การเงิน

รู้ใน-รู้นอก รับมือวิกฤตการเงินในกระเป๋า

8 ก.ค. 65
รู้ใน-รู้นอก รับมือวิกฤตการเงินในกระเป๋า
ไฮไลท์ Highlight

เรารู้ว่ารายได้ถูกกระทบแน่ๆ ต้องแยกเรื่องเงินออกมาจากปัญหาอื่นๆ แล้วสำรวจว่า เรามีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ รับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้นานแค่ไหน ประเมินเงินในทุกลิ้นชักที่เรามี แล้วเริ่มมองว่าจะหาเงินเพิ่ม เพื่อตุนไว้กับความไม่แน่นอนข้างหน้าได้อย่างไร ตอนนั้นเริ่มมองว่า ทรัพย์สินอะไรที่ไม่จำเป็น ถ้าขายได้ เราขายไปก่อนเลย เก็บเงินไว้ก่อน อันนี้ หลักคิดง่ายๆ คือ อย่ายึดติดว่า เราต้องเก็บอันนี้ไว้ ต้องเก็บอันนั้นไว้ อะไรที่ขายแล้วได้เงินมาสำรองไว้ เราจะลงมือทำทันที

ครั้งแรกตั้งใจจะพาดหัวบทความในสัปดาห์นี้ว่า “รู้ใน-รู้นอก รับมือวิกฤต” แต่พอคิดพิจารณาแล้ว หลายๆ คนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่า บรรยากาศรอบตัวเข้าขั้น “วิกฤต” ถึงแม้จะมีคำเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 แต่สถานการณ์ต่างๆ ทั้งการเปิดประเทศ ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนจะเคลื่อนไปข้างหน้า จนไม่ได้กระทบกับรายได้เหมือนที่ผ่านมา


แต่สำหรับใครอีกหลายๆ คน พวกเขายังเผชิญภาวะวิกฤต รายได้ไม่พอ รายจ่ายเพิ่มขึ้น ชักหน้าไม่ถึงหลัง เมื่อบรรยากาศโดยรวมมีความแตกต่างกัน บางคนผ่อนคลายแล้ว บางคนยังตึงเครียดอยู่ การเลือกใช้คำว่า “รับมือวิกฤตการเงินในกระเป๋า” จึงน่าจะพอฟังได้อยู่

ประมาณกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับเชิญให้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการงานเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจไทยปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่จัดโดยบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด การบรรยายพิเศษในหัวข้อดังกล่าวทางผู้จัดงาน ได้เชิญ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก มาเป็นผู้บรรยาย ถึงแม้เนื้อหาที่คุณศุภจีพูดให้ฟังอาจจะดูเหมือนภาพใหญ่ แต่ถ้าฟังอย่างละเอียดและค่อยๆ แยกย่อยลงไป จะเห็นว่า ประเด็นที่คุณศุภจีพูดถึงนั้น สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตของคนทั่วๆ ไปได้ แบบจับต้องได้จริง และลงมือทำได้จริงๆ

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)
คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

 


            เรื่องที่ 1 เมื่อถามคุณศุภจีว่า เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงควรจะรับมืออย่างไร

            คุณศุภจีบอกว่า เรื่องที่ต้อง “รู้” คือ “รู้ใน” ซึ่งหมายถึงรู้จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง กรณีของกลุ่มดุสิตธานี ก่อนที่คุณศุภจีจะเข้ามารับตำแหน่งบริหารเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ธุรกิจอาจจะพึ่งพาบางอย่างมากเกินไป เช่น มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมถึง 90% ส่วนอีก 10% มาจากด้านการศึกษา ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจที่จะแสวงหากำไร ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของกลุ่มดุสิตธานีเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี ทำให้อาจจะคุ้นเคยกับรูปแบบเดิมๆ

 

            “เมื่อ ‘รู้ใน’ แล้ว เราก็ต้องปรับ ต้องลดการพึ่งพารายได้อย่างอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เราต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้ เป็นการกระจายการลงทุน ทำให้กลุ่มดุสิตธานีเริ่มลงทุนในธุรกิจอาหารและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”

 

            นอกจาก “รู้ใน” แล้ว ก็ต้อง “รู้นอก” นั่นคือ มองไปข้างนอกอย่างรอบด้าน เพราะโลกเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน รูปแบบธุรกิจเปลี่ยน ระบบดิจิทัลเข้ามามีผลกับชีวิตเรามากขึ้น

 

            การ “รู้ใน” และ “รู้นอก” ที่คุณศุภจีพูดถึง ทำให้นึกถึงลูกหนี้สองรายที่เพิ่งเจอเมื่อไม่นานมานี้ คนหนึ่งถึงจะมีหนี้ แต่ก็กำลังไปได้สวยกับอาชีพไรเดอร์ ขณะที่อีกคนมีปัญหา เป็นหนี้เพราะประกอบอาชีพขายสลากกินแบ่ง พอขายไม่หมด จะส่งคืนก็ไม่ได้ ทำให้ต้องรับภาระสลากกินแบ่งที่ไม่ถูกรางวัล

