สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานการติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธันวาคม 2566 ของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP จากผลกระทบของวิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมให้คำแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา
ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่นับวันจะรุนแรงหนักมากขึ้นทุกปี กำลังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย ข้อมูลจากนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. พบว่า ภาคบริการที่ครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ ๆ ถึง 15 สาขา เช่น กิจกรรมการค้าส่ง-ค้าปลีก กิจกรรมการขนส่งและจัดเก็บสินค้า หรือธุรกิจโลจิสติกส์ที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งผู้โดยสาร ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งสิ้นเพราะมีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่อากาศปิด เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น
ทั้งนี้สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) ถึงกว่า 8.19 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 4.02 หมื่นราย มีการจ้างงานกว่า 6.49 แสนคน ขณะที่ภาพรวมของภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของไทย โดยในปี 2565 ภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึง 58.71% ของ GDP ไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10.2 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการมากถึงกว่า 2.6 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12.8 ล้านคน
ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย ควรหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนภาคบริการไปสู่ธุรกิจบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเน้นที่การใช้มาตรการเชิงส่งเสริมสนับสนุน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถเลือกใช้สินค้าและบริการที่ปลดปล่อยฝุ่นควันลดลง โดยให้กระทบต่อภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อาทิ
ธุรกิจบริการ มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตฝุ่นควัน ซึ่งภาคบริการ รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ล้วนแต่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ ผ่านการบริหารจัดการการผลิต และห่วงโซ่อุปทานของตน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจและผู้บริโภค อาจจำเป็นจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงาน และการดำเนินชีวิต รวมถึงอาจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องบางส่วนสูงขึ้นกว่าปัจจุบันบ้าง แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสุขภาพ และอนาคต ซึ่งภาครัฐ ก็เป็นอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตนี้ ผ่านการสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนในการปรับตัวอย่างเหมาะสม