่นๆของคุณราชันย์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อดอกเบี้ยขาขึ้น แล้วไทยจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ?

FED ขึ้นดอกเบี้ยกระทบประเทศไทยอย่างไร ลุ้นกนง.ขึ้นดอกเบี้ย ส.ค.นี้

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT