เริ่มแล้วสำหรับงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นถึงวันที่ 8 ตุลาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในวันนี้ (2 ต.ค.) ได้เกียรติจาก คุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา มากล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางสร้างความยั่งยืน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
คุณฐาปน กล่าวว่า ตนเองในฐานะหนึ่งในผู้นำจัดงาน Sustainability 2023 หรือ SX2023 รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นองค์กรชั้นนำระดับภูมิภาคและระดับโลก เครือข่ายธุรกิจยั่งยืนระดับภูมิภาค รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มาร่วมกันในงานนี้เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือกันสร้างพลัง และปลุกกระแสด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ
ในปัจจุบัน หลายบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ได้รับการรับรองจากดัชนีเพื่อความยั่งยืนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Dow Jones Sustainability Index หรือ S&P Index ว่า เป็นบริษัทที่มีแบบแผนปฏิบัติที่ดีในด้านความยั่งยืน และมีผลงานดีเยี่ยมในระดับยอด 1% และงาน SX2023 จะช่วยเป็นตัวกลางที่ช่วยให้บุคลากรจากหลายภาคส่วนมาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ด้านความยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งธุรกิจและประชาชนผู้สนใจทุกคนร่วมกันเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
คุณ ฐาปน มองว่า การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของคนในหลายภาคส่วนนั้น มีความสำคัญในการสร้างความสมดุล เพราะองค์กรในแต่ละระดับจะเห็นแต่ในด้านที่ตัวเองมีความรู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น และการทุ่มเททำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปโดยไม่มองภาพรวมนั้นจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ทำให้งาน SX มีคำขวัญว่า “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า” หรือ Good Balance, Better World เพราะการสร้างสมดุลนั้น มีความสำคัญมากในการสร้างการพัฒนาที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่คนทุกระดับ
นอกจากนี้ คุณฐาปน ยังมองว่า ถึงแม้บริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ จะตื่นตัวและมาร่วมมือกันเพื่อสร้างความยั่งยืนแล้ว ท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญ คือ ความร่วมมือในระดับปัจเจกของคนทุกคน ที่จะต้องร่วมมือร่วมมือร่วมใจกัน สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกที่ดีแก่โลก เหมือนกับการที่หลายๆ ประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติร่วมมือกันสร้างกรอบความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Kyoto Protocol หรือ Paris Accord ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกมาแล้ว
หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การตั้งรับการเปลี่ยนแปลง
ในสุนทรพจน์พิเศษหัวข้อ Sufficiency Economy Philosophy and the Decade of Action ดร. สุเมธ กล่าวถึงสถานการณ์ในโลกปัจจุบันว่า เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกคนจะต้องรู้จักตั้งรับ และมองการเปลี่ยนแปลงให้ขาด เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนก่อนที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาถึง ทำให้สามารถกระทำได้ผ่านการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จากคำกล่าวของ ดร. สุเมธ หลัก 3 ข้อของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ (moderation) ความมีเหตุผล (reasonableness) และการมีภูมิคุ้มกัน (self-immunity) เป็นหลักการที่ทำให้คนรู้จักประมาณและประเมินกำลังของตน ไม่ทำอะไรที่เกินกำลังจนลำบากหรือไม่มีฐานมั่นคงเพียงพอเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทำให้การใช้ชีวิตมีความสมดุล และความยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ทำอย่างไรก็จะต้องเข้ามาได้
นอกจากนี้ ดร. สุเมธ ยังกล่าวอีกว่าในการกระทำใดๆ เพื่อความยั่งยืนนั้น สิ่งที่ทุกคนจะต้องคิดถึงสูงสุดคือ ‘ประโยชน์’ เหมือนกับการทำงานของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงคิดถึง ‘ประโยชน์สุข’ ของพสกนิกรเป็นที่ตั้งเสมอ
โดย ดร. สุเมธ กล่าวว่า มองว่า หากคิดจะทำอะไรก็ตาม ถ้าคิดถึงแต่ผลกำไร หรือความร่ำรวยแล้ว การกระทำนั้นก็จะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี ไม่สร้างประโยชน์แก่ใครนอกจากตัวเอง และเป็นผลประโยชน์ที่ไม่ยั่งยืน เพราะถ้าหากคนรุ่นปัจจุบันคิดแต่จะได้ และใช้ทรัพยากรของโลกเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียวแล้ว คนรุ่นหลังก็จะไม่เหลือทรัพยากรใดๆ เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เลย