ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีแล้วขาดทุน แต่ยังขายไม่ได้ เพราะไม่ถืงเวลา แบบนี้ควรทำยังไงดี?หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ใช่ไหมครับ (ผมก็เจอเหมือนกัน ฮา)
ปัจจุบันกองทุนลดหย่อนภาษีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และตัวล่าสุดอย่าง กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) นั้น ถูกใช้เป็นตัวช่วยสำหรับผู้เสียภาษีอย่างเรา ๆ ที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่มีเงือนไขคือ เมื่อซื้อแล้วต้องถือครองตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่สามารถขายได้ก่อนที่จะครบกำหนด
ดังนั้นหลายคนจึงเจอปัญหากับการขาดทุนที่ว่านั่นเองครับ ซึ่งถ้าให้ตอบแบบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา (ที่ผ่านมา) ก็ต้องบอกว่าก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีแบบไหนก็ตาม ให้เช็คความเสี่ยง ประเภทสินทรัพย์ ระยะเวลาถือครอง และเป้าหมายของเราให้ดีก่อนค่อยตัดสินใจซื้อ ไม่งั้นก็จะเจอปัญหาแบบนี้เสมอครับ ซึ่งถ้าหากเราเป็นนักลงทุนที่เข้าใจเรื่องนี้แล้ว จะสามารถวางแผนกลยุทธ์ในการซื้อกองทุนต่าง ๆ ได้ดี และเข้าใจว่าการซื้อกองทุนต่างๆเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ต้องยอมรับได้ประมาณนึงครับ
แต่ถ้าหากมันผิดไปแล้ว มาพูดตอนนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร สิ่งที่นักลงทุนจำนวนมากยังไม่ทราบว่า เราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ ผ่านการสับเปลี่ยนกองทุน (Fund Switching) ครับ
การสับเปลี่ยนกองทุน ถ้าให้พูดง่าย ๆ คือ “การย้าย” นั่นแหละครับ แต่หลักการจริง ๆ มันคือ การ “ขาย” หน่วยลงทุนจากกองทุนเก่า ไป “ซื้อ” หน่วยลงทุนใหม่ในกองทุนใหม่ โดยสามารถทำได้ทั้งภายในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เดียวกัน หรือระหว่างบลจ. (คนละแห่ง) ซึ่งประเด็นสำคัญสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษี คือ การสับเปลี่ยนกองทุน ไม่ถือเป็นการขายผิดเงื่อนไขที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี
สรุปทั้งหมดที่อธิบายมาแบบสั้น ๆ ก็คือ ถ้าลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีใด ๆ ก็ตามแล้วผลตอบแทนไม่เป็นที่น่าพอใจ เราสามารถเลือกสับเปลี่ยนกองทุนได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษีนั่นเองครับ และในทางกลับกัน ถ้าหากใครที่ลงทุนได้ผลตอบแทนดีจนเป็นที่น่าพอใจ แต่ไม่อยากเสี่ยงต่อ อยากพักเงินก้อนนี้ไว้ก่อน แล้วค่อยหาโอกาสลงทุนใหม่ ก็สามารถใช้การสับเปลี่ยนกองทุนเพื่อล็อกผลตอบแทนได้เช่นเดียวกันครับ
ดังนั้นถ้ามองภาพรวมของการสับเปลี่ยนกองทุนลดหย่อนภาษี เราจะได้รับประโยชน์ จากการปรับกลยุทธ์การลงทุน ในกรณีที่มีความรู้และความเข้าใจในการลงทุน สามารถเลือกใช้เพื่อเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและเป้าหมายการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป
ยกตัวอย่างเช่น การปรับลดความเสี่ยงโดยสับเปลี่ยนจากกองทุนหุ้นไปยังกองทุนตราสารหนี้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง หรือ การสับเปลี่ยนจากกองทุนตราสารหนี้ไปยังกองทุนหุ้นในช่วงที่มองเห็นโอกาสการลงทุนจากตลาดที่ฟื้นตัว หรือ การกระจายความเสี่ยง เพื่อกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภท ประเทศ หรือ จัดพอร์ตตอบโจทย์เป้าหมายของการลงทุนที่แตกต่างกัน ได้เช่นเดียวกัน
แต่พูดแบบนี้แล้วไม่ใช่ว่าจะสับเปลี่ยนได้เลยทันทีนะครับ หลักเกณฑ์และข้อควรพิจารณาในการสับเปลี่ยนกองทุนก็มีกำหนดไว้เช่นเดียวกัน นั่นคือ การสับเปลี่ยนต้องดำเนินการระหว่างกองทุนประเภทเดียวกันเท่านั้น โดยในปัจจุบันกำหนดไว้ตามนี้ครับ
อีกประเด็นคือเรื่อง ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และอาจจะเกิดขึ้นในการสับเปลี่ยนกองทุน ซึ่งโดยปกติแล้วการสับเปลี่ยนใน บลจ. เดียวกันมักจะไม่มีค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยน แต่การสับเปลี่ยนข้าม บลจ.นั้น มักจะต้องเสีย ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนออก (Switching Out Fee) จากทาง บลจ.เดิม ดังนั้นเช็คต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ให้ดีด้วยนะครับ
นอกจากนั้นการสับเปลี่ยนกองทุนยังมี ระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการที่แตกต่างกัน อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 วันทำการ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทกองทุน เงื่อนไขของแต่ละทาง บลจ. ครับ รวมถึงยังอาจจะมีเรื่องเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องจัดเตรียมเพิ่มเติมอีกด้วยครับ
มาถึงตรงนี้ ผมขอแนะนำเพิ่มเติมอีกที เพื่อย้ำความเข้าใจ นั่นคือ การตัดสินใจสับเปลี่ยนกองทุนควรผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ และดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุนในระยะยาว รวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูล เอกสารต่างๆ เป็นหลักฐานไว้ให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการลดหย่อนภาษีในภายหลังด้วยครับ
ถ้าเราทำทุกอย่างได้อย่างรอบคอบและมีการวางแผนที่ดี ผมเชื่อว่าทุกคนจะบรรลุวัตถุประสงค์การลงทุนและรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ได้อย่างแน่นอนครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms