"ประเทศไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ในอัตรา 7% เทียบกับนานาประเทศอยู่ในระดับต่ำก็จริง แต่สภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เปราะบาง ขยายตัวต่ำ หากขึ้นภาษีมูลค่าในอัตราที่สูงถึง 15% จริงจะส่งผลกระทบต่อ GDP แน่นอน เพราะการบริโภคจะหดตัวจากราคาของที่แพงขึ้น"
แนวคิดของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม ,ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในสูตร 15-15-15 น่าจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ในอัตรา 7% การจะเพิ่มขึ้นอีก 8% จะกลายเป็นภาระอันใหญ่หลวงของผู้บริโภคที่ในเวลานี้กำลังเผชิญกับปัญหาปากท้อง ในขณะเดียวกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจจะทำให้รัฐ ไม่สามารถเก็บรายได้ได้มากอย่างที่คาดหวังไว้
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ออกมาดับความตั้งใจของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังเรียบร้อยแล้วย้ำว่า ยังไม่ปรับ VAT ที่15% แล้วและต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบก่อน
ดังนั้นวันนี้เรามาทำความเข้าใจกับ ภาษีมูลค่าเพิ่มว่าคืออะไร สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแค่ไหน และหากปรับขึ้นแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT พาไปหาคำตอบ
เริ่มต้นทำความเข้าใจกับภาษีมูลค่าเพิ่มกันก่อน ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า VAT ย่อมาจาก Value Added Tax ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือบริการในประเทศและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เป็นภาษีทางอ้อม เพราะผู้ที่รับภาระคือผู้บริโภคทุกคน โดยผู้ประกอบการ(ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)จะทำหน้าที่เก็บ VAT จากผู้บริโภคแล้วนำส่งให้กับกรมสรรพากรอีกที
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีรายได้เท่าไหร่ มากหรือน้อย คุณก็ต้องถูกเก็บ VAT ในอัตราที่เท่ากันซึ่งในประเทศไทยเก็บ VAT อยู่ในอัตรา 7% ซึ่งที่จริงแล้วกฏหมายกำหนดไว้ว่าสามารถเก็บได้ถึงระดับ 10% แต่นับจากปี 2540 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงจาก 10% เป็น 7% จากนั้นมาทุกปีเราจะได้เห็นครม.ขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อเนื่องทุกปีเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชนและในปี 2567 นี้ให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 - 30 กันยายน 2568
ทั้งนี้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยและต่างประเทศ จัดเก็บในอัตราแตกต่างกัน ข้อมูลจาก PWC พบว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกันเอง ก็พบว่าต่ำสุดคือ เมียนมา ซึ่งไม่อาจเรียกว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยซ้ำ เพราะเป็นภาษีการค้าที่เก็บในอัตรา 5% ที่เหลืออยู่ในอัตราที่สูงกว่าไทย เช่น ลาว 10% เวียดนาม 10% สิงคโปร์ 9% อินโดนีเซีย 11% ฟิลิปปินส์ 12% เป็นต้น
ส่วนประเทศที่เก็บ VAT สูงมากๆส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป อัตรา VAT ที่สูงสุดเห็นจะเป็น ฮังการี ในอัตรา 27% และยังมี เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ที่เก็บ VAT ในอัตรา 25% ส่วนญี่ปุ่น 10% ขณะที่จีนเก็บในอัตราที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับรัฐกำหนดมีตั้งแต่ 3% 9% 13% ขึ้นอยู่กับสินค้าและบริการ
สำหรับประเทศไทยภาษีมูลค่าเพิ่มมีความสำคัญต่อฐานะทางการคลังของประเทศมากเพราะเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุด คิดเป็นราว 30% ของรายได้ทั้งหมด ในปีงบประมาณ 2566 พบว่าภาครัฐมีรายได้ทั้งหมด 3,198,526 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่มาจากกรมสรรพากรเกือบ 70% หรือราวกว่า 2 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงถึง 913,581 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 767,320 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 395,744 ล้านบาท ดังนั้นการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมีความสำคัญต่อฐานะการคลังของรัฐอย่างมาก
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสต์เอ็กซ์ จํากัด แยกผลกระทบของการขึ้น VAT ออกเป็น 2 ส่วน คือ
ทั้งนี้มีการประเมินในเบื้องต้นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากมีการขึ้น VAT จาก 7%เป็น15% ส่วนที่กระทบมากที่สุดคือการบริโภคที่จะลดลงเนื่องจากราคาสินค้าจะแพงขึ้น โดยคาดว่า ภาคการบริโภคจะหดตัวลง 4% จากประมาณการณ์เดิม เช่นเดียวกับการลงทุนที่จะหดตัวลงเช่นกันจากของที่แพงขึ้น คาดการณ์ว่าการลงทุนจะหดตัวลงแรง 4.8% เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกประมาณ 2.8% แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ GDP ไทยจะลดลงจากประมาณการณ์เดิมอีก 2.4% ซึ่งถือว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงค่อนข้างรุนแรง
ส่วนในด้านงบประมาณในสถานการณ์เศรษฐกิจปกติ การขึ้น VAT 1% จะส่งให้รัฐมีรายได้เพิ่มราว 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.4% ดังนั้นการขึ้นอีก 8% ให้เป็น 15% หากทำได้จริง จะส่งผลให้รัฐเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 7 แสนล้านบาท ทำให้รายได้ของภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิม 900,000 ล้านบาท เป็น 1.71 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8 แสนล้านบาทหรือ 87% อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับขึ้นน่าจะเป็นลักษณะการทยอยขึ้นมากกว่า และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นครั้งเดียว และเป็นไปได้ยากหากจะปรับขึ้นในช่วงเวลานี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย ขณะเดียวกันหากขึ้น VAT แล้วกระทบกำลังซื้อประชาชนลดลงอย่างมาก ก็อาจส่งผลให้การจัดเก็บภาษี VAT ไม่ได้สูงขึ้นตามการประเมินนี้ได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากมีแนวคิดปรับโครงสร้างภาษีของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมา จึงมีทั้งข้อแนะนำและความเห็นของหลากหลายฝ่าย ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของการปรับขึ้น VAT เป็นจำนวนมาก ซึ่งมิใช่ว่าทุกฝ่ายไม่เล็งเห็นถึงความเสี่ยงทางการคลังของไทยที่ปัจจุบันกำลังขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5% แต่เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจไทยหลังโควิดยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางนี้เองจึงทำให้การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 15% จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้
ที่มา : PWC,กระทรวงการคลัง