ธนาคารกรุงเทพ ผนึกพลังหน่วยงานท้องถิ่น-ชุมชน จ.สมุทรสาคร แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม ลุยติดตั้งทุ่นดักขยะ ประเดิมพื้นที่นำร่อง ‘คลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์’ ตำบลโคกขาม หวังลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทยปีละกว่า 148 ตัน พร้อมเร่งศึกษาที่มาของขยะ ตั้งเป้าหมายแก้ให้ถึงต้นตอปัญหา
ขยะไทยลงทะเลปีละ 1,022 ตัน รัฐฯ เร่งจับมือเอกชนแก้ไข
ปัญหาขยะในทะเลเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสัตว์น้ำและมนุษย์ เพราะเป็นการสร้างมลพิษในน้ำ รบกวนการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเล ทำให้สัตว์ทะเลจำนวนลดลง ส่งผลต่อมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาการประมงในการดำรงชีพ และมนุษย์ที่บริโภคสัตว์น้ำ ทำให้การแก้ไขปัญหาขยะจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่หลายฝ่ายต้องเร่งแก้ไข
โดยจากข้อมูลของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2564 มีขยะจาก 9 แม่น้ำใหญ่ในอ่าวไทยตอนบนและตอนล่างไหลลงทะเลรวมเฉลี่ยถึง 94,586,810 ชิ้น/ปี หนักประมาณ 1,022 ตัน/ปี โดยหากเรียงลำดับแล้ว แม่น้ำและแหล่งน้ำจากอ่าวไทยที่เป็นแหล่งขยะที่ใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก คือ
- แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวนเฉลี่ย 52,649,113 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 317 ตัน/ปี
- แม่น้ำบางปะกง จำนวนเฉลี่ย 15,761,431 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 143 ตัน/ปี
- แม่น้ำแม่กลอง จำนวนเฉลี่ย 8,150,737 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 130 ตัน/ปี
- แม่น้ำท่าจีน จำนวนเฉลี่ย 6,480,663 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 125 ตัน/ปี
- ทะเลสาบสงขลา จำนวนเฉลี่ย 5,517,079 ชิ้น/ปี น้ำหนัก 142 ตัน/ปี
ดังนั้น ในปี 2565 ภาครัฐจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาจัดการขยะทะเลปากแม่น้ำ และได้จัดทำ “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” ที่จังหวัดภูเก็ตกับ 6 บริษัทเอกชนใหญ่เพื่อร่วมรับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่ปากแม่น้ำ 5 สายหลักที่ออกสู่อ่าวไทยตอนบน ได้แก่
- พื้นที่ ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ รับผิดชอบโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จํากัด (มหาชน)
- พื้นที่ ‘แม่น้ำบางปะกง’ รับผิดชอบโดย บริษัท บ้านปู จํากัด (มหาชน)
- พื้นที่ ‘แม่น้ำท่าจีน’ รับผิดชอบโดย ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
- พื้นที่ ‘จังหวัดภูเก็ต’ รับผิดชอบโดย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี จํากัด (มหาชน)
- พื้นที่ ‘แม่น้ำแม่กลอง’ รับผิดชอบโดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน)
โดยกรอบแนวทางการดำเนินงาน นอกจากจะต้องมีการติดตั้งเครื่องดักขยะ ในบริเวณแม่น้ำสายหลักและสายรองก่อนไหลสู่ทะเล บริษัทต่างๆ ยังต้องสร้างความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะ และการจัดการขยะอย่างครบวงจร ขยะที่เก็บรวบรวมได้ควรขยายผลต่อ คำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ เป็นแรงจูงใจให้กับประชาชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะในบริเวณปากน้ำแม่เกิดความยั่งยืน
ธนาคารกรุงเทพตั้งทุ่นแม่น้ำท่าจีน หวังแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เพื่อทำตามข้อตกลงดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพ ได้รุกขับเคลื่อนโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายชุมชน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตั้งทุ่นดักขยะ ประเดิมพื้นที่นำร่อง ‘คลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์’ ตำบลโคกขาม หวังลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย พร้อมเร่งศึกษาที่มาของขยะ
โดยสำหรับเครื่องมือดักขยะที่ติดตั้งในครั้งนี้ จะประกอบด้วย 3 ประเภทเครื่องมือ ได้แก่
- ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35x0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี
- กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3x3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี
- เครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5x10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี
เครื่องมือทั้ง 3 ประเภทภูกออกแบบมาให้มีความเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย
ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพยังได้ทำการติดตั้ง “น้องจุด” หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวาง “น้องจุด” ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ
ทั้งนี้ อุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ โดยตักขยะเพื่อนำไปคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป
นอกจากการติดตั้งเครื่องมือดักขยะแล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินงานตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชน และโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว
เมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และขยะที่คัดแยกออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารกรุงเทพจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
นายวสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขยะและน้ำเสียไหลลงแม่น้ำลำคลอง กระทบต่อสภาพแวดล้อม
ปัญหาขยะและน้ำเสียส่งผลให้พื้นที่การทำประมงและพื้นที่ธรรมชาติถูกรุกล้ำมากขึ้น และทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง หรือการทำวังกุ้ง ประสบความลำบากในการประกอบอาชีพ หาลูกกุ้งธรรมชาติได้ยากมากขึ้น ส่วนประชาชนก็ลงเล่นน้ำในคลองไม่ได้ เพราะน้ำไม่สะอาด
ดังนั้น การติดตั้งเครื่องมือดักขยะตามแผนงานโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ ของธนาคารกรุงเทพ น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์และการจัดการที่เป็นระบบจากบริษัทใหญ่