Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ตายแล้วไปไหนดี ? การจัดการร่างผู้วายชนม์แบบรักษ์โลกยามสิ้นลมหายใจ
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ตายแล้วไปไหนดี ? การจัดการร่างผู้วายชนม์แบบรักษ์โลกยามสิ้นลมหายใจ

22 มิ.ย. 67
23:30 น.
|
1.1K
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะสินค้าและบริการสำหรับช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่กระบวนการจัดการกับร่างกายของตนเองในยามที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ
  • ปัจจุบัน สินค้าและบริการเกี่ยวกับการจัดการกับศพแบบต่าง ๆ ซึ่งระบุว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มมากขึ้น เช่น โลงศพจากเส้นใยเห็ดรา บริการทำปุ๋ยมนุษย์ การฌาปนกิจศพด้วยน้ำ และการทำของที่ระลึกจากเถ้ากระดูก
  • กระบวนการจัดการศพแบบต่าง ๆ ไม่ได้มีการทิ้งห่างด้านตัวเลขมากจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากนัก แต่อย่าลืมว่าเรามีการทำกิจกรรมเหล่านี้ต่อเนื่องยาวนานก่อนที่จะเสียชีวิต รวมถึงมีทางเลือกที่หลากหลายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง

เกือบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ล้วนสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) เอาไว้เสมอ หลายคนจึงพยายามเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การบริโภคสินค้า การใช้บริการต่าง ๆ เพื่อลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สอดคล้องกับรายงานเมื่อปี 2023 ของ Boston Consulting Group (BCG) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ที่ค้นพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่บอกว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้อยลง แม้ว่าสินค้าและบริการนั้น ๆ จะมีราคาแพงกว่าปกติก็ตาม

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะสินค้าและบริการสำหรับช่วงที่พวกเขา ‘ยังมีชีวิต’ อยู่เท่านั้น แต่กระบวนการจัดการกับร่างกายของตนเองในยามที่ ‘ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว’ ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ ปัจจุบัน เราจึงเห็นสินค้าและบริการเกี่ยวกับการจัดการกับศพแบบต่าง ๆ ซึ่งระบุว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โลงศพจากเส้นใยเห็ดรา

Courtesy of Loop Biotech
Courtesy of Loop Biotech

 

Loop Biotech คือ Startup จากประเทศเนเธอแลนด์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการฝังศพในโลงที่ทำจากไม้ซึ่งย่อยสลายยากและมีกระบวนการที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขาได้พัฒนาโลงศพที่ใช้วัสดุสำคัญคือ ‘ไมซีเลียม’ (Mycelium) หรือเส้นใยจากเห็ดรา โดยนำมาผสมกับเส้นใยกัญชง (Hemp Fiber) ก่อนจะนำไปขึ้นรูปในแม่พิมพ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้เส้นใยจากธรรมชาติเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นจนมีลักษณะคล้ายกับโลงศพ หลังจากนั้นจึงนำไปตากให้แห้งสนิทก็จะกลายเป็นโลงศพรักษ์โลกที่พร้อมใช้งาน โดย Loop Biotech เรียกผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ว่า “Loop Living Cocoon”

ผู้ประกอบการ อธิบายว่า เส้นใยไมซีเลียม คือ วัสดุทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากมีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงและทนทาน รวมถึง สามารถย่อยสลายได้เองด้วยจุลินทรีย์ในดิน และเมื่อนำร่างของผู้เสียชีวิตบรรจุลงไปจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ปี ในการย่อยสลาย ซึ่งรวดเร็วกว่าการย่อยสลายร่างของผู้เสียชีวิตในโลงแบบปกติที่ทำจากไม้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 10 ปี

ปัจจุบัน Loop Biotech ไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์โลงศพจากเส้นใยเห็ดราเท่านั้น พวกเขายังพัฒนาโกศกระดูกปลูกต้นไม้ (Loop EarthRise) สำหรับผู้วายชนม์ที่ต้องการให้เผาร่างก่อนจะนำเถ้ากระดูกไปใส่ไว้ในโกศ ซึ่งโกศนี้สามารถตั้งไว้เฉย ๆ ได้เหมือนกับโกศแบบปกติ และจะเริ่มย่อยสภาพก็ต่อเมื่อนำไปฝังเท่านั้น

บริการทำปุ๋ยมนุษย์

Courtesy of Recompose
Courtesy of Recompose

 

Recompose คือ Startup ที่ให้บริการทำปุ๋ยมนุษย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดย Katrina Spade ที่ได้ไอเดียมาจากการทำปศุสัตว์ นั่นก็คือ เมื่อมีสัตว์เลี้ยงตายในฟาร์ม เกษตรกรจะนำซากของสัตว์ไปทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ประโยชน์หมุนเวียนต่อภายในฟาร์ม ทาง Katrina จึงคิดว่ากระบวนการนี้ก็น่าจะใช้กับร่างของผู้เสียชีวิตได้เช่นกัน

