3 CEO องค์กรชั้นนำระดับโลกจาก ซีพี เอสซีจี และ ไทยเบฟ ร่วมเวทีเดียวกันเพื่อสะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจต่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืน ย้ำชัดว่า แนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องเดินไปสู่เป้าหมายนี้ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ภายในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 มีไฮไลท์การร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อ “ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน” โดยมีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด , คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี และ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มาร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อ “ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน” โดยมี คุณสุทธิชัย หยุ่น ดำเนินรายการ
คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่า แม้โลกกำลังฟื้นตัวจากโควิด 19 แต่ในช่วงปีที่สงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลให้เกิดปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติ คือ ราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้น นำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้อสูง สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศใหญ่ๆกำลังเร่งปรับตัวสู่ความยั่งยืน หรือ SDG (Sustain Development Goals) กลุ่มยุโรป เดิมทีออกกฏเกณฑ์ให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการเก็บภาษีในธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน
ขณะที่อาทิตย์ที่ผ่านมายุโรปยังออกไกด์ไลน์ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) มีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า โดยจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน จะต้องรายงานปริมาณการนำเข้า รวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก
ขณะที่โมเดลของสหรัฐฯ ออกกฏหมาย IRA หรือ Inflation Reduction Act เป็นกฏหมายที่ไม่ได้เกี่ยวกับเงินเฟ้อแต่ออกมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเรื่องความยั่งยืน โดยรัฐฯมีวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอินเซ็นทีฟให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในเรื่องกรีน ในช่วงระยะเวลา 10 ปี วงเงินดังกล่าวสูงกว่า GDP ประเทศไทย 2 เท่า ( GDP ไทยราว 500 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผลที่ตามมาคือ เกิดการลงทุนมากขึ้น
โดยในปี 2022 เป็นครั้งแรกของโลกที่การลงทุนในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ได้แซงการลงทุนในกลุ่ม น้ำมันและก๊าซ ไปแล้ว เชื่อมั่นว่า อีก 10 ปีข้างหน้าการลงทุนในเรื่องกรีนจะแทนที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมได้ทั้งหมด
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ระบุว่า ในการประชุม Global Compact ที่สหรัฐฯมีการประเมินเรื่องความสำเร็จสู่เป้าหมายความยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ทั้งโลกสามารถทำได้เพียงแค่ 12 %เท่านั้น ยังเหลือเวลาอีก 7 ปี ที่ทุกฝ่ายต้องทำให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืน
ส่วนของประเทศไทย ถือว่า มีความคืบหน้าเรื่องความยั่งยืนอันดับ 1 ในอาเซียน และไทยเป็นตัวอย่างที่ดีโดยเฉพาะภาคเอกชน แต่อย่างไรก็ตามยังมีหลายสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ
ส่วนภาพรวมเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปีที่แล้ว ลดการการปล่อยคาร์บอนฯได้ 70% เท่านั้น ทำให้เราต้องจ่ายคาร์บอนเครดิตไป 15 ล้านบาท ถ้าสมมุติเราทำไม่ได้ตามเป้าหมายเลยและยังใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราต้องซื้อคาร์บอนเครดิตถึง 2,000 ล้านบาทต่อปี นี่คือสโคปการทำธุรกิจของตัวเองเท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมคู่ค้าและห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยเช่นกัน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งเป้าหมาย Carbon neutral ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 ส่วนเป้าหมายของประเทศไทยคือ 2065
