Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เซฟภาษี vs โปะหนี้ เลือกทางไหนดี มี  3 ข้อคิดช่วยตัดสินใจ
โดย : ราชันย์ ตันติจินดา

เซฟภาษี vs โปะหนี้ เลือกทางไหนดี มี 3 ข้อคิดช่วยตัดสินใจ

11 ต.ค. 67
22:04 น.
|
516
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • ทั้งการเซฟภาษีด้วยการลงทุนและการโปะหนี้ ล้วนได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินทั้งสิ้น แต่ต่างกันที่การโปะหนี้เป็นการลดค่าใช้จ่ายของการผ่อนหนี้โดยรวมลงและช่วยปลดหนี้ได้เร็วขึ้น

  • ส่วนการลงทุนลดหย่อนภาษีนอกจากเงินคืนภาษีแล้วก็เป็นการสะสมและต่อยอดเงินให้งอกเงย จนมีโอกาสมีเงินก้อนโตได้ในอีก 5 ปี

  • สำหรับคนที่ต้องการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายในอนาคต การเลือกเซฟภาษีด้วยกองทุนลดหย่อนภาษีหรือประกันสะสมทรัพย์ที่เน้นการสะสมและต่อยอดเงิน ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าการโปะหนี้ที่เน้นการลดภาระดอกเบี้ยลง

ปลายปีทีไร มีเรื่องลดหย่อนภาษีให้ต้องคิดทุกที โดยเฉพาะคนมีหนี้ที่อาจคิดมากกว่าคนอื่นตรงที่จะนำเงินที่มีไปลงทุนเซฟภาษีหรือโปะหนี้ที่มีอยู่ก่อนดี บทความนี้จึงมี 3 ข้อคิด สำหรับหรับคนที่กำลังเปรียบเทียบทางเลือกระหว่าง เซฟภาษี vs โปะหนี้ มาฝากกัน

ผลประโยชน์ ทางเลือกไหนสูงกว่า

สำหรับโปะหนี้ ผลประโยชน์ที่ได้ คือ การประหยัดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ลดลง ซึ่งหนี้แต่ละประเภทมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน เช่น หนี้บ้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 3%-7%ต่อปี หนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่อยู่ที่ 16%ต่อปี หนี้บัตรกดเงินสด/สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ประมาณ 20%-25%ต่อปี

การเซฟภาษี ผลประโยชน์ที่ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน (1) ผลตอบแทนการลงทุน เช่น กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวอาจอยู่ที่ 7%-10%ต่อปี หรือหากเป็นกองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนเฉลี่ยอาจอยู่ที่ 2%-3%ต่อปี (2) เงินคืนภาษี ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละคน เช่น คนเงินเดือน 50,000 บาท ฐานภาษีมักอยู่ที่ 10% เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น คนฐานภาษี 10% เลือกเซฟภาษีด้วยกองทุน ThaiESG ที่เน้นลงทุนหุ้นไทย และต้องถือครอง 5 ปีเต็ม ผลประโยชน์ที่ได้ คำนวณเบื้องต้นได้จาก

(1) ผลตอบแทนที่คาดว่าได้จากการลงทุน เช่น สมมติว่าได้ 10%ต่อปี บวกด้วย (2) อัตราเงินคืนภาษีเฉลี่ยต่อปี = ฐานภาษี 10% ÷ ระยะเวลา 5 ปี = 2%ต่อปี รวมเป็น 12%ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่สูงกว่าการนำเงินโปะหนี้บ้าน แต่ก็ยังน้อยกว่าการโปะหนี้บัตรเครดิต แต่ด้วยทางเลือกเดียวกันหากเป็นคนฐานภาษี 35% ผลประโยชน์จากการเลือกเซฟภาษีอยู่ที่ 10% + (35%÷5) = 17% ซึ่งพอๆ กับการโปะหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น

ความแน่นอน ของผลตอบแทน

หากเปรียบเทียบการ เซฟภาษี vs โปะหนี้บ้าน ผลประโยชน์จากการนำเงินไปเซฟภาษีโดยส่วนใหญ่อาจดูเป็นอัตราที่สูงกว่าการโปะหนี้บ้าน แต่ผลประโยชน์ที่ว่าก็ไม่ได้มีความแน่นอนเสมอไป เช่น หากพิจารณาผลตอบแทนของดัชนี SET TRI ซึ่งถือเป็นตัวแทนการลงทุนหุ้นไทย เช่น ลงทุนกองทุน ThaiESG และหรือกองทุน SSF ที่เป็นหุ้นไทยนั้น บางปีการลงทุนอาจมีกำไรสูงกว่า 17% เช่น การลงทุนในปี 2557 2560 2564 ฯลฯ แต่บางปีก็ขาดทุน 5%-10% ได้ เช่น การลงทุนในปี 2561 2563 2566 ฯลฯ

ในขณะที่การนำเงินไปโปะหนี้บ้าน แม้ได้ผลประโยชน์จากการประหยัดดอกเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็เป็นอัตราที่ค่อนข้างแน่นอน 3%-7%ต่อปี แม้บางปีดอกเบี้ย MLR MRR อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือลดลงบ้าง แต่ก็มักลดลงไม่ถึงปีละ 1% อีกทั้งแม้ว่าดอกเบี้ยอาจลดต่ำลงกว่าเดิมมากๆ แต่ก็ไม่มีทางเลยที่ผลประโยชน์จากการประหยัดดอกเบี้ยจะติดลบได้ ต่างจากการลงทุนที่อาจมีการติดลบได้ในบางปี

เซฟภาษี vs โปะหนี้

มีเป้าหมาย ต้องใช้เงินไหม

ทั้งการเซฟภาษีด้วยการลงทุนและโปะหนี้ ล้วนได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินทั้งสิ้น แต่ต่างกันที่การโปะหนี้เป็นการลดค่าใช้จ่ายของการผ่อนหนี้โดยรวมลงและช่วยปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ส่วนการลงทุนลดหย่อนภาษีนอกจากเงินคืนภาษีแล้วก็เป็นการสะสมและต่อยอดเงินให้งอกเงย จนมีโอกาสมีเงินก้อนโตได้ในอีก 5 ปี สำหรับกองทุน ThaiESG ในอีก 10 ปี สำหรับกองทุน SSF ตอนอายุ 55 ปี สำหรับกองทุน RMF หรือในระยะเวลาต่างๆ ตามแต่แบบประกันสะสมทรัพย์ที่เลือกไว้ เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายในอนาคต การเลือกเซฟภาษีด้วยกองทุนลดหย่อนภาษีหรือประกันสะสมทรัพย์ที่เน้นการสะสมและต่อยอดเงิน ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าการโปะหนี้ที่เน้นการลดภาระดอกเบี้ยลง

สำหรับคนที่ยังไม่มีเป้าหมาย อีกสิ่งหนึ่งที่ควรถามตัวเอง คือ “สบายใจ กับยอดเงินในบัญชีตอนนี้แล้วหรือยัง?” เช่น มีเงินในบัญชีมากเพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อยๆ 6-12 เดือนหรือยัง? หากว่ายัง ก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจหรือยังรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะเงินเก็บที่มียังไม่เพียงพอรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน หรือยังไม่รู้สึกภูมิใจมากพอกับฐานะการเงินที่สะท้อนผ่านจำนวนเงินในบัญชี ดังนั้นการเซฟภาษีผ่านกองทุนหรือประกันสะสมทรัพย์ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่าได้ สำหรับการตัดสินใจเลือกในช่วง 1-2 ปีนี้

เงินที่มีจะเลือก เซฟภาษี vs โปะหนี้ ควรเริ่มจากเช็กหนี้ที่มี หากมีหนี้ดอกเบี้ยสูงที่ไม่ใช่หนี้บ้าน ควรเร่งนำเงินไปโปะหนี้ให้เร็วและมากที่สุดก่อน เมื่อเหลือเฉพาะหนี้บ้านจึงค่อยพิจารณาและเปรียบเทียบว่า ควรนำเงินไปโปะหนี้บ้านก่อน หรือสะสมต่อยอดให้งอกเงยด้วยการเซฟภาษีดีกว่ากัน ด้วย 3 ข้อคิด เซฟภาษี vs โปะหนี้ เลือกทางไหนดี 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

แชร์
เซฟภาษี vs โปะหนี้ เลือกทางไหนดี มี  3 ข้อคิดช่วยตัดสินใจ