สควิดเกม หรือเล่นลุ้นตาย กลับมาเป็นซีซันที่ 2 แล้ว พร้อมเรื่องราวชวนตื่นเต้นที่ลุ้นให้ผู้ชมลืมหายใจไปกับเรื่องราวของเหล่าผู้คน ที่เข้าไปร่วมเล่นเกมแข่งขันชิงเงินรางวัลมูลค่าหลายล้าน แต่ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียว และผู้แพ้ต้องสังเวยด้วยชีวิต
เนื้อหาตั้งแต่ซีซันแรก มาจนถึงซีซัน 2 ล้วนตีแผ่ชีวิตของมนุษย์ ท่ามกลางเศรษฐกิจและเรื่องราวอันเลวร้าย จนท้ายที่สุด พวกเขาตัดสินใจเล่นเกม แม้รู้ว่าต้องเสี่ยงด้วยชีวิต เพราะต้องการ “เงิน” Spotlight World จะพามาดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ว่าในเวลานี้เป็นเช่นไรกันแน่ หลังสถานการณ์ทางการเมืองกำลังผันผวนหนัก เพราะประธานาธิบดียุน ซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกอย่างกะทันหันโดยไม่มีเหตุผลเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จนทำให้รัฐสภาลงมติถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง และศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะถอดถอนยุนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีถาวร หรือจะให้กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่
ธนาคารแห่งชาติเกาหลีใต้ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจวันนี้ (27 ธันวาคม 2024) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Composite Business Sentiment Index: CBI) ของเกาหลีใต้ในเดือนธันวาคม ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี เหลือ 87 จุด ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น หลังจากประธานาธิบดียุน ซอกยอลประกาศกฎอัยการศึกอีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ผลสำรวจพบว่า CBSI ในทุกอุตสาหกรรมลดลง 4.5 จุดจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 87 นับเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ที่ดัชนีอยู่ที่ 83 จุด แต่ช่วงนั้นเกิดการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการควบคุมต่างๆ
ขณะเดียวกัน แนวโน้มสำหรับเดือนถัดไป คาดการณ์ว่า CBSI น่าจะลดลงอีก 7.3 จุด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ที่ 82.4 ซึ่งจะเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020
สำหรับดัชนีดังกล่าว ใช้วัดมุมมองของภาคธุรกิจเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 100 บ่งชี้ว่า จำนวนผู้ที่มีมุมมองเชิงลบมีมากกว่าผู้ที่มองในแง่บวก
ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม โดยค่าเงินวอนอยู่ที่ 1,467.5 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.7 วอนจากการซื้อขายในวันก่อนหน้า นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 16 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2009 ซึ่งตอนนั้นค่าเงินวอนอยู่ที่ 1,483.5 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงวิกฤตการเงินโลก
ค่าเงินวอนเปิดการซื้อขายในวันศุกร์ที่ระดับ 1,467.5 วอนต่อดอลลาร์ และลดลงถึงระดับต่ำสุดที่ 1,486.7 วอนระหว่างการซื้อขายในวันเดียวกัน
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ก็ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเช่นกันจากการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติและสถาบันอย่างหนัก โดยดัชนีหุ้นหลัก KOSPI (Korea Composite Stock Price Index) ลดลง 1.02% ปิดที่ 2,404.77 จุด
สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงลง เพราะวิกฤตการเมืองในเกาหลีใต้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อนหน้านี้ รัฐสภาได้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุนจากกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับประชาชน และรัฐสภาก็เพิ่งลงมติถอดถอนรักษาการประธานาธิบดีตามไปติดๆ
ด้าน ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเกาหลีใต้ กล่าวว่า ค่าเงินวอนคาดว่าจะเคลื่อนไหวในระดับนี้ไปก่อนในช่วงนี้ และคาดว่า ค่าเงินวอนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนหน้า ยังเตือนถึงความเป็นไปได้ที่ค่าเงินวอนอาจอ่อนค่าลงมากกว่าระดับ 1,500 วอน หากความเสี่ยงทางการเมืองยืดเยื้ออีก
จริงๆแล้วก่อนเจอวิกฤตทางการเมือง เกาหลีใต้ก็มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยอดการกู้ยืมหนี้ครัวเรือนในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นที่สุดในรอบกว่า 3 ปี โดยมีการกู้ยืมเพื่อจำนองอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นสถิติใหม่
ยอดการกู้ยืมของครัวเรือนจากธนาคาร ณ สิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1,130.0 ล้านล้านวอน (ประมาณ 840.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 9.3 ล้านล้านวอนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2021
เมื่อปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น จึงมีการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในกรุงโซลและพื้นที่มหานครโดยรอบ แต่กลับกลายเป็นว่า ประชาชนก็จำเป็นต้องกูยืม แต่พวกเขาหันไปใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินในภูมิภาค แพลตฟอร์มออนไลน์ และสถาบันการเงินรองแทน
โดยข้อมูลพบว่า ยอดคงค้างของสินเชื่อครัวเรือนจากธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งของเกาหลีใต้ อยู่ที่ 732.08 ล้านล้านวอน (ประมาณ 523.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ สิ้นเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านล้านวอน หรือ 0.2% จาก 730.97 ล้านล้านวอนในเดือนก่อนหน้า
สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยข้อมูลพบว่า จำนวนผู้ที่เริ่มขอความช่วยเหลือผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้ในเกาหลีใต้อาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างยาวนาน
โครงการช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานบริการให้คำปรึกษาและฟื้นฟูเครดิต (CCRS) ร่วมกับบริษัทการเงิน มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ใกล้ล้มละลายด้วยการปรับโครงสร้างภาระหนี้และยกเลิกหนี้ในบางกรณี
ข้อมูลจาก CCRS ระบุว่า มีผู้ยื่นขอเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 179,310 รายเมื่อนับจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน และตัวเลขประจำปีคาดว่าจะมากกว่าสถิติสูงสุดของปีที่แล้วที่ 184,867 ราย
นอกจากนี้ จำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอเข้าร่วมโครงการมีจำนวนถึง 26,267 ราย นับจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งสูงกว่าสถิติของปีที่แล้วที่มีอยู่ 25,024 ราย
สาเหตุหลักมาจากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยสูง และความต้องการภายในประเทศที่เติบโตช้ากว่าคาดการณ์
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า จำนวนคดีล้มละลายของบริษัทที่ยื่นต่อศาลในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนมีจำนวน 1,745 คดี ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมที่ 1,657 คดีในปี 2023