ต้นเดือนธันวาคม 2024 ทั่วโลกตกตะลึงกับการที่ประธานาธิบดียุน ซอกยอลของเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก แต่ภาพที่ทั่วโลกเห็นในเวลาต่อมา คือการพร้อมใจของทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ และประชาชนที่ออกมาประกาศไม่เอาอัยการศึกอย่างชัดเจน
กว่าที่เกาหลีใต้จะมาถึงวันนี้ วันที่ประชาธิปไตยเต็มใบ พวกเขาผ่านการเรียกร้อง ผ่านความสูญเสียอย่างหนัก วันนี้เราจะพาทุกคนไปย้อนวันวานในเกาหลีใต้ที่เคยถูกปกครองด้วยผู้นำเผด็จการ ประชาธิปไตยที่นั่นพัฒนาอย่างไร จนกระทั่งดำเนินมาถึงวันนี้
เกาหลีใต้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการมาก่อน
เกาหลีใต้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เผชิญกับการปกครองในลักษณะเผด็จการทหารที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางการเมืองและสังคมอย่างลึกซึ้ง เริ่มตั้งแต่นายพลพัค จองฮีทำรัฐประหารในปี 1961 และปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ นโยบายของพัคเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการผลักดันอุตสาหกรรมและการส่งออก แต่ขณะเดียวกันก็จำกัดเสรีภาพของประชาชนด้วยการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง
พัคปกครองเกาหลีใต้อยู่นานถึง 18 ปี และในปี 1972 เขาได้แก้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานาธิบดีสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดกาล แต่ก็ถูกประท้วงจากประชาชน กระทั่งพัคเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารในปี 1979
แต่เกาหลีใต้ยังต้องเจอกับการรัฐประหารอีกครั้ง โดยนายพลจอน ดูฮวานในปี 1980 ส่งผลให้เกาหลีใต้ยังคงอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ความไม่พอใจต่อการปกครองนี้ปะทุขึ้นในเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู (Gwangju Massacre) เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ซึ่งทหารใช้อาวุธปราบปรามการประท้วงของประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้
การเติบโตของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
เกาหลีใต้ผ่านการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด แม้ผ่านยุคจอน ดูฮวานมาแล้ว พวกเขาก็ยังต้องเจอกับโรห์ แตอู ซึ่งล้วนเป็นยุคทหารครองอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่การประท้วงก็ถือเป็นรากฐานความเข้มแข็งของประชาธิปไตยเกาหลีใต้ที่ค่อยๆวางมาเรื่อยๆ
เมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยเริ่มบ่มเพาะอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 1986 ที่เกิดการประท้วงใหญ่เรียกร้องให้ปฏิรูปประชาธิปไตยจากประชาชน จนในที่สุด ประธานาธิบดีได้ประกาศยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การปรองดองด้วยการปฏิรูปการเมืองที่เรียกว่าคำประกาศ 29 มิถุนายน 1987
และหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในปี 1993 เกาหลีใต้ถึงมีประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือนคนแรก คือ คิม ยองซัม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการ เติบโตของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
บทเรียนจากอดีตและการพัฒนาระบบตรวจสอบอำนาจ
เกาหลีใต้ปรับโครงสร้างสถาบันการเมืองเน้น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม และการเชื่อมโยงกับท้องถิ่น โดยองค์กรอิสระได้รับการออกแบบให้มีความเป็นอิสระจริง สามารถตรวจสอบการทุจริตได้หมด รวมถึง ประธานาธิบดีด้วย พร้อมเพิ่มอำนาจประชาชน
องค์กรอิสระมีความเป็นอิสระที่แท้จริง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (Anti-Corruption & Civil Rights Commission) เพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับการใช้อำนาจโดยมิชอบ และยังสามารถสอบสวนได้ถึงประธานาธิบดีด้วย
ความทรงจำทางประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการยังคงเป็นบาดแผลสำคัญในจิตใจของคนเกาหลีใต้ เมื่อประชาธิปไตยแลกมาด้วยน้ำตา เลือด และแม้แต่ชีวิตของประชาชน มันทรงคุณค่า และยิ่งใหญ่ เมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็งมากพอ วันหนึ่ง มันจะแสดงออกมาให้เห็นด้วยที่คนทั้งชาติพร้อมใจปฏิเสธไม่เอาเผด็จการ
พลังอันยิ่งใหญ่นี้จะสืบทอด ส่งต่อไป จากรุ่น สู่รุ่น คนรุ่นใหม่จะภาคภูมิใจกับประชาธิปไตยที่เบ่งบาน และฝั่งรากลึกลง แพร่กิ่งก้านใบอย่างแข็งแรง