การเงิน

Romance Scam ภัยคนเหงายุคดิจิทัลสร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

6 ก.ค. 67
Romance Scam ภัยคนเหงายุคดิจิทัลสร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

การหาคู่ออนไลน์กำลังได้รับความนิยมจากผู้คนทุกช่วงวัยทั่วโลก และมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบสนองเทรนด์นี้ โดยมีผู้ไม่หวังดีใช้ความเปลี่ยวเหงาของผู้คนเป็นช่องทางในการหาเงิน และพยายามเข้าถึงตัวเหยื่อผ่านโซเชียลมีเดีย เรียกว่า “การหลอกให้รักผ่านออนไลน์” หรือ “Romance Scam” ซึ่งกำลังกัดกินสังคมและสร้างความเสียหายนับหมื่นล้านบาท

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 - 79 ปี โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 กรกรฎาคมถึง 31 สิงหาคม 2566 รวม 6,973 ตัวอย่าง จาก 24 จังหวัด พบว่าในปี 2566 คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และในจำนวนนี้เกินครึ่ง หรือประมาณ 18.37 ล้านคนล้วนตกเป็นเหยื่อ

ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ของประชากรไทยมีมูลค่า 49,845 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 2,660.94 บาทต่อคน โดยประเภทการหลอกลวงที่พบจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ การซื้อสินค้าออนไลน์และการหลอกลวงให้ลงทุน ถัดมาคือการหลอกลวงเกี่ยวกับการรับสมัครงาน การหลอกลวงเป็นคนใกล้ชิดที่กำลังเดือดร้อน การหลอกลวงว่ามีพัสดุตกค้าง การหลอกลวงเรียกเก็บเงิน รวมถึงการหลอกให้รักผ่านออนไลน์ หรือ Romance Scam ก็จัดเป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

สำหรับข้อมูลจาก Federal Trade Commission หรือ FTC หน่วยงานอิสระของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ พบว่า ในปี 2566 มีชาวอเมริกันตกเป็นเหยื่อของการหลอกให้รักผ่านออนไลน์ หรือ Romance Scam ด้วยเช่นกัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 41,040 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยรายคนจะอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 72,000 บาท

นักวิเคราะห์จาก Javelin Strategy & Research บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางการเงินอธิบายว่า การหลอกให้รักผ่านออนไลน์นั้น มิจฉาชีพจะเริ่มต้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เหยื่อเกิดความไว้วางใจ จนกระทั่งสามารถโน้มน้าวให้เหยื่อทำสิ่งต่าง ๆ ตามคำร้องขอ เช่น การโอนเงินให้ การยินยอมให้เข้าถึงบัญชีเงินฝาก และในบางกรณีอาจถึงขั้นยอมฟอกเงินให้

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจของ FTC เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย คือ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อกับมิจฉาชีพ โดย 40% ของเหยื่อที่สูญเสียเงินไปกับการหลอกให้รักผ่านออนไลน์ในปี 2565 บอกว่าพวกเขาเริ่มการติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์จาก Javelin Strategy & Research ให้สัมภาษณ์กับสื่อซีเอ็นบีซีว่า 73% ของเหยื่อการหลอกให้รักผ่านออนไลน์คือ ‘ผู้ชาย’

นอกจากการสูญเสียทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นเงินเก็บทั้งชีวิตแล้ว เหยื่อของ Romance Scam ยังอาจตกเป็นผู้ต้องสงสัยการฟอกเงิน รวมถึงได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวโทษตนเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกอับอาย สิ้นหวัง ไม่กล้าพบเจอผู้คน จนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง และอาจต้องเข้าพบจิตแพทย์เพื่อเยียวยาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า “เธอจะรักหรือเธอจะร้าย ?” เมื่อการหาคู่ออนไลน์อาจเป็นเพียงไม่กี่ทางเลือกของคนที่อยากจะมีคู่ ผู้เชี่ยวชาญจาก Fortalice Solutions บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้ให้ข้อสังเกตไว้ 5 ข้อในการตรวจจับ Romance Scam ดังต่อไปนี้

  1. ข้อความแปลก ๆ เหมือนไม่ใช่มนุษย์ หรือข้อความที่สั้นจนเกินไป เนื่องจากมิจฉาชีพใช้ “บอท” ในการพิมพ์และส่งข้อความซ้ำ ๆ ไปหาเหยื่อพร้อมกันครั้งละหลายร้อยคน เพียงแค่มีข้อมูลการติดต่อ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และบัญชีโซเชียลมีเดีย โดยข้อความอาจมีตั้งแต่การเรียบเรียงประโยคยาว ๆ ที่ดูแปลกประหลาด ไปจนถึงข้อความที่สั้นมาก ๆ หรือมีแค่คำว่า “สวัสดี” ทั้งนี้ หากข้อความนั้นถูกส่งมาโดยบอท เมื่อไม่มีการตอบกลับจากเหยื่อก็จะไม่มีการส่งข้อความใหม่มาอีก ผิดกับมนุษย์ที่หากตั้งใจจะสานความสัมพันธ์จริง ๆ ก็อาจมีการส่งข้อความมาอีกครั้ง
  2. ดีเกินจริง เพราะมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นมาให้ดูดี น่าหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าหน้าผม สถานที่ทำงานปลอม ๆ ไลฟ์สไตล์การกินดื่มหรูหรา ไปจนถึงเรื่องธรรมดาอย่างการพูดคุยกันเรื่องความชอบ งานอดิเรก ทัศนคติ ซึ่งเหยื่ออาจพบว่ามิจฉาชีพกำลังสนใจในสิ่งเดียวกัน รวมถึงความพยายามในการชักชวนเหยื่อให้เข้าไปสนทนาในเรื่องนั้น ๆ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งอาจมีการส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดและนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายอีกประการหนึ่ง
  3. หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือพยายามมาเจอแต่ติดปัญหา โดยมิจฉาชีพมักเตรียมสารพัดข้อแก้ตัวที่ไม่อยากพบกันในชีวิตจริง หรือบางครั้งมิจฉาชีพอาจ “ติดปัญหา” บางประการและไม่สามารถมาพบเหยื่อได้ เช่น ไม่มีค่าเดินทางหรือป่วยกะทันหัน ไม่มีค่ารักษา จึงขอให้เหยื่อส่งเงินไปช่วย เมื่อหายแล้วจะได้เดินทางมาหา
  4. กีดกันความสัมพันธ์จากคนอื่น ๆ โดยมิจฉาชีพจะพยายามขัดขวางไม่ให้เหยื่อพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อน ๆ โดยเฉพาะหากมีคนแสดงความสนใจในตัวเหยื่อในเชิงโรแมนติก พวกเขาก็จะพยายามขัดขวางให้ถึงที่สุด โดยอาจแสดงเป็นการหึงหวง
  5. ขอข้อมูลการเงินเพื่อแลกกับการรักษาความสัมพันธ์ โดยมิจฉาชีพจะพยายามบอกเลิกเหยื่อหรือพยายามตัดความสัมพันธ์ ทั้งนี้ หากเหยื่อจะยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ไว้ มิจฉาชีพก็อาจจะพยายามข้อมูลด้านการเงินหรือการขอเข้าถึงบัญชี บัตรเครดิต หรือสินทรัพย์อื่น ๆ

แล้วจะป้องกันตนเองจากการหลอกให้รักผ่านออนไลน์ หรือ Romance Scam ได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญจาก Fortalice Solutions ก็ได้ให้คำแนะนำง่าย ๆ ไว้อีก 5 ข้อ ได้แก่

  1. การใช้เครื่องมือค้นหารูปภาพแบบย้อนกลับ เพื่อช่วยให้สืบหาต้นฉบับของรูปภาพที่มิจฉาชีพอาจนำแอบอ้างหรือสวมรอย
  2. ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย
  3. พยายามถามเกี่ยวกับภูมิหลังของคนที่เราสานสัมพันธ์ด้วยและจดจำสิ่งที่พวกเขาพูด เพราะการพูดออกมาในแต่ละครั้งข้อมูลก็อาจจะไม่ตรงกัน
  4. หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงินที่มิจฉาชีพพยายามร้องขอให้ทำ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาครอบครัวหรือที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้
  5. การมาพบกันจริง ๆ โดยพยายามนัดพบกันในที่สาธารณะหรือสถานที่ที่มีคนเยอะ ๆ หากเกิดเหตุไม่คาดคิดก็ยังสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้างได้

ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อหรือตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam แล้ว ให้รวบรวมข้อมูล นำเอกสารส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชนและหลักฐานที่มีไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจ หรือแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ https://www.thaipoliceonline.com/

ที่มา : สสส., CNBC

advertisement

SPOTLIGHT