ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก ภาคธุรกิจต่างตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านนี้ คือ "Transition Finance" หรือ "การเงินเปลี่ยนผ่าน" ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจ เพื่อปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิม ไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เล็งเห็นความสำคัญของ Transition Finance และประกาศความพร้อมในการสนับสนุนเงินทุนแก่ธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ได้แสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อน Transition Finance เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ และพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม
นายเจสัน ลี ผู้บริหารฝ่ายความยั่งยืน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม Oil & Gas อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน และแท่นขุดเจาะน้ำมัน ตลอดจนกลุ่มธุรกิจ Power เช่น โรงไฟฟ้า ให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก เพื่อพัฒนาองค์ประกอบสำคัญ อาทิ ทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ และเทคโนโลยี
“เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ คือ โอกาสใหม่ของลูกค้า ที่จะทำให้ลูกค้าสามารถบริหารต้นทุนได้ ซึ่งแบงก์ต้องดูเส้นทางการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไรได้บ้าง เพื่อเข้าไปช่วยลูกค้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยไม่เสียโอกาสด้านการเงินด้วย”
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ความต้องการเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านในกลุ่มธุรกิจ Oil & Gas และ Power มีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม
นายเจสัน ลี ผู้บริหารฝ่ายความยั่งยืน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เผยว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับการสนับสนุน Transition Finance แก่กลุ่มธุรกิจ Oil & Gas และ Power เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
โดยจากการสำรวจ พบว่า ธุรกิจทั้งสองกลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นและต้องการเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ความยั่งยืน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท
"ธนาคารมีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการทางการเงินดังกล่าว ภายใน 24 เดือน ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Bond) และสินเชื่อเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืน (Transition Loan) ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ" นายเจสัน ลี กล่าว
นอกเหนือจากการสนับสนุนทางการเงินแล้ว ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังมีบริการให้คำปรึกษาด้าน ESG (ESG Advisory) แก่กลุ่มธุรกิจเพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการดำเนินการเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนบรรลุผลสำเร็จ โดยธนาคารเชื่อมั่นว่า การสนับสนุน Transition Finance ในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2566 ธนาคารได้ลงนามในสัญญา Sustainability Linked Loan มูลค่า 3,000 ล้านบาท ร่วมกับบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (SPTs) เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) สะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของธนาคารในการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจไทย และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อันนำมาซึ่งรางวัล Best Sustainability Linked Loan จาก The Digital Banker: Global Finance Awards 2024
ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังอยู่ระหว่างการเสนอขายตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนสำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของกลุ่มซีไอเอ็มบี ที่มุ่งเน้นการบูรณาการ Sustainability Finance เข้ากับการดำเนินธุรกิจ
โดยกลุ่มซีไอเอ็มบีได้ตั้งเป้าหมายในการขยายวงเงินสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนธุรกิจสีเขียว เป็นมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านริงกิต หรือประมาณ 7.7 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2564 - 2567 ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 4-5% ซึ่งตั้งเป้ามีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 20% ในปี 2573
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มุ่งมั่นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Transition Financeในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ธุรกิจ Oil & Gas และ Power ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยความพร้อมด้านเงินทุน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และบริการให้คำปรึกษาด้าน ESG เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว