ความยั่งยืน

คนรุ่นใหม่พร้อมสู่โลกธุรกิจด้วยความยั่งยืน โดย Beta Young Entrepreneur

6 ต.ค. 67
คนรุ่นใหม่พร้อมสู่โลกธุรกิจด้วยความยั่งยืน โดย Beta Young Entrepreneur

ในยุคที่โลกธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำ ‘กำไร’ เพียงอย่างเดียว เพราะ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นกุญแจสำคัญที่คนรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญ ธุรกิจในปัจจุบันต้องพิจารณาไม่เพียงแค่ตัวเลขหรือการเจาะตลาด แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

คนรุ่นใหม่พร้อมสู่โลกธุรกิจด้วยความยั่งยืน โดย Beta Young Entrepreneur

คนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจ มองเห็นว่า การสร้างคุณค่าให้กับโลกและชุมชน ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จระยะยาว การทำธุรกิจที่ยั่งยืนจึงกลายเป็นความท้าทายและโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสังคม

จากงานเสวนา ‘แบ่งปันธุรกิจอย่างยั่งยืน Sharing Business Model Beta Young Entrepreneur’ ภายในงาน Sustainability Expo 2024 ได้มีการแบ่งปันวิสัยทัศน์โดย ‘ภัทรลดา บุตรละคร’ Beta Young Entrepreneur รุ่นที่ 4 และ ‘ณัฐภัทร รักษ์เดช’ Beta Young Entrepreneur รุ่นที่ 5

รู้จักโครงการ Beta Young Entrepreneur

‘Beta Young Entrepreneur’ เป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการปรับปรุงจากหลักสูตรเดิมของสาขาผู้ประกอบการ คณะบริหารธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ในตัวบัณฑิต

โครงการ Beta Young Entrepreneur เป็นความร่วมมือระหว่าง:

- มูลนิธิสิริวัฒนภักดี

- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

- หอการค้าไทย

- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยมีเป้าหมายของโครงการ คือ การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ การเสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม การสนับสนุนการเรียนรู้แบบประยุกต์ รวมถึงการเสริมทักษะทางธุรกิจ ผ่านการมีพี่เลี้ยงจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และโอกาสในการดำเนินธุรกิจจริง

นอกจากนี้ โครงการมีการเน้น ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของความยั่งยืน โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้การดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม จริยธรรม และมีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม รวมทั้งกิจกรรม ‘CSR’ หรือ ‘Corporate Social Responsibility’ และจรรยาบรรณ ที่ช่วยหล่อหลอมให้นักศึกษามีความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ด้วย

ประสบการณ์จากการเรียนรู้ผ่านโครงการ

‘ภัทรลดา’ กล่าวว่า การศึกษาไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่ประสบการณ์จากการออกไปเจอกับโลกธุรกิจของจริง มีค่ามากกว่าอย่างไม่สิ้นสุด ตนได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างชัดเจนจากการเข้าร่วมโครงการ และมีโอกาสได้ฝึกงาน ทำให้ได้พบกับหลายมิติของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การดีลสินค้า การพูดคุยกับลูกค้า การปิดดีล ไปจนถึงการอ่านและเข้าใจสัญญาธุรกิจ 

นอกจากนี้ ตนได้ลงมือทำธุรกิจด้วยการซื้อ ‘แฟรนไชส์’ ทำให้ได้เรียนรู้ระบบการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่ขั้นตอนการวางระบบ จนถึงการขายสินค้า รวมทั้งมีโอกาสไปศึกษาดูงานในบริษัทต่างๆ เช่น ‘โตโยต้า’ ที่ได้เห็นถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงาน เช่น ท่าทางการยกแขนของพนักงาน ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กลับมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมาก

ส่วนอีกสิ่งที่ ‘ภัทรลดา’ มองว่า เป็นส่วนสำคัญของโครงการ  คือ การเข้าร่วมกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับ ‘ชุมชน’ หลังตนได้ทำงานร่วมกับชุมชนหลายแห่ง ผ่านค่ายอาสาพัฒนา และได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของพวกเขา การได้เผชิญกับอุปสรรคในการทำงานกับชุมชนสอนให้ฉันรู้จักวิธีการแก้ปัญหา และค้นหาทางออกในสถานการณ์ที่ซับซ้อน

ส่วน ‘ณัฐภัทร’ เสริมว่า การทำงานเป็นทีมในขณะที่ยังเรียนอยู่ ทำให้ตนเรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผ่านการแบ่งทีมออกตามบทบาทต่างๆ ที่มีอยู่ในบริษัทจริง เช่น ทีมการตลาด ทีมพัฒนาโปรดักซ์ ทีมเอกสาร และทีมบัญชี โดยทุกคนมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่ต้องรับผิดชอบ

ตนได้เรียนรู้ว่า การทำงานเป็นทีมที่มีการประสานงานที่ดี มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะทำให้งานที่ออกมามีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการบิลซื้อบิลขาย และการทำบัญชีที่รัดกุม สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าที่ส่งมอบให้กับลูกค้าโดยตรง

ไม่เพียงเท่านี้ ‘ณัฐภัทร’ เสริมว่า การทำบริษัทจำลองนี้เปรียบเสมือนการ ‘ฉีดวัคซีน’ ให้กับตนเอง ในช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา มันเป็นการเตรียมความพร้อมและปูพื้นฐาน ก่อนที่จะเผชิญกับความท้าทายของโลกธุรกิจจริงๆ การได้ทดลองผิดลองถูกในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเหมือนล้มบนปุยนุ่น ทำให้ตนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดโดยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรง

‘ความยั่งยืน’ กุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจในอนาคต

‘ณัฐภัทร’ ปิดท้ายว่า การทำธุรกิจในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการสร้างตัวเลขกำไร หรือวางกลยุทธ์เพื่อให้สินค้าตีตลาดได้อีกต่อไป แต่การทำธุรกิจต้องมีมิติที่ลึกซึ้งกว่าเดิม การคำนึงถึงผลกระทบทาง ‘สังคม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ กลายเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในกระบวนการตัดสินใจธุรกิจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต หรือการจัดจำหน่าย  

การที่ธุรกิจจะ ‘ทำ-ขาย-จบ’ เหมือนในอดีตนั้น จะไม่เพียงพออีกต่อไป ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจ เพราะต่อไปนี้การทำธุรกิจให้ได้กำไรอย่างเดียว จะไม่เพียงพออีกแล้ว แต่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ธุรกิจของเรามีต่อโลกใบนี้ด้วย

ในอนาคต การมีธุรกิจที่ยั่งยืนจะไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ทุกองค์กรต้องพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดในระยะยาว ธุรกิจจึงต้องสร้างระบบที่รองรับการเจริญเติบโตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT