Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ภาวะโลกร้อน   ไทยมีโอกาสเป็นทะเลทราย?   #วันสิ่งแวดล้อมโลก
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ภาวะโลกร้อน  ไทยมีโอกาสเป็นทะเลทราย?  #วันสิ่งแวดล้อมโลก

5 มิ.ย. 67
07:22 น.
|
1.3K
แชร์

ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี  ถือเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เป็นวันที่ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) สืบเนื่องมาจากโลกของเราเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพื่อให้เกิดความร่วมมือ เกิดความตะหนัก และรู้ทันเหตุการณ์ 

โดยได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เป็นการประชุมวาระโลกเรื่อง “มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งนับเป็นการหารือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงมีการกำหนดให้วันแรกของการประชุม ซึ่งก็คือวันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก" โดยทาง UN จะกำหนดหัวข้อ (Theme) ในแต่ละปีแตกต่างกันและกำหนดประเทศเจ้าภาพในการดำเนินกิจกรรม

ธีมในปีนี้ คือ การฟื้นฟูดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทรายและ การรับมือกับภัยแล้ง “Land restoration, desertification and drought resilience” และมีคำขวัญ “Our land, Our Future. We are#GenerationRestoration” “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤติภัยแล้ง” 

โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเจ้าภาพ ตามที่ได้มีการประชุมและวิเคราะห์สถานการณ์โลกในอนาคต พบว่า ปัญหาสำคัญของโลกอันดับหนึ่งที่ตรงกันในทุกสาขา คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งในวงการเศรษฐกิจและสังคมโลก 

ธีมในปีนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายที่เชื่อมโยงกันระหว่างความเสื่อมโทรมของทีดินที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู ความแห้งแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปรสภาพที่ดินเป็นทะเลทรายได้ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไข

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) คือ สภาวะเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่แห้งแล้ง จากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลจากการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ การกลายสภาพเป็นทะเลทรายยังหมายถึงสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งสูญเสียความชุ่มชื้นเพราะการขาดน้ำเป็นเวลานาน จนส่งผลให้ดินเกิดการแตกระแหง เสื่อมสภาพลง และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของสภาพภูมิอากาศโดยรอบและความหลากหลายของพืชพรรณต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ภาวการณ์กลายสภาพเป็นทะเลทราย ประกอบด้วย

  • จากธรรมชาติ : ความเสื่อมโทรมดินตามธรรมชาติเกิดจากการชะล้างพังทลายของดิน(Soil Erosion) และการผุพังจากกระแสลมและคลื่นน้ำ (Weathering) เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียคุณสมบัติของดิน ทั้งในทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ
  • สภาพภูมิอากาศ : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน การคายน้ำ และอุณหภูมิ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อภาวะการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการสูญเสียความชื้นในดิน (Soil Moisture) การสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลาย (Soil Erosion) รวมทั้งการสูญเสียแร่ธาตุในดินที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม (Soil Degradation)
  • กิจกรรมของมนุษย์ : มีกิจกรรมของมนุษย์มากมายที่ถูกดำเนินไปอย่างไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียความสมดุลระบบนิเวศทางธรรมชาติ ความแปรปรวนปริมาณหรือวัฎจักรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตรปริมาณมาก ที่นำไปสู่การสูญเสียธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดิน และกลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกลายสภาพเป็นทะเลทรายสูงขึ้น

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ รายงานว่า ประชาชนกว่า 2 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง มีแนวโน้มกลายเป็นทะเลทราย ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แอฟริกา เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง โดยกว่า 15.5% ของที่ดินของโลกได้เสื่อมโทรมไปแล้ว และเพิ่มขึ้น 4% ในรอบหลายปี 

โดยในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมก็มีโอกาสแปรสภาพเป็นทะเลทรายสูง ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงได้ก่อตั้งอนุสัญญาขึ้น ภายใต้กรอบUN คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification (UNCCD))  เพื่อเป็นกรอบข้อตกลงทางกฎหมาย ในการจัดการการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและผลกระทบจากภัยแล้ง โดยมีสมาชิก 197 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยจะมีการประชุม Conference of the Parties (COP16) ครั้งต่อไป ของอนุสัญญาที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในต้นเดือนธันวาคม 2567 นี้

นอกจากนี้  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในปัจจุบันยังส่งผลและเร่งให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าสู่การกลายสภาพเป็นทะเลทรายรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1.5-2.0 องศาเซลเซียส จะสามารถนำไปสู่การสูญเสียน้ำและภาวะแห้งแล้งมากถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด และเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทรายความสามารถของดินในการสร้างผลผลิตและอาหาร เพื่อรองรับประชากรมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็จะไม่เพียงพอ 

แนวทางการป้องกันและแก้สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

  • การปลูกป่าและการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ
  • การปรับปรุงการระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ การใช้นำอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การบำรุงรักษาดิน การปลูกพืชคลุมดิน การลดการใช้สารเคมี
  • การหยุดยั้งการบุกรุกและตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

สำหรับโอกาสการกลายเป็นทะเลทรายในประเทศไทยนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการศึกษาวิเคราะห์ และการประเมินจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรจะได้รับ พบว่า 

ในประเทศไทย มีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายกว่า 6.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่ ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบ 2.4 ล้านไร่ และพื้นที่สูง 4.5 ล้านไร่ 

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเข้าใจเพื่อนำไปสู่การป้องกันไว้ล่วงหน้า และการเผยแพร่ข้อมูลเชิงพื้นที่มาใช้เพื่อเตือนภัยจะสามารถ ลดระดับความรุนแรงของพื้นที่เสี่ยงภัยต่อภาวะการเป็นทะเลทรายลงได้ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว การเผาป่า เป็นต้นน

นอกจากนี้  งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า พื้นที่ประเทศไทยที่เสี่ยงรุนแรงที่จะเป็นทะเลทราย แบ่งเป็นแนวราบ ถึง 2.39 ล้านไร่ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเสี่ยงมากที่สุดถึง 1.87 ล้านไร่ ภาคตะวันตก 0.06 ล้านไร่ ภาคเหนือ 0.4 ล้านไร่ ภาคกลางและภาคตะวันออก ภาคละ 0.03 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่สูง มีความเสี่ยงเป็นทะเลทรายสูงถึง 4.54 ล้านไร่ ภาคเหนือเป็นพื้นที่เสี่่ยงสูงสุดถึง 3.66 ล้านไร่ ตามด้วยภาคกลาง 0.41 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.28 ล้านไร่ ภาคตะวันตก 0.13 ล้านไร่ และภาคตะวันออก 0.07 ล้านไร่

เมื่อไทยเป็นทะเลทราย กระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 3.8 พันล้านบาท 

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับผลผลิตพื้ชจากการเป็นทะเลทรายในประเทศไทยนั้น มีมูลค่าความเสียหายรวม 1.65 ล้านไร่ จากจำนวนพื้นที่ไร่ทั้งหมดราว 320 ล้านไร่ ได้สร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 3,829 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความแห้งแล้งมายาวนาน  เกิดจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตพื้นลดลงจนถึงไม่ได้ผลผลิต จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นทะเลทราย

โดยพื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ ภาคเหนือ มีพื้นที่เสียหายถึง 9.36 ล้านไร่ มูลค่าความเสี่ยหายสูงถึง 2.15 ล้านบาท ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เสี่ยหายถึง 5.26 แสนไร่ มูลค่าความเสียหายสูงถึง 890 ล้านบาท 

ทะเลทราย  

สุดท้าย ความร่วมมือเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องพัฒนาเครือมือและทรัพยากรในการรักษาและฟื้นฟูที่ดิน เพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการปรับตัวต่อภัยแล้ง การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แชร์
ภาวะโลกร้อน   ไทยมีโอกาสเป็นทะเลทราย?   #วันสิ่งแวดล้อมโลก