สำหรับกระบวนการแปลงร่างกายของมนุษย์ให้กลายเป็นปุ๋ยนั้นจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน เริ่มต้นด้วยการนำร่างของผู้เสียชีวิตบรรจุลงในภาชนะแบบปิด แล้วนำเศษหญ้า เศษไม้ หรือฟางแห้งที่สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากลบร่างของผู้เสียชีวิต เพื่อให้จุลินทรีย์และแบคทีเรียทำหน้าที่ในการย่อยสลายร่างกาย

เมื่อผ่านไป 30 วัน ร่างกายจะถูกย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแล้ว โดยจะหลงเหลือแค่ชิ้นส่วนที่ย่อยสลายไม่ได้เท่านั้น เช่น กระดูก ฟันปลอม โลหะต่าง ๆ ที่เคยถูกฝังไว้ในร่างกาย เป็นต้น โดยชิ้นส่วนที่ไม่สามารถย่อยสลายได้จะถูกคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิลตามกระบวนการ ส่วนกระดูกจะถูกนำไปบดละเอียดแล้วนำมาผสมรวมกับปุ๋ยอีกครั้งเพื่อเพิ่มแร่ธาตุ

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ ญาติจะสามารถนำปุ๋ยนี้ไปใช้ปลูกต้นไม้และทำสวนได้ ซึ่งจะมีดินปุ๋ยเกิดขึ้นราว 1 ลูกบาศก์เมตรต่อการย่อยสลายศพ 1 ร่าง หรือกรณีที่ญาติไม่มีความประสงค์จะนำปุ๋ยไปใช้งาน ทาง Recompose ก็มีบริการส่งต่อปุ๋ยนี้เพื่อนำไปปลูกต้นไม้ต่อไป

สำหรับบริการทำปุ๋ยมนุษย์นั้นต้องบอกว่าหลายประเทศยังไม่มีกฎหมายรับรอง ปัจจุบัน มีเพียงรัฐวอชิงตัน โคโลราโด โอเรกอน เวอร์มอนต์ แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กที่ผ่านกฎหมายการจัดการศพในรูปแบบนี้ ในขณะที่นอกประเทศสหรัฐฯ มีเพียงประเทศสวีเดนเท่านั้นที่รองรับการจัดการศพด้วยวิธีดังกล่าว

ฌาปนกิจศพด้วยน้ำ

Courtesy of Pacific Interment
Courtesy of Pacific Interment

 

Resomation หรือ Aqua Cremation คือ การฌาปนกิจศพด้วยน้ำผ่านกระบวนการอัลคาไลน์ไฮโดรไลซิส (Alkaline Hydrolysis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเคมีที่ใช้ย่อยสลายเนื้อเยื่อด้วยสารละลายร้อนที่มีฤทธิ์เป็นด่างอย่างรุนแรง โดยใช้เวลาเพียง 3 - 4 ชั่วโมงเท่านั้น ในการเปลี่ยนร่างของผู้เสียชีวิตให้เหลือเพียงเถ้ากระดูก โดย Pacific Interment คือ หนึ่งในบริษัทที่รับจัดการฌาปนกิจศพด้วยน้ำระบุว่า กระบวนการดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ช่วยประหยัดพลังงานเมื่อเปรียบเทียบการกระบวนการเผาศพแบบดั้งเดิม รวมถึง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับขั้นตอนการฌาปนกิจศพด้วยน้ำนั้น เจ้าหน้าที่จะนำร่างของผู้เสียชีวิตบรรจุเข้าไปในเตาสแตนเลส ก่อนจะปล่อยสารละลายที่ประกอบไปด้วยน้ำ 95% ผสมกับด่างเข้มข้น เช่น โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ 5% ให้ไหลเข้าท่วมร่างด้วยอุณหภูมิสูงถึง 160 องศาเซลเซียส รวมถึงการเพิ่มความดันภายในเตาสแตนเลส เพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายร่างให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 - 4 ชั่วโมง และคงเหลือไว้แต่ชิ้นส่วนที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เช่น กระดูกที่ถูกย่อยสลายกลายเป็นผง ซึ่งจะถูกเก็บขึ้นมาเพื่อนำไปมอบให้ญาติต่อไป

ของที่ระลึกจากเถ้ากระดูก

Courtesy of Gemories
Courtesy of Gemories

 