 

            จริงๆ การแก้ปัญหา นอกจากจะต้อง “รู้ใน” คือ รู้ความถนัด รู้ความสามารถของตัวเองแล้ว ยังต้อง “รู้นอก” เช่นอาชีพไรเดอร์ ก็ต้องรู้ว่า ล่าสุดมีการประเมินจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า อาชีพไรเดอร์ โดยเฉพาะส่งอาหาร กำลังได้รับผลกระทบหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คนออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น ออกไปทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น หรืออาชีพขายสลากกินแบ่ง ก็ถูกกระทบจากการขายสลากออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   

 

            ถ้ารู้ก่อน ปรับตัวได้ก่อน ก็จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

 

            เรื่องที่ 2 ถามคุณศุภจีว่า เมื่อเจอกับปัญหา มีวิธีการรับมืออย่างไร

            เรื่องนี้คุณศุภจีตอบว่า อย่างแรกเลย คือ แบ่งหรือซอยย่อยปัญหาให้เล็กลง เพราะถ้าปัญหารวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ การแก้ไขอาจจะทำได้ยากกว่าการแยกส่วนปัญหาออกมาเป็นก้อนเล็กๆ แล้วค่อยๆ แก้ทีละเรื่อง ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตอนที่ธุรกิจท่องเที่ยวเจอกับการระบาดของโควิด-19 ตอนนั้นกลุ่มดุสิตธานีได้รับผลกระทบหนักมาก สิ่งแรกที่คุณศุภจีบอกว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนคือ เรื่องของ “เงิน”

            “เรารู้ว่ารายได้ถูกกระทบแน่ๆ ต้องแยกเรื่องเงินออกมาจากปัญหาอื่นๆ แล้วสำรวจว่า เรามีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ รับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้นานแค่ไหน ประเมินเงินในทุกลิ้นชักที่เรามี แล้วเริ่มมองว่าจะหาเงินเพิ่ม เพื่อตุนไว้กับความไม่แน่นอนข้างหน้าได้อย่างไร ตอนนั้นเริ่มมองว่า ทรัพย์สินอะไรที่ไม่จำเป็น ถ้าขายได้ เราขายไปก่อนเลย เก็บเงินไว้ก่อน อันนี้ หลักคิดง่ายๆ คือ อย่ายึดติดว่า เราต้องเก็บอันนี้ไว้ ต้องเก็บอันนั้นไว้ อะไรที่ขายแล้วได้เงินมาสำรองไว้ เราจะลงมือทำทันที”

วิธีคิดแบบนี้ สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ เริ่มตั้งแต่เมื่อเห็นสัญญาณของปัญหา เราต้องเริ่มสำรวจรายได้ สำรวจเงินที่เหลือในลิ้นชัก สำรวจรายจ่าย รวมถึงสำรวจทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ เพื่อให้เรามีเงินสำรองลดผลกระทบจากวิกฤตให้ได้มากที่สุด อย่ารอจนสุดทางและไม่มีทางให้เดินต่อ

 

istock-1299881396 


           
สุดท้าย เมื่อถามคุณศุภจีว่า เคยบอกตัวเองว่า “ไม่ไหวแล้ว” บ้างหรือไม่

            คุณศุภจี บอกว่า เกือบจะเคย แต่ยังไม่เคย เนื่องเพราะก่อนที่จะเดินไปจนถึงจุดที่ “ไม่ไหวแล้ว” จะหยุดคิดทุกครั้งว่า เรากำลังทำอะไร และเป้าหมายของเราคืออะไร

 

            “เหมือนกับเวลาวิ่งมาราธอน ระยะทางมันยาว 42 กิโลเมตร เป้าหมายคือเส้นชัย พอวิ่งไป 10 กิโลเมตร เราอาจจะเหนื่อย บอกตัวเองว่า “ไม่ไหวแล้ว” ก็ให้ถามตัวเองว่า เป้าหมายคืออะไร หรือพอวิ่งไป 20 กิโลเมตร เหนื่อยอีก ก็ถามตัวเองอีก เพราะสุดท้ายแล้ว เราทุกคนจะมีแบตสำรอง มีพาวเวอร์แบงก์สำหรับตัวเองเสมอ”

 

            หวังว่า วิธีคิดที่แบ่งปันจากคุณศุภจี คงทำให้หลายๆ คนพอมีหนทางรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตอันใกล้ ที่เราต่างก็ต้องการ “แบตสำรอง” เหมือนๆ กัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขวัญชนก วุฒิกุล

ขวัญชนก วุฒิกุล

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

advertisement

SPOTLIGHT