กระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้เปิดเผยวันนี้ (24 ธันวาคม) ว่า เกาหลีใต้ได้กลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจำนวนผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 10.24 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดที่มีจำนวน 51.22 ล้านคน
ตามการจัดประเภทของสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7% จะถือเป็น "สังคมสูงวัย" หากเกิน 14% จะถือเป็น "สังคมสูงวัยเต็มขั้น" และหากเกิน 20% จะถือเป็น "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด"
จำนวนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2008 เกาหลีใต้มีจำนวนประชากรกลุ่มดังกล่าวที่ 4.94 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรในขณะนั้น ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ในปี 2019 และแตะระดับ 19.05% ในเดือนมกราคมปี 2024
ส่วนนับจนถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวน 5.69 ล้านคน ขณะที่ผู้ชายมีจำนวน 4.54 ล้านคน และพบว่า จังหวัดชอลลานัมโดมีสัดส่วนประชากรกลุ่มนี้สูงสุดในประเทศ อยู่ที่ 27.18% ในขณะที่เมืองเซจงมีสัดส่วนประชากรสูงอายุต่ำที่สุดที่ 11.57% และในกรุงโซล สัดส่วนอยู่ที่ 19.41%
เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้ระบุว่า ตอนนี้มีการจัดตั้งกระทรวงที่พุ่งเป้าการทำงานไปยังเรื่องประชากรแล้ว และต้องมีมาตรการต่างๆที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยุน ซอกยอล ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในเวลานั้น เปิดเผยแผนการจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อแก้ปัญหา "ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ" ซึ่งเกิดจากอัตราการเกิดที่ต่ำอย่างรุนแรง
โดยอัตราการเกิดต่ำในเกาหลีใต้ เกิดจากปัญหาค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยและการศึกษาที่แพงมาก รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของประชาชน ยุนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มเงินสนับสนุนสำหรับการลาคลอด ขยายระยะเวลาการลาสำหรับผู้เป็นพ่อ จัดตั้งรูปแบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่น และลดภาระด้านการศึกษาของผู้ปกครอง
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้น หลังเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยตัวเลขพบว่า เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก โดยในปี 2022 สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีรายงานว่า อัตราการเกิดอยู่ที่ 0.78 หรือเด็ก 78 คนต่อผู้หญิง 100 คน และตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 0.72 ในปี 2023 ขณะที่การคาดการณ์ก่อนหน้านี้ชี้ว่า อัตราการเกิดในปี 2024 อาจลดลงเหลือ 0.68
อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดที่จำเป็นต่อการรักษาจำนวนประชากรให้อยู่ในระดับคงที่อยู่ที่ 2.1 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเกิดที่คาดการณ์ไว้ของเกาหลีใต้ในปีนี้ถึงสามเท่า
มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดแรงงาน ประกอบกับช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่กว้างที่สุดในบรรดา 38 ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
ผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากตัดสินใจไม่มีลูก เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างในที่ทำงาน สัปดาห์การทำงานที่ยาวนานเป็นพิเศษ ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยที่สูง โดยเฉพาะในกรุงโซล ขณะที่อัตราการแต่งงานก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
การทำงานที่ใช้เวลานานในหลายอาชีพในเกาหลีใต้ทำให้การแบ่งเวลาเพื่อเลี้ยงดูลูกและทำงานไปพร้อมกันเป็นเรื่องยาก ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเริ่มต้นครอบครัวของคนรุ่นใหม่
มีการคาดการณ์ว่า ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดราวปี 2030 เพราะจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนในประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น