3 กระบวนการจัดการกับศพที่กล่าวมา แน่นอนว่าชิ้นส่วนที่ไม่สามารถย่อยสลายได้มักจะเป็น ‘กระดูก’ ซึ่งอาจถูกนำไปผ่านกระบวนการบดเป็นผง เพื่อให้ญาตินำไปใส่โกศเก็บรักษาไว้หรือนำไปโปรยตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ทะเล แม่น้ำ ซึ่งกระบวนการนี้อาจก่อให้มลพิษแก่แหล่งน้ำได้ จึงมีผู้คิดค้นกระบวนการแปลงเถ้ากระดูกที่หลงเหลือจากกระบวนการจัดการกับศพต่าง ๆ ให้กลายเป็นของที่ระลึก เช่น อัญมณี

Gemories คือ บริษัทจากประเทศไทยที่ผลิต Gemstone จากเถ้ากระดูกของบุคคลหรือสัตว์เลี้ยง โดยนำมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เหมือนกับการทำเพชรสังเคราะห์ เพียงแต่คาร์บอนที่ใช้ในการเริ่มต้นกระบวนการนั้น คือ เถ้ากระดูกที่หลงเหลือจากกระบวนการจัดการกับศพต่าง ๆ โดยญาติสามารถนำผลผลิตจากกระบวนการนี้ไปทำเป็นเครื่องประดับหรือของที่ระลึกต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้ Gemories ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเลียนแบบการเกิดพลอยตามธรรมชาติ

แล้วกระบวนการจัดการกับศพแบบดั้งเดิมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากถึงขั้นที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการต้องคิดค้นบริการที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากมายขนาดนี้เลยหรือ ?

เดือนกรฏาคม ปี 2023 ซาราห์ โจนส์ (Sarah Jones) ผู้ก่อตั้ง Full Circle Funerals บริษัทผู้ให้บริการจัดการงานศพแบบครบวงจร ได้ร่วมมือกับ Planet Mark องค์กรที่คอยตรวจสอบและวัดผลข้อมูลคาร์บอนเพื่อการรับรองความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และองค์กร จัดทำรายงานเรื่อง Funeral Industry (Technical Report) ที่ทำการศึกษากระบวนการจัดการศพแบบต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร ได้แก่ การเผาศพแบบดั้งเดิม การเผาศพด้วยเตาไฟฟ้า การเผาศพด้วยน้ำ และการฝังศพแบบดั้งเดิมด้วยโลงประเภทต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากการทำกิจกรรมเหล่านี้

ผลการศึกษา พบว่า กระบวนการเผาศพแบบดั้งเดิมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คือ 126 kgCO2e รองลงมา คือการเผาศพด้วยเตาไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 40 kgCO2e ถัดมา คือ การเผาศพด้วยน้ำ (Resomation) ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 19.81 kgCO2e

ในขณะที่กระบวนการฝังศพแบบดั้งเดิมจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกันไปตามวัสดุ เช่น โลงศพที่ทำจากไม้มะฮอกกานีมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคือ 36.72 kgCO2e รองลงมาคือโลงศพที่ทำจากไฟเบอร์บอร์ด 32.28 kgCO2e ส่วนโลงศพที่ทำจากกระดาษแข็งรีไซเคิลมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 7.5 kgCO2e เท่านั้น

หากมองตัวเลขเหล่านี้ด้วยตาเปล่าอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารใน 1 วัน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 4.50 kgCO2e, การขับรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล 1 ชั่วโมง มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.36 kgCO2e และการใช้เครื่องอบผ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 2.5 kWh มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1.00 kgCO2e

จะเห็นว่ากระบวนการจัดการศพแบบต่าง ๆ ไม่ได้มีการทิ้งห่างด้านตัวเลขมากจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่อย่าลืมว่าเรามีการทำกิจกรรมเหล่านี้ต่อเนื่องยาวนานก่อนที่จะเสียชีวิต รวมถึงมีทางเลือกที่หลากหลายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้พลังงานทดแทน การซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการบริโภคอาหารจากแบรนด์ที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนกระบวนการจัดการศพนั้นไม่ได้มีทางเลือกมากนักให้กับทุกคนที่ต้องการจัดการกับร่างกายของตนเองในยามที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้วอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ยังคงมีราคาสูง และบางกระบวนการก็ยังขัดกับข้อกฎหมายในบางประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของผู้บริโภคที่มีความต้องการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้จะมีราคาแพงกว่าปกติก็ตาม ก็เป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อความตายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเราก็น่าจะได้เห็นทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้วายชนม์ที่ต้องการจากไปโดยทิ้งรอยเท้าคาร์บอนให้น้อยที่สุด

ที่มา : Boston Consulting Group (BCG), Loop Biotech, Recompose, Cremation Ink, Gemories, Funeral Industry (Technical Report), Carbon Streaming Corporation

แชร์
ตายแล้วไปไหนดี ? การจัดการร่างผู้วายชนม์แบบรักษ์โลกยามสิ้นลมหายใจ