ทั้งนี้หากนับเป็นจำนวนจัดการก๊าซคาร์บอนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในสโคป 1-2 ต้องจัดการคาร์บอน 7 ล้านตันคาร์บอน แต่หากรวมคู่ค้า พาร์เนอร์ในห่วงโซ่อุปทาน รวม 22 ประเทศที่ CP ลงทุนหรือ สโคป 3 ต้องจัดการคาร์บอน 70 ล้านตันคาร์บอน ดังนั้นหากนโยบายรัฐ ส่งเสริม เรื่องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นจะเป็นตัวเร่งและมีส่วนให้สามารถบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้อินเซ็นทีฟกับภาคธุรกิจ SME ด้วยเพื่อให้ธุรกิจเล็กสามารถทำตามเป้าหมายให้ทันเช่นเดียวกัน
ขณะที่คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พูดถึงการปรับตัวให้อยู่รอดให้ยั่งยืนของภาคธุรกิจที่ต้องมี 3 เรื่อง คือ วิ่ง-ซ่อน-สู้ คำว่า วิ่ง - ในทีนี้สะท้อนสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องตื่นตัว ตื่นรู้ เราสามารถมองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในโลกธุรกิจต้องมีความเข้าใจถึงเมกกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นว่าไปในทิศทางไหน ส่วนซ่อน - สะท้อนถึงความมีสติ มีความคิดที่ดี ครบถ้วน มีการวิเคราะห์ จะทำให้ผู้ประกอบการต้องรู้ว่า เรื่องความยั่งยืนเราต้องให้ความสำคัญ สู้ - คือ การปรับตัว ว่าเราจะสู้แบบไหน ปรับตัวอย่างไร แสดงว่า ความอยู่รอดเพื่อความยั่งยืน คือ การตื่นรู้ การมีสติ และ การปรับตัว
ดังนั้นในเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ ไม่ว่าบริษัทจะเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องปรับตัวพัฒนารูปแบบการทำงานไปสู่ความยั่งยืน มิเช่นนั้น ผลกระทบจะตามมา ขณะเดียวกันหากธุรกิจมองเป็นโอกาส ผลิตสินค้าเพื่อความยั่งยืน มีการใช้นวัตกรรม ก็มีโอกาสจะเชื่อมโยงไปสู่ระดับภูมิภาคเช่นเดียวกัน
“ ปรับตัวดีกว่าอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ทำอะไรเลย ถ้าปรับตัวแล้วก็จะมีโอกาสรอด “
สำหรับงานในงาน SX 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 แล้วพบว่า ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ อายุ 18-35 ปี คือกลุ่มคนที่มาร่วมงานมากถึง 60 % นับเป็นสัญญาณที่ดีเพราะคนรุ่นใหม่มีจิตที่เป็นสาธารณะ จิตอาสา มีมุมมองในภาพกว้างอยากทำในสิ่งที่รัก และ เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย ในงาน SX 2023 สะท้อนชัดเจนว่าทุกฝ่าย ให้ควา่มสนใจที่จะมาร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายความยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอถึงภาครัฐฯ คุณรุ่งโรจน์ ย้ำว่า ภาครัฐฯต้องมีการเปลี่ยนแปลง จะเพียงแค่สนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้ แต่นโยบายต้องเปลี่ยนแปลงและเข้ามามีส่วนร่วมหรือมาเป็นทีมเดียวกับภาคธุรกิจ ไม่เช่นนั้นการไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนจะยาก
ด้านคุณศุภชัย เสนอว่า ภาครัฐฯต้องมีกลยุทธ์ในการให้ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมปรับตัวสู่ความยั่งยืนให้เร็วขึ้น มีนโยบายาสร้างแรงจูงใจ มีเป้าหมาย Digital Transformation ที่ชัดเจน และเรียกร้องให้สื่อ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่คุณฐาปน มองว่า รัฐบาลใหม่ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายความยั่งยืนเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางมาร่วมงานถึง 2 วัน และเอกชนได้สรุข้อเสนอเพื่อให้สู้่เป้าหมายความยั่งยืนแล้ว ที่ผ่านมา มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน จะมีลักษณะ PPP แต่ต่อไปต้องมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมด้วยเป็น PPPP การร่วมมือกันในเรื่องความยั่งยืน ยังทำให้เกิดโอกาสอีกมากมาย