ความยั่งยืน

ศิลปะรักษ์โลก งานสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ ที่ช่วยให้ทุกคนตระหนักเรื่องความยั่งยืน

27 ก.ย. 67
ศิลปะรักษ์โลก งานสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ ที่ช่วยให้ทุกคนตระหนักเรื่องความยั่งยืน

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สีสันจากวัสดุเหลือใช้ สู่งานศิลปะรักษ์โลก ในโครงการ Trash to Treasure Art & Design Contest จากงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ความยั่งยืน (Sustainability) เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่หลายคน หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญอย่างจริงจัง จากปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติตามมาอย่างมากมาย ซึ่งต้นเหตุเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ วัสดุเหลือใช้ล้นโลก ที่หลายคนทิ้งขว้างกลายเป็นขยะที่กำจัดยาก ไร้ประโยชน์

trash_1

Sustainability Expo 2024 (SX 2024) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน GOOD BALANCE, BETTER WORLD "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก" เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงจัดโครงการ Trash to Treasure Art & Design Contest ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจมาประชันไอเดียสุดบรรเจิด ร่วมกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้ซ้ำเพื่อลดปริมาณวัสดุล้นโลก โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 146 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทสองมิติ (2D) จำนวน 81 ผลงาน และ ประเภทสามมิติ (3D) จำนวน 65 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้จัดแสดงที่ Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ณ บริเวณ SX SPACE ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

amol8621_1

amol8624copy

สำหรับปีนี้ ผู้ชนะเลิศในประเภทสองมิติ (2D) ได้แก่ น.ส.ปิยพัชร นาคเพชร และ น.ส.สุภาพร แสนสุข นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาในผลงานชื่อ "Shell-Egg Weaving" ใช้เทคนิค Abstracts Collage Art เป็นงานศิลปะที่ผสมผสานการทอเข้ากับเปลือกหอยและเปลือกไข่ โดยใช้สายรัดพลาสติกที่เหลือจากการรัดของมาผ่านกระบวนการทออย่างพิถีพิถัน

688351_0

ทั้งสองคนเป็นนักศึกษาเอกสิ่งทอ จึงเกิดไอเดียใช้เทคนิคถักทอ สอดเส้นพลาสติกสลับกับเส้นด้ายเส้นพุ่ง แล้วนำเปลือกไข่และเปลือกหอยมาทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วแปะลงไป จนเกิดเป็น Textile Art ซึ่งระบบนิเวศของสัตว์สองชนิดนี้อยู่ต่างกัน แต่สามารถมาอยู่บนผลงานเดียวกันได้ เหมือนกับโลกของเราที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

น.ส.ปิยพัชร และ น.ส.สุภาพร เผยว่าหลังได้รับรางวัลชนะเลิศก็รู้สึกดีใจ เพราะไม่คิดว่าผลงานของพวกตนจะได้รับความสนใจขนาดนี้ อยากให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งของทุกอย่างมีค่าเสมอ และอย่าลืมนำกลับมาใช้ให้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

amol8669

ส่วนในประเภทสามมิติ (3D) ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.สุธาสินี ศรีไวย์ และ น.ส.อรชล วรรณไพเราะ นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลงานชื่อ "บอนไซขยะ" (Bonsai from waste) ทั้งสองคนเล่าถึงจุดกำเนิดของผลงานนี้ว่า พวกตนเป็นนักศึกษาในเอกพัสตราภรณ์ ทำให้เห็นว่ามีเศษผ้าเหลือใช้จากการเรียนจำนวนมาก ด้วยความเสียดายจึงเก็บสะสมเอาไว้นานถึง 3 ปี เมื่อมีการประกวด Trash to Treasure Art & Design Contest จึงเกิดไอเดียว่า เศษผ้าเหล่านี้คือขยะ (Trash) ส่วน Treasure คือสมบัติอันล้ำค่า จึงคิดทำ ต้นบอนไซจากวัสดุเหลือใช้ เพราะต้นบอนไซ เป็นไม้ที่มีราคาแพง เป็นของล้ำค่าที่หลายคนนิยมสะสม

bonsai

สำหรับขั้นตอนการทำนั้นค่อนข้างต้องใช้ความอดทน เนื่องจากโครงต้นบอนไซนั้นใช้ท่อพีวีซีที่เป็นขยะมาลนไฟให้เกิดความร้อน แล้วดัดออกมาเป็นรูปร่างที่อยากได้ ก่อนจะยัดด้วยฟองน้ำและลวดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน และคงรูปทรง ซึ่งปกติแล้วบอนไซจะมีแค่สีเขียว แต่ด้วยความเซปต์ของปีนี้คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) จึงนำเศษผ้าที่มีความแตกต่างกันมาทำเป็นพุ่ม จนเกิดสีสันที่สดใส ซึ่งแต่ละพุ่มจะใช้เทคนิคในการตัดเย็บที่แตกต่างกัน เช่น การใช้ไหมพรมมามัดทีละเส้น บางพุ่มใช้การตัดผ้าเป็นเส้นยาวๆ ก่อนจะมามัดถักทอรวมกัน เปรียบเหมือนระบบนิเวศบนโลกที่มีความแตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้

amol8676

จากความพยายามวันนั้นกลายเป็นชิ้นงานที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ เมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศก็รู้สึกดีใจและภูมิใจสมกับที่ร่วมกันสร้างสรรค์กันมาอย่างเหนื่อยยาก ต้นบอนไซที่ทำจากขยะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ทรงคุณค่า ขยะที่ถูกละเลยกลับถูกนำมาสร้างเป็นงานศิลปะที่มีความประณีต ตอกย้ำว่าขยะมีมูลค่าและความสวยงามที่ซ่อนอยู่ เพียงแต่เราต้องมองให้เห็นและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

amol8618

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT