วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นำทีมองค์กรและอินฟลูเอนเซอร์ถกปัญหา เรื่องการแยกขยะ ประโยชน์ และขั้นตอนที่ควรทำ เพื่อให้เหลือของเสียให้โลกน้อยที่สุด และได้วัตถุดิบที่จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด
โดยแขกรับเชิญที่มาร่วมเสวนา ได้แก่ คุณสมบูรณ์ กิตติอนงค์ รองกรรมการผู้จัดการ N15 Technology, ดร. อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด, คุณพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ ช่อง Pear is Hungry, คุณณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดี เถื่อน Travel และนักทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ประเด็นที่น่าสนใจของการเสวนาในครั้งนี้ คือ มุมมองที่ว่า “โลกนี้ไม่มีขยะ” มีเพียงวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการ ผ่านการใช้งาน และกลายเป็นวัตถุดิบของกระบวนการต่อไป (เหมือนผลไม้ที่ผ่านการบริโภค เมล็ดกลายเป็นต้นใหม่ เปลือกกลายเป็นปุ๋ยให้พื้นดิน)
แต่โลกปัจจุบันที่มนุษย์บริโภคและอุปโภคมากขึ้นมหาศาล สิ่งที่สกัดกั้นไม่ให้ ’ขยะ‘ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ คือ การไม่ถูกคัดแยก ขยะกว่า 50% ที่เป็นขยะเปียก จึงผสมกัน และทำให้การจัดการเป็นเรื่องยากลำบาก
คำว่า ‘ยากลำบาก’ ในที่นี้ หมายถึง กำลังคนที่ต้องมาคัดแยกทีหลัง กำลังเงินที่ต้องทุ่มลงไปดำเนินกระบวนการคัดแยก หรือเลวร้ายที่สุด แทนที่ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบของกระบวนการต่อๆ ไป เช่น กระดาษ กระป๋อง ไม้ โลหะ แก้ว ฯลฯ แต่เมื่อขยะเหล่านี้ปนเปื้อน ก็อาจถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ทำให้ขยะเหล่านั้นสูญสิ้นมูลค่า เช่น ฝังกลบหรือเผาเป็นเชื้อเพลิง
การแยกขยะ จึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่ควรทำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดการขยะ แต่เป็นการคืนสมดุลให้กับโลก เมื่อแยกขยะแล้ว ขยะเปียกที่มีปริมาณมากถึง 50% ก็สามารถลดปริมาณได้ง่ายๆ ด้วยการกินอาหารให้หมดจาน
แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการตระหนักรู้ของประชาชน การให้การศึกษาจากภาครัฐและสื่อ รวมถึง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัฒกรรมจากภาคเอกชนมาเพิ่มประสิทธิภาพของการนำขยะไปจัดการ เพื่อคืนชีวิตให้ขยะเหล่านี้ ไม่จบที่การเป็นขยะ แต่เป็นวัตถุดิบ เป็นสินแร่ เป็นสินทรัพย์ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป