ธุรกิจการตลาด

Tesla เปิดโฉม Cybercab แท็กซี่ไร้คนขับ ราคาไม่ถึงล้าน คาดผลิตปี 2026

11 ต.ค. 67
Tesla เปิดโฉม Cybercab แท็กซี่ไร้คนขับ ราคาไม่ถึงล้าน คาดผลิตปี 2026

ในที่สุด ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอ Tesla เปิดตัว ‘Cybercab’ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ภายในงาน ‘We, Robot’ จัดขึ้นที่ลานฉายภาพยนตร์ของ Warner Bros. ในเมืองเบอร์แบงก์ รัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากที่เลื่อนการเปิดตัวแท็กซี่ไร้คนขับเป็นเวลามานานหลายปี รวมถึงที่เจ้าตัวเคยเผยว่า นี่จะเป็นอีกนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกของยานยนต์ 

Tesla เปิดโฉม Cybercab แท็กซี่ไร้คนขับ ราคาไม่ถึงล้าน

สำหรับแท็กซี่ไร้คนขับของ Tesla เป็นยานยนต์ไร้คนขับที่ไม่มีพวงมาลัยหรือแป้นเหยียบคันเร่ง ซึ่งหมายความว่า จะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลก่อนจึงจะผลิตได้ การออกแบบนั้นล้ำสมัย โดยมีประตูที่เปิดขึ้นด้านบนเหมือนปีกผีเสื้อ และห้องโดยสารขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับผู้โดยสาร 2 คน

โดยต้นทุนการเดินทางของโรโบแท็กซี่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไมล์ (ประมาณ 6.66 บาท) หรือ 0.30-0.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมภาษี (เกือบ 10-13.32 บาท) ส่วนราคาของ Cybercab ทาง Tesla คาดว่าจะขายในราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือต่ำกว่า 999,000 บาท

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ในการวางจำหน่าย มัสก์ตอบว่า Tesla จะเริ่มต้นด้วยการทำให้ระบบไร้การควบคุมอัตโนมัติเต็มรูปแบบ พร้อมใช้งานใน Model 3 และ Model Y ในเท็กซัสและแคลิฟอร์เนีย ส่วน Cybercab คาดว่า จะเริ่มการผลิตdปี 2026

นอกจากนี้ ภายในงาน มัสก์ ยังกล่าวด้วยว่า “สำหรับยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับของ Tesla สามารถใช้งานได้มากขึ้น ด้วยระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ คุณจะได้เวลากลับคืนมา... รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะปลอดภัยขึ้น 10 เท่า"

เปิดตัวรถตู้ไร้คนขับ และขบวนหุ่นยนต์จำนวนมาก

นอกจากนี้ มัสก์ยังเปิดตัว ‘Robovan’ รถตู้ไร้คนขับที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 คน และขนส่งสินค้า โดยคาดว่า นวัตกรรมนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงอีก เนื่องจากสามารถขนส่งกลุ่มใหญ่ เช่น ทีมกีฬา และคาดว่าต้นทุนการเดินทางจะอยู่ที่เพียง 0.05-0.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไมล์ หรือราว 1.66-3.33 บาท

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีขบวนพาเหรดหุ่นยนต์ ‘Optimus’ ที่มีรูปทรงคล้ายมนุษย์ของ Tesla ออกมา โดยมัสก์กล่าวว่า Tesla มีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาในปีที่ผ่านมา และในอนาคต Tesla จะสามารถสอนเด็กเล็กตัดหญ้า และแม้แต่เป็นเพื่อนได้ด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่า Tesla สามารถขายหุ่นยนต์ Optimus ได้ในราคาระหว่าง 20,000-30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ​ หรือประมาณ 666,000-990,000 บาท

ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ กับความปลอดภัย

ถึงแม้ Tesla ระบุว่า ระบบ FSD หรือ ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูงของ Tesla ไม่ต้องใช้แผนที่ความละเอียดสูงเพื่อขับเคลื่อนฟีเจอร์ช่วยเหลือผู้ขับขี่แบบไร้คนขับ แต่มีรายงานระบุว่า Tesla ได้วางแผนเส้นทางสำหรับการสาธิตบนถนนส่วนบุคคลล่วงหน้าก่อนการสาธิตจริง 

ซึ่งมัสก์กำลังพยายามเปลี่ยนทิศทางของ Tesla จากธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ไปสู่ธุรกิจการผลิตหุ่นยนต์และ AI โดยมูลค่าตลาดของ Tesla เทียบเท่ากับมูลค่ารวมของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกรายอื่นเกือบทั้งหมด 

ส่วนราคาหุ้นของบริษัทส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับคำมั่นสัญญาที่มัสก์ให้ไว้หลายปีว่า ตนจะแก้ปัญหาด้านรถยนต์ไร้คนขับ โดยการเปิดตัวยานยนต์ที่ปฏิวัติวงการอย่างแท้จริง ที่ขับเคลื่อนตัวเองไปได้ทุกที่ที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า แท็กซี่ไร้คนขับของ Tesla จะสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้หรือไม่ มัสก์มีชื่อเสียงในด้านความท้าทาย แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายราย มักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางของ Tesla ในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงความพยายามของบริษัทในการพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูงระดับ 2 เช่น ระบบ Autopilot และระบบ Full Self-Driving (FSD)

โดยฟีเจอร์เหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ และต้องให้ผู้ขับขี่คอยระวังตัวตลอดเวลา อาจสร้างความประทับใจได้ แต่ก็อาจทำผิดพลาดร้ายแรงได้เช่นกัน จากเมื่อต้นปีนี้ มีเหตุผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์วัย 28 ปีเสียชีวิตจากการโดยสารบนรถ Tesla ที่กล่าวว่า มีการเปิดใช้ระบบ FSD ทำให้ Tesla ถูกรัฐบาลตรวจสอบระบบขับขี่อัตโนมัตินี้

ทั้งนี้ มัสก์เคยประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง จนสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างไม่ยากเย็น จากการผลิต ‘Model 3’ และความสำเร็จจาก ‘Cybertruck’ ในช่วงแรก

อย่างไรก็ตาม Tesla ยังคงตามหลังบริษัทอย่าง ‘Waymo’ และ ‘Cruise’ ที่ทั้งสองได้ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนไปแล้วหลายล้านไมล์ แน่นอนว่า แท็กซี่ไร้คนขับมีการเปิดตัวที่ไม่ราบรื่น โดยมีเหตุการณ์รถติดขัด การจราจรติดขัด และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของรัฐบาลกลางกำลังสอบสวนผู้เล่นหลักหลายราย เพื่อพิจารณาว่า เทคโนโลยีที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์เหล่านี้ปลอดภัย หรือควรเรียกคืน

ที่มา The Verge 1, The Verge 2, Tech Crunch 1, Tech Crunch 2, X, CNN, Engadget

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT