ธุรกิจการตลาด

DEPA ชี้ นำโดรน 500 เครื่องมาใช้กับเกษตรกรไทยสร้างเม็ดเงิน 350 ล้านบาท

4 ก.ค. 67
DEPA ชี้ นำโดรน 500 เครื่องมาใช้กับเกษตรกรไทยสร้างเม็ดเงิน 350 ล้านบาท

‘โดรน’ (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles -UAVs) เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางยานยนต์ที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังเป็นทางเลือกที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสำหรับหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย โดรนถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมเกษตรมากที่สุด ซึ่งคาดว่าอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 350 ล้านบาท

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน โดรนมีบทบาทในหลายอุตสาหกรรมทั้งในไทยและทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง ซึ่งภายในปี 2030 คาดว่ามูลค่าตลาดของโดรนทั่วโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.205 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 44.07 ล้านล้านบาท

ในขณะที่ตลาดโดรนในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าโตต่อเนื่องที่ 19.8% ช่วงปี 2020 ถึง 2025 และตลาดโดรนในอาเซียนที่อาจแตะ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 47,541 ล้านบาท ภายในปี 2023 เนื่องจากสามารถช่วยลดการทำงานของแรงงานมนุษย์ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มีความปลอดภัยขึ้น และสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นทางการค้า เช่น การตรวจสอบสินค้าในคลัง การทำงานด้านการเกษตร รดน้ำ ใส่ปุ๋ย รวมถึงสร้างความบันเทิง หรือ เก็บภาพถ่ายวิดีโอ

‘ภาคการเกษตร’ เข้าถึงดิจิทัลง่ายขึ้นผ่านโดรน

สำหรับประเทศไทย โดรนถูกใช้งานในอุตสาหกรรมเกษตรมากที่สุด เนื่องจากสามารถนำมาช่วยลดเวลางานของเกษตรกรได้มาก จากที่ต้องเดินรดน้ำ พ่นสารเคมีที่ใช้เวลาเกือบครึ่งวัน เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น 

โดยการนำโดรนมาใช้ ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงดิจิทัลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วย UX/UI ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายขึ้น และราคาเฉลี่ยหลักหมื่นต่อครัวเรือน

นายปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุว่า แนวทางการส่งเสริมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโดรนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ‘โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)’ พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้และซ่อมบำรุงโดรน เพื่อการเกษตรให้กับชุมชนและเกษตรกรทั่วไทย 

โดยโครงการนี้  มีทั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น และจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร และคาดว่าภายใน 1 ปี จะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน 4 ล้านไร่ หรือมีศูนย์ซ่อม 1 ศูนย์ต่อ 10 ชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน มีการอนุมัติโดรนเพื่อการเกษตรไปแล้ว 213 ชุมชน

ทั้งนี้ จะมีการอบรมนักบินโดรนทั้งหมด 1,000 คน รวมทั้งอบรมซ่อมโดรน 100 คน และโครงการนี้จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท ตอบสนองเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้แผนงานเครื่องยนต์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมทั้งสร้างแรงงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก

ด้าน นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เผยว่า แนวทางการกำกับดูแลและกฎระเบียบ เพื่อการใช้งานโดรนในอนาคต จะถูกดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในด้านการรับรองการบินโดรนแบบต่างๆ เช่น BVLOS, โดรนขนาดกลาง การจดทะเบียนอากาศยาน, การรับรองศูนย์ฝึกอบรมนักบินโดรนประเภทต่าง ๆ และการออกใบอนุญาตนักบินโดรนในระดับพื้นฐาน และขั้นสูง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีอุปสรรคในการพัฒนาโดรนเป็นของตัวเอง เนื่องจากไม่มีพื้นที่บนอากาศให้ทดสอบการบินโดรนทางไกล เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน รวมถึง ขาดทักษะแรงงานที่สามารถพัฒนานวัตกรรมการบินโดรนระดับสูง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าโดรนจากต่างประเทศ ซึ่ง ‘จีน’ กินส่วนแบ่งมากที่สุดในไทยตอนนี้

ครั้งแรกกับงาน ‘DronTech’ ในไทย

ท้ังนี้ จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น ในฐานะเอกชนที่ถือเป็นแพลตฟอร์มกลางในการประสานงานและเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสิรมอุตสาหกรรม จึงเตรียมจัดงาน ‘DronTech Asia 2024’ งานนิทรรศการและการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับโดรนและเทคโนโลยี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการบินพลเรือน (CAAT) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ

โดย ‘DronTech Asia 2024’ จะเป็นเวทีแสดงศักยภาพและความเป็นผู้นำที่สำคัญของอุตสาหกรรมโดรนที่กำลังเติบโตในอาเซียน งานในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมโดรนและเทคโนโลยีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้พบกับผู้ใช้งานเทคโนโลยีโดรนโดยตรง เพื่อสร้างความร่วมมือและต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี การสาธิตผลิตภัณฑ์จากผู้ออกงาน มีทั้งผู้ผลิตโดรนและเทคโนโลยี ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ตแวร์โดรน ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย นักพัฒนาเทคโนโลยีต่อต้านโดรน ผู้เชี่ยวชาญการจัดการจราจรระบบอากาศยานไร้คนขับ และผู้ใช้โดรนในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนผู้เข้าชมงานมีทั้งผู้ที่มีความสนใจเรื่องโดรน ผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตร การก่อสร้าง พลังงาน ความปลอดภัยสาธารณะ ผู้คนในแวดวงสื่อ ความบันเทิง นักลงทุน ผู้ร่วมทุน นักวิจัยและนักวิชาการ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT